วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประเมินฯภายนอก ปี 57 ระยะแรก ช่วง 2, จะทำแผนบูรณาการหรือแผนรายวิชา-บันทึกหลังสอนวันละกี่ครั้ง, จัดศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ต้องเป็นกลุ่ม OTOP หรือ MBA หรือไม่, คำว่า แผนปฏิบัติราชการ กับแผนปฏิบัติงาน, ขอโอนมา กศน., 4 ปี จึงย้ายได้, งบพัฒนาผู้เรียนจ่ายค่าอะไรได้



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 12 ก.พ.57 ผมเผยแพร่กำหนดการประเมินฯภายนอก ปี 57 ระยะแรก ว่า  ช่วงที่ 2 ใน 20 จังหวัด 177 อำเภอ/เขต  เข้าประเมินระหว่างวันที่ 5 ก.พ.- 7 มี.ค.57  
             ( ประกาศรายชื่อคณะกรรมการประเมินฯแต่ละแห่ง http://www.onesqa.or.th/onesqa/th/home/download.php?LinkPath=../../upload/NewsPublish/download/2641-8158-0.pdf&DownloadFile=2641-8158-0.pdf&DownloadID=3902&path=../../upload/NewsPublish/download/2641-8158-0.pdf )

             20 จังหวัด ประกอบด้วย
             กรุงเทพมหานคร, ชัยภูมิ, นครราชสีมา ( 20 อำเภอ), นครสวรรค์, ปราจีนบุรี, เพชรบูรณ์, พัทลุง, พิจิตร, พิษณุโลก, แม่ฮ่องสอน, ยะลา, ร้อยเอ็ด, เลย, ลำปาง, สระแก้ว, สุโขทัย, สุรินทร์, อุดรธานี,
อุบลราชธานี และ อุทัยธานี

         2.
ดึกวันเดียวกัน ( 12 ก.พ.) ครูเรวัตร สังกัดเขตราชเทวี ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  แผนการสอน 9 ชม ในภาคเรียนนี้ ต้องทำเป็นแผนรายวิชาใช่ไหม (ที่ผ่านมาทำเป็นแผนบูรณาการ)  และถ้าเป็นรายวิชา การเขียนบันทึกหลังการสอนต้องทำทุกรายวิชาหรือเปล่า  ทุกวิชาต้องสอนครบ 18 ครั้งหรือเปล่า หรือเอาแต่ละวิชามาสอนต่อๆ กันใน 7 วิชา ให้ครบ 9 ชม ใน 18 ครั้ง

             ผมตอบว่า
             1)  จะทำเป็นแผนรายวิชา หรือแผนบูรณาการ ก็ได้เหมือนเดิม
             2)  การเขียนบันทึกหลังการสอน ต้องบันทึกหลังสอนทุกครั้ง ตามแผนการสอนแต่ละแผน
                  แผนการสอน 1 แผน ต้องใช้เวลาสอนไม่เกิน 1 วัน  เช่น ในวันที่ 1 นาย ก. สอน 1 ชั่วโมง  ต่อด้วยนาง ข. สอนอีก 2 ชั่วโมง   นาย ก. ก็ทำแผนการสอน 1 ครั้ง เมื่อสอนจบก็บันทึกหลังการสอน   ส่วนนาง ข. อาจทำแผนการสอน 1 หรือ 2 ครั้งก็ได้  ถ้าทำแผนการสอนแบบบูรณาการ อาจทำแผนครั้งเดียว 2 ชั่วโมง เมื่อสอนจบตามแผน 2 ชั่วโมงแล้วจึงบันทึกหลังการสอน 1 ครั้ง   ถ้าทำแผนการสอนรายวิชา เป็นวิชาเดียว 2 ชั่วโมง ก็ทำแผนการสอน 1 ครั้ง สอนจบ 2 ชั่วโมง จึงบันทึกหลังการสอน 1 ครั้ง   แต่ถ้า 2 ชัวโมงนั้น แยกสอน 2 รายวิชาต่อกัน อาจแยกทำแผนการสอน 2 แผน หรือรวมแผนการสอนเป็น 1 แผนก็ได้  แต่กรณีนี้ควรแยกแผนการสอนออกเป็น 2 แผนให้ชัดเจน  ถ้ามี 2 แผน ก็บันทึกหลังการสอน 2 ครั้ง   ( สรุปคือ เมื่อสอนตามแผนการสอน 1 แผนเสร็จ ก็บันทึกหลังการสอน 1 ครั้ง  โดยแผนการสอน 1 แผน ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาสอนเพียง 1 ชั่วโมง )
                  3)  ทุกวิชาไม่จำเป็นต้องสอน 18 ครั้ง แล้วแต่เราจะทำแผนการสอนแบบใดก็ได้  ถ้าเป็นแผนการสอนรายวิชา แต่ละสัปดาห์อาจสอนหลายวิชา หรือสอนสัปดาห์ละแค่ 1-2 รายวิชา ให้จบรายวิชานั้น ๆ ไป แล้ว สัปดาห์ที่ 4-5 ก็สอนวิชาอื่น ก็ได้   วิชาที่หน่วยกิตมาก มีเนื้อหาที่ยาก ก็ต้องใช้เวลาสอนที่มากกว่าวิชาที่หน่วยกิตน้อยหรือวิชาที่ง่ายเรียนด้วยตนเองได้


         3.
วันที่ 18 ก.พ.57 คุณ "Supa Boo" ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  การจัดศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน  ต้องเป็นกลุ่ม OTOP หรือ MBA อะไรหรือเปล่า

             ผมตอบว่า   เนื่องจากในปีก่อน กศน.อำเภอมักจะจัดศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนโดยฝึกอาชีพเป็นหลักสูตรเพียง 30-50 ชั่วโมง ซึ่งจะได้รับความรู้น้อย ไม่สามารถนำไปประกอบอาชีพตามนโยบายรัฐบาลได้จริง และจัดสอนหลักสูตร "OTOP MINI MBA" ค่อนข้างน้อย   ส่วนกลางจึงเน้นให้ จัดสอนหลักสูตรอาชีพเพื่อการมีงานทำ ที่มีจำนวนชั่วโมงสอนตั้งแต่ 50-100 ชั่วโมง และ 100 ชั่วโมงขึ้นไป  รวมทั้งจัดอบรมหลักสูตร "OTOP MINI MBA" ให้แก่สมาชิกกลุ่ม OTOP "ให้มากขึ้น"


         4.
เย็นวันเดียวกัน ผมตอบคำถามที่สองของคุณ Supa Boo ที่ถามว่า  สรุปผลการทำงานประจำปีของสถานศึกษา ควรใช้ว่า สรุปผลการปฏิบัติราชการ หรือสรุปผลการปฎิบัติงาน สองอย่างนี้มีข้อแตกต่างอย่างไร ตอนนี้หาข้อสรุปตอบท่านผู้บริหารไม่ได้

             ผมตอบว่า   ปัจจุบันมีการใช้สองคำนี้ปะปนกัน บางอำเภอเคยใช้แผนปฏิบัติงาน-สรุปผลการปฏิบัติงาน พอเห็นส่วนกลางใช้คำว่าแผนปฏิบัติราชการ ก็เปลี่ยนไปใช้ตามบ้าง   ที่จริง คำว่าแผนการปฏิบัติราชการ หรือสรุปผลการปฏิบัติราชการ จะเป็นแผนที่ระบุข้อมูลกว้าง ๆ ว่า แต่ละยุทธศาสตร์/กลยุทธ์ มีโครงการอะไรบ้าง และระบุ "หน่วยงานรับผิดชอบ" แต่จะไม่ระบุกิจกรรมย่อย ๆ ของแต่ละโครงการ และไม่ระบุระยะเวลาในการดำเนินโครงการที่ละเอียดว่าดำเนินการในวัน/เดือนใด  หน่วยงานที่ทำแผนการปฏบัติราชการคือ หน่วยงานระดับกรม หรือหน่วยงานที่มี “หน่วยงานดำเนินงาน” อยู่ในในสังกัดหลายหน่วยงาน
             ส่วน แผนปฏิบัติงาน หรือปฏิบัติการ (
Action Plan ) เป็นแผนที่ระบุรายละเอียดของแต่ละโครงการว่า มีขั้นตอน/กิจกรรมอะไรบ้าง ดำเนินการในวัน/เดือนใด และระบุ "ผู้รับผิดชอบ"   หน่วยงานที่ทำแผนปฏิบัติงานคือ หน่วยงานดำเนินงาน เช่น สถานศึกษา กศน.อำเภอ/เขต


         5.
สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ถามผมเรื่องขั้นตอนการขอย้ายจากต่างสังกัด มาสังกัด กศน. ถึง 3 คน ( ตอนที่ถามคนแรก ผมก็ตอบสั้น ๆ ว่าให้ติดต่อ กจ.กศน. แต่เมื่อถามถึง 3 คน จึงเรียบเรียงคำตอบให้ยาวขึ้น )
             ตอบว่า   การโอนจากต่างสังกัดมา กศน. ( สป.ศธ.) ไม่มีกำหนดช่วงเวลาว่าขอโอนได้เมื่อไร ( ถ้าข้ามสังกัด หรือเปลี่ยนตำแหน่ง จะใช้คำว่าโอน )  ยื่นได้ตลอด แต่ขึ้นอยู่กับระเบียบและนโยบายผู้บริหารว่าจะรับโอนเราหรือไม่

             ระเบียบ เช่น ถ้าจะเปลี่ยนตำแหน่ง เราต้องมีคุณสมบัติตามตำแหน่งใหม่ ถ้าจะโอนเป็นครูก็ต้องมีปริญญาทางที่กำหนด มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็นต้น
             ส่วนนโยบายผู้บริหาร แต่ละยุค นโยบายอาจต่างกัน เช่น ยุคที่ผ่านมา กำหนดนโยบายว่า ต้องเคยทำงาน กศน.มาก่อน อายุไม่เกิน
35 ปี มีประวัติการทำงานที่ดี  ยุคนี้อาจมีนโยบายให้นำอัตราว่างทั้งหมดมาสอบบรรจุคนภายในก่อน เสร็จแล้วถ้ายังมีอัตราว่างจึงจะรับโอน เป็นต้น

             ขั้นตอนการขอโอนมาสังกัด กศน. ( สป.ศธ.)

             1)  เจ้าตัวผู้จะขอโอนต้องหาอัตราว่างที่จะรับโอนก่อน  โดยถ้าต้องการโอนมาที่ไหน ก็ติดต่อสอบถามที่นั่น ว่ามีอัตราว่างไหม  หรือติดต่อสอบถามกลุ่มการเจ้าหน้าที่.กศน. ( 02-2822159 ) ว่ามีหรือจะมีอัตราว่างที่ไหนหรือไม่  ( แต่ถ้าจะโอนโดยนำอัตราเงินเดือนตามตามมาด้วย ก็ง่ายเลย ไม่ต้องมีอัตราว่าง เพียงแต่ที่เดิมเขามักจะไม่ยอม เพราะเขาจะบรรจุคนใหม่แทนเราไม่ได้ )
             2)  เจ้าตัวผู้จะขอโอน ไปติดต่อ สป.ศธ. ( กศน.) หรือผู้บริหารหน่วยงานที่มีความประสงค์จะโอนไป ว่ายินดีจะรับโอนหรือไม่ ( นำหลักฐานวุฒิการศึกษา และสำเนา ก.พ.
7 ไปประกอบการพิจารณาด้วย )   ถ้ามีตำแหน่งว่างที่จะรับโอน และยินดีรับโอน ก็ขอให้ทำบันทึกข้อความว่ายินดีจะรับโอน ให้ด้วย
             3)  เจ้าตัวผู้จะขอโอน เป็นผู้ทำเรื่องขอโอนผ่านต้นสังกัดเดิม โดยแนบบันทึกยินดีรับโอนไปประกอบการพิจารณาด้วย
             4)  ต้นสังกัดเดิมพิจารณา ทำเรื่องขอโอน ส่งมาที่ สป.ศธ. ( กศน.)
             5)  สป.ศธ. ( กศน.) ออกคำสั่งรับโอน ส่งไปยังต้นสังกัดเดิม
             6)  ต้นสังกัดเดิมออกคำสั่งให้โอน และมีหนังสือส่งตัวผู้ขอโอนพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น ก.พ.7 มารายงานตัวที่ สป.ศธ. ( กศน.)
             หมายเหตุ  ขั้นตอนต่าง ๆ นี้อาจมีการเปลี่ยนแปลง ควรติดต่อสอบถามข้อมูลจาก กลุ่มการเจ้าหน้าที่ กศน.


         6.
วันที่ 21 ก.พ.57 ที่ประชุม ก.ค.ศ. ให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ โดยกำหนดว่า ผู้ที่ได้รับการบรรจุเป็นครูผู้ช่วย จะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ไม่น้อยกว่า 4 ปีจึงขอย้ายได้ เพื่อจะลดปัญหาครูขอย้ายออกนอกพื้นที่ได้ช่วงเวลาหนึ่ง


         7.
เย็นวันที่ 21 ก.พ.57 คุณ “Kungking Mn กศน.อ.พาน ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  การเบิกจ่ายตามโครงการหรือกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในส่วนของกีฬาและนันทนาการ สามารถเบิกอะไรได้บ้าง

             ผมตอบว่า   ถามกว้างจัง น่าจะถามว่า จ่ายค่านั่นได้ไหม จ่ายค่านี่ได้ไหม  ถามกว้างก็ตอบกว้าง ๆ  ในคู่มือการจัดการศึกษาต่อเนื่องของ กป.กศน. เขาพูดถึงการจ่ายงบพัฒนาผู้เรียนจากเงินอุดหนุนไว้ด้วย ว่า  งบพัฒนาผู้เรียน ( เงินอุดหนุน ) ทุกกิจกรรม จ่ายเป็นค่าวัสดุได้ เช่นค่าวัสดุกีฬา แต่จ่ายกับตัวผู้เรียนไม่ได้ ( คือจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงให้ผู้เรียนไม่ได้ จ่ายค่าอาหารว่างและเครื่องดื่มไม่ได้ ) เพราะผู้เรียนไม่ใช่ผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ  ส่วนอาหารมื้อหลักจ่ายได้เฉพาะลักษณะเข้าค่ายที่ใช้สถานที่เอกชนหรือส่วนราชการอื่น โดยจ่ายให้เอกชนหรือส่วนราชการอื่นเป็นผู้รับเงิน ให้เขาเป็นผู้จัดอาหารมื้อหลักให้ และไม่ต้องเชิญแขกผู้มีเกียรติ เพราะการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นงานประจำตามปกติของสถานศึกษา  จ่ายค่ายานพาหนะและค่าเช่าที่พัก/ค่าเช่าสถานที่ได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย