วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2561

1.ใช้เลขประจำตัวคนต่างด้าว ของเขาเลยได้ไหม, 2.ข้องใจ เงินสงเคราะห์รายศพ ชพค.-ชพส., 3.จะทำอย่างไร ในการสั่งข้อสอบตั้งแต่ยังไม่รู้จำนวนผู้มีสิทธิสอบ, 4.กศน.จังหวัด ล้าสมัย ขอหนังสือที่ระบุให้สอน กศ.ต่อเนื่องวันละ 6 ชม., 5.ข้อสอบปลายภาค ออกเรื่องไหนกี่ข้อ บอกไว้แล้ว, 6.ยังเรียนวิชาที่รหัสขึ้นต้นด้วย 0 ได้ไหม, 7.พา นศ.ไปนอกสถานศึกษา ต้องมีครูควบคุมสัดส่วนเท่าไร


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 28 พ.ค.61 มีผู้ถามในกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า  ใช้เลขประจำตัวคนต่างด้าวในแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่าวด้าวฯ ( ตามภาพประกอบโพสต์นี้ ) เลยได้ไหม ( เอกสารนี้หมดอายุแล้ว )  เลขนี้เป็น “เลขประจำตัว 13 หลัก ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร” หรือเปล่า
             ( มีหลักเกณฑ์กำหนดให้กระทรวงศึกษาฯ จัดการศึกษาให้กับผู้ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย โดยถ้าเขายังไม่มี “เลขประจำตัว 13 หลัก ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร” ก็ให้กระทรวงศึกษาธิการออกเลขประจำตัวด้วยระบบกลางการออกเลขประจำตัวของกระทรวงฯ ไปจนกว่าเขาจะไปขึ้นทะเบียนได้ “เลขประจำตัว 13 หลัก ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร” )

             เรื่องนี้ ท่าน ผอ.ปัณณพงศ์ กรุณาหาคำตอบให้ ได้คำตอบจากท่านนายอำเภอเชียงกลาง ว่า “ใช้เลขนี้เลย”







         2. ดึกวันที่ 26 พ.ค.61 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ของผมในเฟซบุ๊กกลุ่มครูนอกระบบ เรื่องเงินสงเคราะห์รายศพ ชพค.-ชพส. ว่า
             ทำไมค่าสงเคราะห์ศพเดือนมิถุนายนลดลงจากเดือนพฤษภาคมละคะ เข้าใจว่าจ่ายทุกเดือน ยิ่งสมทบนานก็สมควรได้มากขึ้น

             ผมตอบว่า   เงินสงเคราะห์คือเงินที่เก็บจากสมาชิกคนละ 1 บาท/ศพ หักค่าบริหารจัดการ เช่น ค่าเงินเดือนเจ้าหน้าที่ในสำนักงานทั่วประเทศ/ค่าวัสดุอุปกรณ์ 0.04 บาท  จ่ายให้ทายาทผู้ถึงแก่กรรม 0.96 บาท  ถ้ามีสมาชิก 1,000,000 คน ทายาทก็จะได้ 960,000 บาท
             แต่ละเดือนสมาชิกลดลง เพราะปัจจุบันแต่ละเดือนจำนวนสมาชิกออกเช่นถึงแก่กรรมมากกว่าจำนวนสมาชิกที่สมัครเข้าใหม่  เมื่อจำนวนสมาชิกลด เงินสงเคราะห์ก็ลด ผมโพสต์อธิบายอย่างนี้ 2 ครั้งแล้ว
             เดือนไหนมีผู้ถึงแก่กรรม 500 คน เราก็จ่าย 500 บาท เงินนี้นำไปจ่ายให้ทายาทผู้ถึงแก่กรรม 500 ครอบครัว ไม่ใช่นำไปฝากธนาคารไว้ให้เรา
             ถ้านำไปฝากธนาคารไว้ให้เราเดือนละ 500 ปีละ 6,000  ถ้าสมัครตอนอายุ 30 สมมุติว่าเป็นสมาชิกที่อายุยืนตายช้า ตายตอนอายุ 100 ปี รวมจ่าย 70 ปี จะเป็นเงินฝากแค่ 420,000 นะ ( 70 X 6,000 = 420,000 ) ถ้าดอกเบี้ย 180,000 ก็ยังรวมได้แค่ 600,000 บาท

         3. วันที่ 1 มิ.ย.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกเฟซบุ๊ก ว่า  มีเรื่องอยากปรึกษาดังนี้ คือตอนนี้ทางสำนักงาน กศน. ส่วนกลาง ให้แจ้งยอดข้อสอบปลายภาค ซึ่งตามระเบียบแล้ว สถานศึกษายังตัดยอด นศ.หมดสิทธิ์สอบ ไม่ได้ เพราะเพิ่งจะเปิดภาคเรียนมาได้เพียง 4 สัปดาห์ จึงเป็นปัญหาว่า ควรจะดำเนินการอย่างไรดี

             ผมตอบว่า
             ท่าน ผอ.กลุ่มพัฒนาระบบการทดสอบแจ้งว่า “สาเหตุที่ต้องรีบสำรวจยอดสั่งข้อสอบ เนื่องจาก มีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดจ้างพิมพ์แบบทดสอบปลายภาคเรียน เป็นวิธึการ e-bidding ซี่งต้องใช้เวลาตามกระบวนการยาวนาน ต้องรีบเริ่มดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง
             ทั้งนี้ส่วนกลางได้ชี้แจงผู้บริหารสถานศึกษาทั่วประเทศในการประชุมที่อิมแพคเมืองทองธานี เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาแล้ว ขอให้มีการคัดกรองผู้เรียนที่จะเข้าสอบ และมีระบบการติดต่อสื่อสารติดตามผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ”

             เกี่ยวกับเรื่องนี้ สำนักงาน กศน. แจ้งเป็นหนังสือราชการในวันที่ 31 พ.ค.61 ให้พัฒนาคะแนนสอบปลายภาค และเพิ่มจำนวนร้อยละของผู้เข้าสอบปลายภาค
             กศน.ต้องการร้อยละของผู้เข้าสอบปลายภาคสูงขึ้น ( กศน.คำนวณร้อยละโดยใช้จำนวนข้อสอบที่สั่ง เป็นจำนวนเต็ม )
             ผมจึงขอให้แต่ละแห่งพิจารณาเองในการสั่งจำนวนข้อสอบ ถ้าผมจะแนะนำอะไรก็อาจเป็นคำแนะนำที่ไม่เห็นแก่ส่วนรวมประเทศชาติบ้านเมือง
             แต่ตามหลักการ เมื่อยังต้นเทอม ยังไม่รู้จำนวนผู้มีสิทธิ์สอบ ( คงประหลาดถ้ารู้จำนวนผู้ไม่มีสิทธิสอบตั้งแต่ต้นเทอม ) ฉะนั้นถ้าไม่คิดว่าจะมี นศ.ผี โดยผู้ที่ลงทะเบียนเรียนด้วยตนเองแต่วันสอบมีเหตุสุดวิสัยมาสอบไม่ได้จริง ๆ ไม่น่าจะเกิน 15 % ก็สั่งข้อสอบน้อยกว่าจำนวนผู้ลงทะเบียนเรียนประมาณ 15 %  แต่ถ้ารู้ว่ามี นศ.ผี ก็สั่งน้อยกว่านี้

         4. วันที่ 4 มิ.ย.61 มีผู้ถามผมทางไลน์ ( แต่ผมไม่ตอบ ) ว่า  สำนักงาน กศน.ส่วนกลาง กำหนดแนวทางการดำเนินงานจัดกิจกรรมตามโครงการ Smart ONIE เพื่อสร้าง Smart Farmer ไว้อย่างชัดเจนในวิธีการดำเนินงานข้อ 2 ว่า ให้ดำเนินการจัดอบรมจำนวน 18 ชั่วโมง (3 วัน) 
             ค่าวิทยากรเบิกได้วันละ6ชั่วโมงใช่ไหม ทางการเงินจังหวัดเขาบอกว่าเบิกได้แค่5ชั่วโมง เขาเลยขอหนังสือที่ระบุว่า6ชั่วโมง

             ผมไม่ตอบ เพราะ ผู้ถามให้ข้อมูลมาทีละประโยค ทีละประโยค ผมไม่ว่างที่จะแช็ตซักถามโต้ตอบทีละประโยค ๆ จึงบอกให้เสิร์ชหาดูคำตอบเก่าเอง
             แต่คืนวันเดียวกัน ( 4 มิ.ย.) ก็เจอเรื่องนี้ในกลุ่มไลน์ แชร์เข้มกศน. ซึ่งติวสอบครูผู้ช่วย กศน.กัน มีข้อสอบและเฉลยเรื่องนี้ด้วย แต่เฉลยผิด
             ผมจึงโพสต์ในกลุ่มไลน์แชร์เข้ม กศน. ว่า  ผมอ่านผ่าน ๆ ไม่ได้อ่านของทุกคน พบว่า เป็นระเบียบหลักเกณฑ์เก่า เป็นข้อสอบที่เฉลยผิด อย่างน้อย 2 เรื่อง คือ
             1)  ที่ว่า วิชาชีพวันหนึ่งเรียนห้าชั่วโมง หรือ สามชั่วโมงแต่ในกรณีพิเศษทำเรื่องสอนห้าชั่วโมง นั้น
                  ระเบียบหลักเกณฑ์ปัจจุบันของส่วนกลางไม่มีระบุห้ามเกิน 5 ชั่วโมงแล้ว ( จึงอยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหารอำเภอ/จังหวัด )
             2)  ที่ว่า ก.ค.ศ.ให้เปลี่ยนการเลื่อนขั้นเงินเดือน เป็นเลื่อนเงินเดือนเป็นร้อยละตั้งแต่ 1 ต.ค.60 นั้น
                  ก.ค.ศ.ให้ขยายเวลาการเปลี่ยนเป็นเลื่อนเงินเดือนเป็นร้อยละ ปีละครั้ง มาหลายปีแล้ว ปัจจุบันก็ยังเลื่อนเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเช่น ศน. ตามขั้นเงินเดือนอยู่  วันที่ 1 เม.ย.61 นี้ ก็ยังจะเลื่อนเป็นขั้น  ( ยกเว้นบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.2 ที่เลื่อนเป็นร้อยละ ) 
             เรื่องนี้ผมเคยบอกในกลุ่มนี้แล้ว ต่อไปคงไม่บอกซ้ำ ๆ อีกแล้วว่าข้อไหนเก่าจนผิดแล้ว

             เรื่อง เรียน กศ.ต่อเนื่องวันละกี่ชั่วโมงนี้ ผมเคยตอบ 2-3 ครั้ง เช่น
             ธ.ค.2555 ตอบในข้อ 4.1 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/511761
             ม.ค.2561 ตอบในข้อ 4 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2018/02/thaination.html  ว่า
             “อย่าไปดูระเบียบหลักเกณฑ์ฉบับที่ถูกยกเลิกแล้ว  ให้ดูจากระเบียบหลักเกณฑ์ในคู่มือปัจจุบัน ถ้าระเบียบหลักเกณฑ์ในคู่มือปัจจุบันไม่ได้กำหนดจำนวนชั่วโมงในแต่ละวันไว้ ก็แปลว่าไม่กำหนดจำกัดแล้ว ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหารอำเภอ/จังหวัด
             ส่วนระเบียบหลักเกณฑ์ที่ว่า “ให้สอนวันละ 3 ชั่วโมง ถ้าเกินต้องขออนุมัติ แต่ต้องไม่เกินวันละ 5 ชั่วโมง และไม่เกินสัปดาห์ละ 30 ชั่วโมง” นั้น เป็นระเบียบสมัยเก่า ถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2549 แน่ะ ถูกยกเลิกโดย ระเบียบสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดการศึกษานอกโรงเรียนหลักสูตรระยะสั้น พ.ศ. 2549 ประกาศ ณ วันที่ 27 มี.ค.49 ซึ่งระเบียบปี 49 ไม่กำหนดจำกัดจำนวนชั่วโมงต่อวันของวิชาชีพระยะสั้นแล้ว
             ( และปัจจุบัน ระเบียบ สป.ศธ.ว่าด้วยการจัด กศน.หลักสูตรระยะสั้น 2549 นี้ ก็ถูกยกเลิกไปอีกแล้ว ยกเลิกโดย ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดการศึกษาต่อเนื่อง พ.ศ.2554 )
             ระเบียบหลักเกณฑ์การศึกษาต่อเนื่องปัจจุบัน ส่วนกลางกำหนดจำนวนชั่วโมงเฉพาะแบบกลุ่มสนใจ วันละไม่เกิน 3 ชั่วโมง ส่วนแบบชั้นเรียนและแบบอบรมประชาชน ส่วนกลางไม่ได้กำหนดจำนวนชั่วโมงต่อวันแล้ว จึงอยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหารระดับจังหวัด/อำเภอสามารถกำหนดอย่างไรหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้บริหารเห็นว่าเนื้อหาวิชาและวัยผู้เรียนนั้น เรียน 6 ชั่วโมงไม่มาก ก็ 6 ชั่วโมงได้ ไม่มีระเบียบห้ามแล้ว  ถ้าผู้บริหารเห็นว่า เนื้อหาวิชานั้นหนักมาก ผู้เรียนเป็นผู้สูงอายุ ไม่ควรเรียนเกินวันละ 3 ชั่วโมง ก็กำหนดให้เรียนวันละ 3 ชั่วโมงก็ได้

         5. เย็นวันที่ 4 มิ.ย.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เว็บนี้หายไปไหน http://203.172.142.230/nfe_reserve/backend/control.php รายละเอียดคำอธิบายรายวิชา ทุกวิชา มีอยู่ในหลักสูตร อยากให้นักศึกษา เพราะเอาไว้วิเคราะหลักสูตร สำหรับครูและนักเรียนเวลาทำแผน กศน.ตำบล
             จะตามได้ที่ใคร

             ผมตอบว่า   ดูในข้อ 24 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2013/10/blog-post_8783.html

             ( ที่จริงการวิเคราะห์หลักสูตร ดูในผังการออกข้อสอบจะดีกว่า โดยในผังการออกข้อสอบจะนำรายละเอียดคำอธิบายรายวิชานี้มาวิเคราะห์หลักสูตรและระบุต่ออีกว่า ในแต่ละเรื่องจะออกข้อสอบปลายภาคเรื่องใดกี่ข้อ
             ซึ่งทั้งครูผู้สอนและผู้ออกข้อสอบต้องยึดผังเดียวกันนี้ในการสอนและการออกข้อสอบ จึงจะออกมาตรงกัน ซึ่งผังการออกข้อสอบวิชาบังคับทุกวิชาและวิชาเลือกบังคับ ส่วนกลางได้ส่งให้ทุกจังหวัด/อำเภอนานแล้ว
             ดาวน์โหลดผังการออกข้อสอบวิชาบังคับและวิชาเลือกบังคับ ได้ที่
             1)  http://203.159.251.131/nfetesting/index.php/2015-05-07-21-33-30/ข่าวประชาสัมพันธ์/93-ผังรายวิชาการเรียนรู้สู้ภัยธรรมชาติ-และ-ผังวัสดุศาตร์.html.html
             2)  http://203.159.251.131/nfetesting/index.php/2015-05-07-21-33-30/ข่าวประชาสัมพันธ์/48-ผังรายวิชาการใช้พลังงานไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน-และ-รายวิชาการเงิน.html.html
             3)  http://203.159.251.131/nfetesting/index.php/2015-05-07-21-33-30/ข่าวประชาสัมพันธ์/86-รายวิชาที่ปรับผังใหม่จาก-30-เป็น-40-ข้อ.html.html
             4)  http://203.159.251.131/nfetesting/index.php/2015-05-07-21-33-30/2015-05-07-21-36-55/24-5.html.html )

         6. วันที่ 5 มิ.ย.61 มีผู้ถามในกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า  ขอสอบถาม เช็คข้อมูลรายิชาที่ลงทะเบียนภาพรวมของอำเภอ พบว่ามีลงทะเบียนรายวิชาเลือกที่มีรหัส 0  จำนวน 2 วิชา เช่น  ทช02013 ,พว02027  เราสามารถให้ลงเรียนได้เลย หรือยกเลิก รายวิชาดังกล่าว

             ผมร่วมตอบว่า   ผมถามท่าน ผอ.กลุ่มพัฒนา กศน. ว่า  ส่วนกลางเคยมีนโยบายไม่ให้เรียนวิชาที่รหัสขึ้นต้นด้วย 0 ( วิชาที่เรียนได้ทั้ง 3 ระดับ ) แล้ว แต่ในเว็บระบบการออกรหัสวิชาเลือกฯของส่วนกลาง ยังมีรายวิชารหัส 0 อยู่ในระบบหลักสูตร กศน. ถ้าสถานศึกษาจะนำวิชาเลือกรหัส 0 มาเปิดให้ลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนนี้อีก จะได้ไหม
             ผอ.กลุ่มพัฒนา กศน. ตอบว่า  ถ้าพัฒนาหลักสูตรขึ้นมาใหม่ ไม่ให้ใช้รหัส 0 แต่ที่มีอยู่แล้วในโปรแกรม ยังใช้ได้ค่ะ

             ( วิชา ทช02013 ยังมีอยู่ในระบบหลักสูตร กศน.  แต่วิชา พว02027 การใช้พลังงานไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน นั้น ไม่ต้องเรียนแล้วเพราะปัจจุบันมีวิชาเลือกบังคับ การใช้พลังงานไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน 1-3  พว12010, 22002, 32023 แล้ว )

         7. วันเดียวกัน ( 5 มิ.ย.) กลุ่มไลน์เดียวกัน ( ITw NFE ) มีผู้ถามว่า  ขออนุญาตเรียนถาม...กรณีจัดโครงการพัฒนาผู้เรียน...ค่ายอาสายุวดาชาด ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน...นำนักศึกษาเข้าร่วม 120 คน (ไปต่างจังหวัด)...ต้องมีครูผู้ควบคุมไปได้กี่คนค่ะ...(มีระเบียบหรือป่าวค่ะ)...ขอบคุณค่ะ

             ผมตอบว่า   ใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา พ.ศ.2548 ข้อ 6 (2)  “ครูหนึ่งคนต่อนักเรียนหรือนักศึกษาไม่เกิน 30 คน ถ้านักเรียนและนักศึกษาเป็นหญิงไปด้วย ให้มีครูหญิงควบคุมไปด้วยตามเหมาะสม”
             ดูระเบียบนี้ได้ที่  https://www.dropbox.com/s/1lc576n2v9qeeg4/studentGoStady.pdf?dl=1  


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย