วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ตัวบ่งชี้ที่ 12 ภายนอก, คนต่างด้าวเรียน กศน., วันเข้าประเมินฯภายนอก, ต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู, ปัญหาครูอาสาฯ, ผู้เข้าเทียบระดับขอเปลี่ยนชื่อ-สกุล, จบ ม.ปลาย หลักสูตร 44 แล้ว จะเรียนเพิ่มเติมในหลักสูตร 51, ปัญหาโปรแกรม ITw - KSM



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  8  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 25 เม.ย.57 คุณ "กระเต็นน้อย เป็นตาฮักแท้"   ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  ขอคำชี้แนะเอกสาร/หลักฐานในการประเมิน สมศ.ตัวที่ 12 ด้วย
             ผมตอบว่า   ตัวบ่งชี้ที่ 12 ของ สมศ. ให้นำ “รายงานการประเมินคุณภาพภายนอก การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย รอบ 2 ( พ.ศ.2549-2553 )” ของ กศน.อำเภอเรา มาดูที่หน้า “ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาสถานศึกษา” ว่า คณะกรรมการ สมศ.เสนอแนะให้เราพัฒนาอย่างไรบ้าง  โดยวิเคราะห์แยกแยะออกมาเป็นข้อ ๆ ( ถ้าเขาเสนอแนะไว้เป็นความเรียง เราก็สรุปออกมาเป็นข้อ ๆ )
             เมื่อได้ข้อเสนอแนะเป็นข้อ ๆ แล้ว ให้
             1)  ระบุว่า เรามีโครงการอะไรบ้าง ที่ปรับปรุงพัฒนาตามข้อเสนอแนะแต่ละข้อนั้น
             2)  นำเสนอว่า โครงการนั้น ปรากฏหรือแฝงอยู่ในส่วนใดของแผนพัฒนาคุณภาพ และแผนปฏิบัติงานประจำปี 3 ปีย้อนหลัง
             3)  นำเสนอ ข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กศน.อำเภอ กับ กศน.จังหวัด หรือหน่วยงานอื่น ที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอแนะและโครงการนั้น
             4)  นำเสนอ สรุปผลการดำเนินงานโครงการนั้น ที่มีครบทั้ง 4 ส่วนตามวงจรคุณภาพ คือ P – D – C – A  โดยสรุปด้วยว่า ผลการดำเนินงานบรรลุเป้าหมายอย่างไร
             5)  การเขียนสรุปผลการดำเนินงาน ในส่วนของผลกระทบ (
Out come ) เขียนให้สอดคล้องกับคุณภาพตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษา


         2. วันเดียวกัน ( 25 เม.ย.) คุณ "Jejar Narak" กศน.อ.พระประแดง ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  กรณีเป็นบุคคลต่างด้าวรับเข้าเรียน กศน.ได้  ที่อยากทราบคือเรียนได้ถึงระดับไหน และมีหนังสือสั่งการมั้ย
             ผมตอบว่า   เรียนได้ทุกระดับ  ในคู่มือการดำเนินงานหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะมีเรื่องนี้อยู่ในภาคผนวกทุกเล่ม  ถ้าเป็นคู่มือหลักสูตร 2551 ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2555 ( ปกสีเลือดหมู ) จะอยู่ในหน้า 102   ชื่อเรื่องจะไม่ได้ใช้คำว่า "คนต่างด้าว" แต่จะอยู่ในเรื่อง ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียน ในสถานศึกษา พ.ศ.2548 ( การจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย )

         3. วันที่ 28 เม.ย.57 คุณ “คนน่ารัก คนน่ารัก” ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  อยากทราบตารางที่ สมศ.จะออกของสกลนครว่าวันที่เท่าไรแต่ละอำเภอ
             ผมตอบว่า   สมศ.ไม่ได้เป็นผู้กำหนดตารางวันประเมินฯ แต่ สมศ.จะกำหนดเป็นช่วง ว่า ให้คณะกรรมการเข้าประเมินในช่วง ตั้เดือน มิ.ย. ถึง ก.ค.57
             ผู้ที่กำหนดวัน คือคณะกรรมการที่จะเข้าประเมินในแต่ละอำเภอ
             โดยประมาณต้นเดือน มิ.ย.57  สมศ. จะประกาศรายชื่อคณะกรรมการที่จะเข้าประเมินในแต่ละอำเภอ
             ประธานหรือเลขาฯกรรมการจะติดต่อไปที่แต่ละอำเภอ หรืออาจติดต่อผ่านจังหวัด ว่าจะเข้าประเมินที่ไหน วันไหน
             ดูในข้อ 1 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2013/12/e-book.html

         4. เช้าวันที่ 29 เม.ย.57 คุณเสาวลักษณ์ หัวหน้า กศน.ตำบล ที่ กศน.อ.พระนครศรีอยุธยา ถามผมทาง Line ว่า  ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจะหมดอายุปี 58  กรณีจะต่อใบอนุญาติฯ จะต้องเตรียมเอกสารอะไรประกอบมั่ง ยังไม่เห็นแจ้ง
             ผมตอบว่า   ให้ยื่นขอต่ออายุก่อนวันหมดอายุไม่น้อยกว่า 120 วัน คงไม่มีการแจ้ง  เอกสารหลักฐานประกอบด้วย
             1)  แบบคำขอต่อใบอนุญาตฯ ( คส.02 )
             2)  แบบแสดงคุณสมบัติฯ ( คส.02.10 )  ที่ ผอ.กศน.อ.รับรองคุณสมบัติ
             3)  รูปถ่าย 1 นิ้ว 1 รูป ติดใบสมัคร
             4)  สำเนาบัตรประชาชนหรือทะเบียนบ้าน
             5)  สำเนาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฉบับเดิม
             6)  สำเนาปริญญาบัตรหรือทรานสคริปต์
             7)  เอกสารหลักฐานผลการปฏิบัติงานตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน 3 กิจกรรม
             8)  ใบแจ้งการชำระเงินค่าธรรมเนียมทางไปรษณีย์ฯ

         5. วันเดียวกัน ( 29 เม.ย.) คุณสมชาย ครูอาสาฯ กศน.อ.ดอยสะเก็ด ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  บทบาทภาระหน้าที่ของครูอาสาสมัครฯ กศน.และท่านเลขาฯ มอบหมายให้รับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาและประสานกับครู กศน.ตำบลในการจัดการศึกษาต่อเนื่อง และภาระหน้าที่ที่มอบหมาย
             แต่ หลายๆอำเภอรวมทั้งอำเภอของผมด้วย ได้มอบหมายให้ครูอาสาสมัครฯ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ณ สำนักงาน กศน.อำเภอ โดยได้มอบหมายภาระงานเช่น  งานแผน  งานการเงิน บัญชีและพัสดุ งานทะเบียน ให้ครูอาสาสมัครฯ ปฏิบัติ  โดยไม่ได้ทำหน้าที่จัดการเรียนการสอน(หรือบางอำเภอก็ให้สอนด้วย) ประกอบกับในพื้นที่มีครู กศน.ตำบลเต็มพื้นที่ ซึ่งไม่มีพื้นที่ตำบลเหลือให้ครูอาสาสมัครฯ ประจำอยู่เลย ถ้าหากครูอาสาสมัครฯ จะลงประจำพื้นที่ก็จะเกิดความซ้ำซ้อนกับครู กศน.ตำบล ซึ่งการมอบหมายงานดังกล่าว มีผลต่อการประเมินพนักงานราชการตำแหน่งครูอาสาสมัครฯด้วย เนื่องจากเกณฑ์การประเมินยังยึดจำนวนนักศึกษาพื้นฐาน งานการศึกษาต่อเนื่อง เป็นเกณฑ์ในการประเมินในแต่ละปีอีกด้วย
             ผมใคร่อยากทราบว่าทางสำนักงาน กศน.จะมีแนวทางในการปรับบทบาทภาระงานของครูอาสาสมัครพื้นที่ปกติ  ที่ปฏิบัติงานในสำนักงาน กศน.บ้างหรือไม่ อาจปรับบทบาทเหมือนพนักงานราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักงาน กศน.จังหวัด ที่มีตำแหน่งนักวิชาการศึกษา  นักวิชาการนโยบายและแผน ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องการมอบหมายงานภาระงานที่ได้ปฏิบัติ และการประเมินผลการปฏิบัติงานในแต่ละปีด้วย ผมไม่ได้เกี่ยงว่าจะต้องลงปฏิบัติงานในพื้นที่   ถ้ามีพื้นที่ตำบลให้ปฏิบัติงานที่ชัดเจนก็ยังรักที่จะปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับประชาชนในชุมชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ
             อยากฝากข้อปัญหานี้นำเรียนไปยังท่านเลขาฯ หรือผู้เกี่ยวข้องเพื่อทราบ
             ผมตอบว่า
             1)  ถ้าผู้ที่ดูแลข้าราชการพลเรือนคือ ก.พ., ผู้ที่ดูแลข้าราชการครูคือ ก.ค.ศ.  ผู้ที่ดูแลพนักงานราชการก็คือ ก.พ.ร.  ซึ่ง ก.พ.ร.เป็นหน่วยงานที่อยู่นอกเหนืออำนาจของ รมว.กระทรวงต่าง ๆ   ตามระเบียบหลักเกณฑ์ของ กพร.นั้น มีหลักการให้จ้างพนักงานราชการตามโครงการ ไม่ได้ให้จ้างตลอดไป เมื่อโครงการใดสิ้นสุดแล้วก็ให้เลิกจ้างพนักงานราชการของโครงการนั้น  โดยทุก 4 ปี เราต้องทำเรื่องถึง ก.พ.ร. ว่าโครงการของเรายังดำเนินการต่อ ขอจ้างพนักงานราชการต่อ ( เราขอเพิ่มด้วย แต่ไม่ได้ )   ฉะนั้นการจะเปลี่ยนบทบาทหน้าที่หรือเปลี่ยนชื่อตำแหน่งพนักงานราชการจึงทำได้ยาก   โดยเราทำเอกสารขอจ้างพนักงานราชการตำแหน่งครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียน ต่อ ก.พ.ร. ระบุบทบาทว่าเป็นครูทำหน้าที่สอน  ถ้าเราขอเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ไปยัง ก.พ.ร.ว่า ขอให้ตำแหน่งครูอาสาฯไม่ต้องเป็นครูทำหน้าที่สอนแล้ว  ก.พ.ร.ก็จะถือว่าโครงการนี้สิ้นสุดแล้ว และจะให้เลิกจ้างพนักงานราชการ
             2)  การเปลี่ยนตำแหน่ง ทำได้ในกรณีที่ มีตำแหน่งครูอาสาฯว่างลง ( เช่น ลาออก อายุครบ 60 ปี เลิกจ้าง ตาย )  แล้วอำเภอต้องการเปลี่ยนเป็นตำแหน่งอื่น เช่นตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา นักจัดการงานทั่วไป นักวิชาการเงินและบัญชี  ( มีบางจังหวัดเปลี่ยนเป็นตำแหน่งใหม่ไว้ที่อำเภอ แต่ส่วนใหญ่เปลี่ยนไปไว้ที่จังหวัด )  ก็ให้จังหวัดเสนอเรื่องขอเปลี่ยนตำแหน่งไปที่ส่วนกลาง เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงรับสมัครเพื่อเลือกสรรในตำแหน่งใหม่   แต่มีข้อจำกัดโดย ก.พ.ร.กำหนดว่าต้องรับสมัครบุคคลทั่วไป จะรับสมัครเฉพาะคนในสังกัดไม่ได้ และผู้ผ่านการสรรหาต้องเริ่มต้นรับค่าตอบแทนที่ขั้นต้นใหม่   ฉะนั้น ถ้าจะนำวิธีนี้มาเปลี่ยนตำแหน่งครูอาสาฯ โดยให้ครูอาสาฯลาออกแล้วสมัครในตำแหน่งใหม่ ก็ต้องสมัครแข่งกับบุคคลทั่วไป และเริ่มรับค่าตอบแทนที่ขั้นต้น ( 18,000 บาท ) ใหม่
             3)  วิธีแก้ปัญหาที่ครูอาสาฯซ้ำซ้อนกับครู กศน.ตำบล ( ที่จริง ปัญหานี้เกิดเฉพาะในตำบลที่มีนักศึกษาน้อย แต่จังหวัดทางภาคเหนือ ภาคอิสาน ตำบลเดียวมีครู กศน.ตำบล 2-3 คน ก็ไม่มีปัญหาซ้ำซ้อนเพราะมีนักศึกษามาก )  คือให้ครูอาสาฯกับครู กศน.ตำบล ทำหน้าที่เหมือนกัน ให้มีโอกาสในการหานักศึกษาเท่าเทียมกัน   ทั้งครูอาสาฯและครู กศน.ตำบล สอน กศ.ขั้นพื้นฐานด้วย  ทั้งครูอาสาฯและครู กศน.ตำบล สอนผู้ไม่รู้หนังสือด้วย  ถ้าครูอาสาฯทำงานแผน งานการเงินบัญชีพัสดุ งานทะเบียน ใน สนง.กศน.อำเภอด้วย ก็แบ่งหน้าที่ให้ครู กศน.ตำบลทำงานใน สนง.กศน.อำเภอด้วย จะได้เท่าเทียมกันในการหานักศึกษา   ( เมื่อวันที่ 17 พ.ย.56 ท่านเลขา กศน. ไปตรวจติดตามการปฎิบัติงาน และประชุมมอบนโยบาย ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า  ให้ครูอาสาฯเลิกนิเทศ แต่ให้ทำหน้าที่สอนเหมือนกันเด๊ะกับครู กศน.ตำบล และครู ศรช.  ถ้าครูอาสาฯไม่สอนตามเกณฑ์ที่กำหนด ถือว่าไม่ปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ มีความผิด ให้เลิกสัญญาจ้าง  ถ้าในอำเภอมีผู้ไม่รู้หนังสือ ให้ครูอาสาฯ+ครู กศน.ตำบล+ครู ศรช. เฉลี่ยกันสอนผู้ไม่รู้หนังสือเท่า ๆ กัน )
                  ตำบลที่หานักศึกษายาก มีผู้สมัครใจเรียนจริงน้อย  ถ้ามีครู ศรช.ออก โดยยังมีจำนวนครูอาสาฯ+ครู กศน.ตำบล+ครู ศรช. ไม่น้อยกว่าจำนวนตำบล  ก็ไม่ควรจ้างครู ศรช.คนใหม่มาแทน เพราะอาจมีปัญหาเงินอุดหนุนไม่พอใช้จ่ายในภาค 1/57 ด้วย

         6. วันเดียวกัน ( 29 เม.ย.) คุณเอมอร กศน.อ.เมืองชลบุรี ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  กรณีผู้เข้าเทียบสูงสุด นำหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-สกุลมาแก้ไขข้อมูลในประวัติ เราสามารถแก้ไขได้เลยหรือไม่ เพราะเกรงว่าข้อมูลการสอบของ กศน.และของ สทศ.จะไม่ตรงกัน
             ผมตอบว่า  ถ้าเขาเปลี่ยนชื่อ-สกุลขณะที่ยังไม่ผ่านการเทียบระดับฯ เราสามารถเปลี่ยนได้  และในวันสอบภาคทฤษฎี ให้เขานำสำเนาบัตรประชาชนไปยื่นขอแก้ไขด้วย

         7. วันที่ 30 เม.ย.57 คุณ “cmpnfe” ถามผมทางอีเมล์ ว่า  หากต้องการลงทะเบียนเรียนวิชาเพิ่มเติมให้กับนักศึกษาที่จบ ม.ปลาย หลักสูตร 44 จะลงทะเบียนผ่านโปรแกรม หลักสูตร 51 ได้ไหม หากลงทะเบียนได้มีวิธีการอย่างไร
             ผมตอบว่า   ไม่ว่าจะจบจากหลักสูตร กศน.เก่า หรือจบมาจากในระบบโรงเรียน ก็เรียนเพิ่มเติมบางวิชาในหลักสูตร 51 ได้  ( แต่ต้องเป็นวิชาที่ไม่ซ้ำกับที่เคยเรียนผ่านแล้ว  ถ้าเป็นคนละหลักสูตรก็ดูยากว่าซ้ำหรือไม่ซ้ำ )  โดยถ้าเปลี่ยนหลักสูตรต้องสมัครขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาใหม่
             ตอนลงทะเบียนเรียน ในช่อง "ประเภท" ด้านล่าง ( เมนู 1-3-1 ในโปรแกรม ITw ) ให้เลือกเป็น "9. เรียนเพิ่มเติมหลังจบ"
             ดูข้อมูลเพิ่มเติมในข้อ 5 ที่  http://www.gotoknow.org/posts/488007

         8. วันที่ 1 พ.ค.57 ศน.สุพจน์ กศน.จ.สระบุรี โทร.มาคุยกับผมเรื่องปัญหาโปรแกรมทะเบียน นศ.
             ผมตอบว่า   ส่วนกลาง จ้างเหมาบริการ คุณสุขุม วิไลฤทธิ์ ให้เป็นผู้ดูแลพัฒนาโปรแกรมทะเบียนนักศึกษาฯ  โดยคุณสุขุมได้แจ้งเรื่องการแก้ไข ดังนี้
             1)  ปัญหาโปรแกรม
ITw 2.0 รุ่น 8 เม.ย.57*แก้ไข  ที่เป็นปัญหาในเรื่อง ลงทะเบียนวิชาเลือกไม่ได้, จบ ม.ต้น ขึ้นทะเบียน ม.ปลาย แต่โปรแกรมบอกว่าจบ ม.ปลายแล้ว, บันทึกประวัติแต่ละคนแล้วเข้าหน้าลงทะเบียนเลยไม่ได้ นั้น  ได้แก้ไขแล้ว  ถ้าใครดาวน์โหลด ( จากลิ้งค์เดิม ) หลังเวลา 16:00 น. วันที่ 30 เม.ย.57  จะไม่มีปัญหานี้  ( ลิ้งค์สำหรับดาวน์โหลดคือ 
https://dl.dropboxusercontent.com/u/15540884/itw51_08042014_setup.zip    หรือ   https://drive.google.com/file/d/0B6tQobXfGWLEZmJ2dzRGa1QyYkE/edit?usp=sharing )
             2)  ปัญหาโปรแกรมฯไม่ยอมรับเลขประจำตัวประชาชนคนต่างด้าวที่ได้จากการขึ้นทะเบียนกับกรมการปกครอง   ปัญหานี้ ให้ทำตามข้อ 4.1 ที่ 
http://www.gotoknow.org/posts/406637
             3)  ปัญหาโปรแกรม
KSM ( เทียบระดับฯสูงสุดฯ ) ออกประกาศนียบัตรแล้ว ตรงสระที่อยู่ใต้ชื่อ-สกุล เช่น สระอุ สระอู หางตัว ฏ จะเลื่อนไปอยู่ผิดที่  ปัญหานี้เป็นเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์บางเครื่อง ให้แก้โดย
                  - เข้าเมนู 8 – 9 ( จัดการระบบ – จัดการแบบฟอร์ม )
                  - คลิกที่ปุ่มแก้ไขแบบฟอร์ม ( รูปแฟ้ม ) ด้านขวาของแบบฟอร์มที่ต้องการแก้ไข
                  - ดับเบิ้ลคลิกเลือกส่วนที่ต้องการแก้ไข เช่น แถบชื่อ-นามสกุล
                  - คลิกเลือกแท็ป Style
                  - คลิกที่ปุ่มด้านขวาของช่อง Font
                  - เลือก Size ให้เล็กลงกว่าเดิม เช่น เดิม 20 ลดเหลือ 18  หรือเปลี่ยน Font จาก DSN Lai Thai เป็น Font อื่น   แล้วคลิกที่ปุ่ม OK, OK, Yes

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย