วันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

1.เป็น ขรก.ต่อจากเป็นพนักงานราชการ ไม่ให้นับอายุราชการรวมเพื่อการขอเครื่องราชฯ, 2.เรียน ETV ทาง YouTube-DVD, 3.ค่าเสี่ยงภัยชายแดนใต้, 4.แพทย์ประจำตำบล+อื่นๆ เป็นครู ศรช.?, 5.ชื่อหน่วยงาน กศน.ภาษาอังกฤษ, .ไม่ต้องมีคณะกรรมการห้องสมุด, 7.ตรงไหนบอกว่าเรียน กศน.ต้องอายุ 15 ปี, เด็กวัยเรียนไม่ต้องใช้เวลาเรียน 3 ปี 6 ปี



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. คืนวันอาทิตย์ที่ 16 พ.ย.57 Yotin Cheameungpan ถามในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  การขอเครื่องราช.. เป็น พรก.แล้วสอบเป็นข้าราชการจะขอเครื่องราช.. นับเวลารวมกันได้หรือไม่.. เช่นเป็น พรก. 3 ปีสอบได้ข้าราชครูผู้ช่วยทำงานได้ 2 ปีจะต่อเนื่องได้หรือไม่

             ผมตอบว่า  เรื่องการขอเครื่องราชฯนับเวลารวมกันไม่ได้ ต้องเริ่มนับใหม่  แต่ เครื่องราชฯที่เคยได้รับพระราชทานตอนเป็นพนักงานราชการแล้ว ไม่ต้องขอซ้ำอีก  ดูรายละเอียดที่เคยตอบแล้ว ในข้อ 2.4 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/472755  ซึ่งตอบว่า การนับเวลาทำงานให้ครบ 5 ปี เพื่อขอครื่องราชอิสริยาภรณ์ จะนำเวลาช่วงที่เคยเป็นพนักงานราชการมารวมกับช่วงที่เป็นข้าราชการด้วยไม่ได้ เพราะเป็นคนละประเภทกัน ต้องเริ่มนับใหม่   แต่ผู้ที่เคยเป็นพนักงานราชการนานจนได้เครื่องราชฯแล้ว เมื่อลาออกมาเป็นข้าราชการ ไม่ต้องคืนเหรียญเครื่องราชฯ ( การลาออก การเกษียณ ยังไม่ต้องคืนเหรียญเครื่องราชฯ แต่ให้ญาติคืนเมื่อเสียชีวิต ) ถ้าไม่ใช่การเรียกคืนเพราะมีความผิด จะคืนเหรียญเครื่องราชฯที่ได้จัดสรร ( ไม่ได้ซื้อเอง ) ใน 2 กรณี ได้แก่ กรณีได้เครื่องราชฯชั้นสูงขึ้นในตระกูลเดียวกัน คือตระกูลช้างเผือกหรือตระกูลมงกุฎ ไทย ให้คืนเหรียญชั้นรอง เก็บไว้ได้เพียง 2 เหรียญ ( ตระกูลละ 1 เหรียญ ) และ กรณีเสียชีวิต ( อาจนำไปประดับในพิธีศพ เสร็จแล้วญาติต้องส่งคืนหรือซื้อไว้ )
             ผู้ที่เคยเป็นพนักงานราชการนานจนได้เครื่องราชฯแล้ว เมื่อลาออกมาเป็นข้าราชการ ถ้าถึงเวลาที่มีสิทธิเสนอขอเครื่องราชฯที่เคยได้รับตอนเป็นพนักงานราชการแล้ว ไม่ให้ขอซ้ำใหม่อีก ( ฝ่ายการเจ้าหน้าที่คงต้องสำรวจประวัติเดิมไว้ เจ้าตัวก็คงต้องบอกฝ่ายการเจ้าหน้าที่ว่าเคยได้รับเหรียญใดแล้ว ไม่ต้องขอให้ซ้ำอีก )

         2. วันเดียวกัน ( อาทิตย์ที่ 16 พ.ย.) “ETV CET” บอกผมว่า   ทางสถานี ETV จะจัดทำสำเนา DVD รายการสอนวิทย์-คณิต-อังกฤษ ส่งให้ภายหลังจากการออกอากาศครบ 10 ตอนแรกของแต่ละวิชา

             ช่วงนี้รับชมย้อนหลังได้ที่
             - youtube :  https://www.youtube.com/channel/UCRmx397mqTaGfXMZxuKf3SA หรือ
             - เว็บไซต์ ETV :  http://www.etvthai.tv/OndeMAnd/Ondemand.aspx หรือ
             - เฟซบุ๊ค ETV :  https://www.facebook.com/pages/ETV-Thailand/542374389222444

         3. คืนวันที่ 19 พ.ย.57 ผมเผยแพร่เรื่องค่าเสี่ยงภัยชายแดนใต้ ในเฟซบุ๊ค ว่า
             ช่วยกันหาข้อสรุป เพื่อพี่น้องอัตราจ้าง ชายแดนใต้..

             เมื่อประมาณ 1 เดือนมาแล้ว มีผู้ถามผมจากชายแดนใต้ 3 คน ถามเกี่ยวกับค่าเสี่ยงภัยชายแดนใต้ เช่น ปีนี้จะได้เมื่อไร ลูกจ้างจะได้ทุกคนไหม ไม่เห็นสำรวจข้อมูลลูกจ้างที่ไม่เคยได้ ....
             ไม่รู้ว่าถึงวันนี้ ข้อสงสัยเหล่านี้จะคลี่คลายไปหรือยัง  ผมเพิ่งจะถามข้อมูลจากหัวหน้ากลุ่มงานงบประมาณ กลุ่มแผนงาน กศน. เมื่อวันที่ 18 พ.ย.57
             หัวหน้ากลุ่มงานงบประมาณเล่าให้ฟังว่า   คน กศน.เราแจ้งว่า ครม.อนุมัติให้ลูกจ้างทุกประเภท รวมทั้งจ้างเหมาบริการ ในจังหวัดชายแดนใต้ ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มค่าใช้จ่ายการพัฒนาคุณภาพการศึกษา 2,500 บาท/เดือน ( เบี้ยเสี่ยงภัย )   กลุ่มแผนงานฯจึงได้จัดสรรเงินดังกล่าวโอนไปให้ที่ สนง.กศน.จังหวัดชายแดนใต้แล้ว โดยมีการสำรวจก่อนหน้านั้นแล้วว่ามี 600 กว่าคน โอนเงินไปแล้ว 6 เดือน ( ต.ค.57 – มี.ค.58 ) คนละ 2,500 บาท/เดือน รวมทั้งเงินเพิ่มคนละ 1,000 บาท สำหรับข้าราชการ+ลูกจ้างประจำ+พนักงานราชการ ที่เคยได้รับ 2,500 บาท ให้ได้รับเป็น 3,500 บาท ก็โอนไปแล้วเช่นเดียวกัน

             แต่หลังจากโอนเงินไปแล้ว ได้อ่านมติ ครม. พบว่า ไม่ได้ใช้คำว่า ลูกจ้างทุกประเภทรวมทั้งการจ้างเหมาบริการแต่ใช้คำว่า ลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทซึ่ง ตามความหมายของกระทรวงการคลัง คำว่าลูกจ้าง ไม่ใช่อย่างที่พวกเราเข้าใจกัน ( แม้แต่ ครู ศรช. กรมบัญชีกลางก็เคยตอบข้อหารือของ กศน. มาว่า ครู ศรช.ไม่ใช่ลูกจ้าง )   กลุ่มแผนงานฯจึงแจ้ง สนง.กศน.จังหวัดชายแดนใต้ว่า ให้ชลอการจ่ายเงินในส่วนนี้ไว้ก่อน ถึงแม้จัดสรรเงินไปแล้ว ถ้าจ่ายให้ผู้ไม่มีสิทธิ์ได้รับ ก็จะต้องส่งคืนในภายหลัง  จึงให้หาข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่า สามารถจ่ายให้ ลูกจ้างทุกประเภทรวมทั้งการจ้างเหมาบริการส่งไปให้กลุ่มแผนงานก่อน  แต่จนขณะนี้ก็ยังเงียบไป

             ผมไม่ทราบว่า สนง.กศน.จังหวัดชายแดนใต้ดำเนินการไปอย่างไรแล้ว
             เรื่องนี้ ผมค้นข้อมูลพบว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค.56 ครม.มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( กพต.) เสนอ ดังนี้
             ให้จ่ายเงินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาใน 2 กลุ่ม คือ
             1)  ข้าราชการครู พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ สังกัด ศธ. เดิมเคยได้รับคนละ 2,500 บาทต่อเดือน ให้ได้รับเพิ่มเป็น 3,500 บาทต่อเดือน และ
             2)  ครูโรงเรียนเอกชนในระบบอาจารย์  พนักงานในมหาวิทยาลัยเอกชน  ลูกจ้างชั่วคราว  ครูอัตราจ้าง  วิทยากรสอนศาสนาอิสลาม  ในสังกัดหน่วยงานของ ศธ. ที่ไม่เคยได้รับค่าเสี่ยงภัยมาก่อน ให้ได้รับเงินพัฒนาคุณภาพการศึกษาคนละ 2,500 บาทต่อเดือน

             ทำอย่างไรจึงจะได้ข้อสรุปที่เชื่อถือได้ว่า ข้อ 2) ครอบคลุม ลูกจ้างทุกประเภทรวมทั้งจ้างเหมาบริการของ กศน.หรือไม่
             จะถาม สพฐ.ว่าเขาจ่ายเงินค่าเสี่ยงภัยให้ลูกจ้างลักษณะใดบ้าง รวมผู้รับจ้างเหมาบริการด้วยไหม   หรือ สนง.กศน.จังหวัดชายแดนใต้จะทำหนังสือหารือ กพต. แล้วส่งหนังสือตอบของ กพต.ให้สำนักงาน กศน. ดีไหม ... หรือควรทำอย่างไรครับ ...

         4. วันที่ 20 พ.ย.57 Pattanan Dondee ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  แพทย์ประจำตำบลหรือตำแหน่งต่างๆ ในชุมชน โดยรับค่าตอบแทนแล้ว สอบเป็นครู ศรช.ได้ แต่ยังไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งเดิม สามารถปฏิบัติงานได้ทั้งสองอย่างหรือไม่

             ผมตอบว่า  เรื่องนี้  อ.ชลดา นักวิชาการตรวจสอบภายในชํานาญการ สํานักงาน กศน. บอกว่า  ตามหลักการคือ เวลาทำงานของสองตำแหน่งนี้จะซ้ำซ้อนหรือเหลื่อมซ้อนกันไม่ได้  โดยเวลาทำงานของครู ศรช. ต้องทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน ๆ ละ 8 ชั่วโมง  แต่ไม่ทราบว่าเวลาทำงานของแพทย์ประจำตำบลหรือตำแหน่งอื่น ๆ ในชุมชน นั้น เป็นอย่างไร  ถ้าเป็นตำแหน่งที่มีเงินเดือน/ค่าตอบแทน แม้เวลาทำงานของเขาไม่แน่นอน  การที่ไม่แน่นอนนี้ก็อาจมีเวลาซ้ำซ้อนกันในบางช่วงเวลา ลักษณะนี้ก็ไม่ได้ ต้องเลือกลาออกจากตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง

         5. เช้าวันที่ 21 พ.ย.57 ผมเผยแพร่เรื่องชื่อภาษาอังกฤษของหน่วยงาน กศน.ต่าง ๆ ในเฟซบุ๊ค ว่า  ควรจะศึกษาไว้ อย่างน้อยก็รู้ภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นอีก 4-5 คำ
             ชื่อ กศน.ตำบล คำเต็มภาษาไทย คือ "ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตำบล...." หรือ
"ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยแขวง...." ( อ้างอิงตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยแหล่งเรียนรู้ราคาถูก : กศน. ตำบลหรือแขวง พ.ศ. 2553 ข้อ 3   ดูได้ที่  http://www.nfe5110.com/acc/a2945142gorsornortambol.pdf )

             ส่วนชื่อภาษาอังกฤษนั้น สำนักงาน กศน.กำหนดไว้ในหนังสือ นามสงเคราะห์ซึ่ง อ.ปาริชาติ เย็นใจ กลุ่มงานความสัมพันธ์ต่างประเทศ กลุ่มแผนงาน กศน. เป็นผู้ที่กำหนดชื่อทุกหน่วยงาน/สถานศึกษาในสังกัด กศน. เป็นภาษาอังกฤษ ไว้ในหนังสือเล่มนี้ ดูหนังสือเล่มนี้ได้ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/stk.pdf
             โดยในส่วนของชื่อ กศน.ตำบลหรือแขวง ให้เขียนว่า "..(ชื่อตำบลหรือแขวงภาษาอังกฤษ).. Sub-District Non-formal and Informal Education Centre"
             ในเล่มนี้ ระบุไว้ว่า ชื่อตำบลเป็นภาษาอังกฤษ ให้เขียนตามที่ราชบัณฑิตยสถานกำหนด ซึ่งดูได้ที่
             - ชื่ออำเภอ/ตำบล ที่  https://dl.dropbox.com/u/109014048/Tambol.xls
             - ชื่อจังหวัด/อำเภอ/เขต ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/nameprovincedistrict.pdf

             ตัวอย่าง กศน.ตำบลผักไห่ เขียนว่า “Phak Hai Sub-District Non-formal and Informal Education Centre"

             ( การเขียนชื่อภาษาอังกฤษของหน่วย งาน กศน.อื่น ก็ลักษณะเดียวกัน ดูได้ในหนังสือเล่มนี้  เช่น กศน.อ.นครหลวง เขียนว่า Nakhon Luang District Non-Formal and Informal Education Centre. )

         6. เย็นวันที่ 25 พ.ย.57 ท่าน ผอ. Pravit Thapthiang ถามผมในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  มีระเบียบยกเลิกห้องสมุดประชาชนและประกาศให้ห้องสมุดประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของสถานศึกษา ของ สป.ศธ. สมัยท่านปลัดชินภัทร ไหม

             ผมตอบว่า   ดูคำสั่งท้ายข้อ 4 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/418779
             เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งคณะกรรมการห้องสมุดฯ ที่ผมเคยตอบในเว็บบอร์ด สพร.กศน. ตั้งแต่ปี 2551 ว่า
             - เดิม เราแต่งตั้งคณะกรรมการห้องสมุดประชาชนฯ โดยอาศัย ระเบียบกรมการศึกษานอกโรงเรียนว่าด้วยห้องสมุดประชาชน พ.ศ. 2535  แต่ต่อมาได้มีประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการจัดส่วนงานของสถานศึกษา ลงวันที่ 10 เม.ย.51 กำหนดให้ห้องสมุดประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของสถานศึกษา   และมีคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่ 1611/2551 ลงวันที่ 26 พ.ย.51 เรื่องยกเลิกระเบียบกรมการศึกษานอกโรงเรียน กำหนดให้ยกเลิกระเบียบกรมการศึกษานอกโรงเรียนว่าด้วยห้องสมุดประชาชน พ.ศ. 2535 ด้วย
             - เมื่อประกาศยกเลิกระเบียบกรมการศึกษานอกโรงเรียนว่าด้วยห้องสมุดประชาชน พ.ศ. 2535 ไปแล้ว เราจะอาศัยระเบียบดังกล่าวมาแต่งตั้งคณะกรรมการห้องสมุดประชาชน ไม่ได้
             - เมื่อห้องสมุดฯเป็นส่วนหนึ่งของ กศน.อ.  และ กศน. อ. มีกรรมการสถานศึกษาอยู่ กรรมการสถานศึกษาก็ดูแลสถานศึกษาทุกฝ่ายทุกงาน ห้องสมุดเป็นห้องหนึ่งหรืออาคารหลังหนึ่งของสถานศึกษา เช่นเดียวกับห้องสมุดในโรงเรียนต่าง ๆ ห้องสมุดจึงไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการห้องสมุดขึ้นมาต่างหากอีก  มีคณะกรรมการสถานศึกษาชุดเดียว ไม่ต้องมีคณะกรรมการห้องสมุดฯ ไม่ต้องมีคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ต้องมีคณะกรรมการการศึกษาต่อเนื่อง ฯลฯ
             - เคยมีการคิดจะออกระเบียบห้องสมุดฯมาใหม่อีก แต่ก็ไม่มีออกมา  เมื่อไม่ออกระเบียบห้องสมุดใหม่ ก็ใช้กรรมการสถานศึกษาชุดเดียวคลุมงานห้องสมุดด้วย

             ต่อมาวันที่ 6 ม.ค.54 ผมได้ถาม สพร.กศน. ในเรื่องนี้อีก ได้คำตอบว่า ตอนนี้ต้องใช้กรรมการสถานศึกษา เพราะไม่มีระเบียบให้แต่งตั้งกรรมการห้องสมุดฯ  แต่กลางเดือนมกราคม 2554 จะมีการประชุมกันว่าควรจะออกระเบียบ หรือออกเป็นหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการจัดตั้งห้องสมุดฯและการแต่งตั้งคณะกรรมการห้องสมุดฯ ขึ้นมาอีกหรือไม่ หรือจะให้ใช้กรรมการสถานศึกษาต่อไป

             ผลการประชุมคือ สำนักงาน กศน. กำหนดเป็น แนวทางการดำเนินงานห้องสมุดของสถานศึกษา กศน.โดยกำหนดในเรื่องนี้ว่า3.การบริหาร ห้องสมุดของสถานศึกษา กศน. อยู่ในความควบคุมดูแลของสถานศึกษา กศน. โดยมีคณะกรรมการสถานศึกษา กศน.ให้คำปรึกษาแนะนำการดำเนินงาน”  ( ดูหนังสือ แนวทางการดำเนินงานห้องสมุดของสถานศึกษา กศน. ได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/lib.pdf )

         7. วันที่ 26 พ.ย.57 เหนื่อยก้อพัก เค้าไม่รักก้อพอ ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  มี NGO ทำวิจัยเกี่ยวกับการจัดหลักสูตร กศน.สำหรับผู้พลาดโอกาสบนดอย ถามหาเอกสารที่ระบุว่า นศ.นอกระบบระดับขั้นพื้นฐาน ต้องอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์  ถ้าต้องการข้อมูลอ้างอิง หาจากไหน

             ผมตอบว่า
             1)  ตาม พรบ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 มาตรา 6 กำหนดให้ผู้ปกครองส่งเด็ก ( ความหมายของคำว่าเด็ก บอกไว้ในมาตรา 4 คือ อายุย่างเข้าปีที่เจ็ดจนถึงอายุย่างเข้าปีที่สิบหก ยกเว้นเด็กที่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับแล้ว ) เข้าเรียนในสถานศึกษา ( ความหมายของคำว่าสถานศึกษา บอกไว้ในมาตรา 4 คือ สถานศึกษาที่จัดการศึกษาภาคบังคับ )
             2)  หนังสือสำนักงาน กศน. ที่ ศธ 0210.04/5719 เรื่องการรับนักเรียนในระบบเข้าศึกษาในสถานศึกษา กศน. ลงวันที่ 11 ธ.ค.51 ระบุว่า  กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ เข้าเรียนภาคบังคับในสถานศึกษา กศน. ให้ สนง.เขตพื้นที่การศึกษาทำหนังสือส่งตัวมา และต้องมาใช้เวลาเรียน กศน.ไม่น้อยกว่าเด็กในวัยเดียวกันที่เรียนอยู่ในโรงเรียนปกติ
              ( แต่ถ้าจบภาคบังคับแล้ว มาสมัครเรียน กศน.ม.ปลาย อายุเท่าไหร่ก็มาสมัครได้ และใช้เวลาเรียนตามระเบียบเรา )   ถ้าเป็นเด็กไร้สัญชาติ/ไม่มีทะเบียนบ้าน ไม่ต้องไปผ่าน สพฐ.  มาเรียนกับ กศน.ได้ ( สพฐ.ดูแลเฉพาะเด็กตามทะเบียนบ้านในเขตเขา )   ตอนนี้เด็กในวัยเรียนที่ไม่สามารถเรียนในระบบได้ เช่น บุตรแรงงานต่างด้าว มาเข้าเรียน กศน.มากแล้ว  โปรแกรม ITw ก็เปิดเมนูนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนเท่าในระบบ
             คำว่า ต้องมาใช้เวลาเรียน กศน.ไม่น้อยกว่าเด็กในวัยเดียวกันที่เรียนอยู่ในโรงเรียนปกตินั้น กลุ่มพัฒนา กศน. โดยคุณกิตติพงษ์ บอกผมเมื่อวันที่ 28 พ.ย.57 ว่า ให้ยึดอายุเป็นหลัก ไม่ยึดจำนวนปีที่เรียน โดยหลักสำคัญในการจบ คือ
             ก. ต้องเรียนครบตามโครงสร้างและเงื่อนไขการจบหลักสูตร  และ
             ข. จะจบประถมต้องอายุ 12 ปี จะจบ ม.ต้น ต้องอายุ 15 ปี ไม่ว่าจะมีการเทียบโอนหรือไม่ก็ตาม ส่วนเวลาเรียนจะเป็นกี่ปีไม่สำคัญ อาจน้อยกว่า 3 ปี หรือมากกว่า 6 ปีก็ได้ ให้ยึดอายุเป็นหลัก
              ( โดยถ้าเขายังอายุน้อย เหลือเวลาอีกมากกว่า 6 ปี หรือ 3 ปี จึงจะอายุครบ 12 ปี หรือ 15 ปี ควรจัดทำแผนการสอนตามเวลาที่เหลือ เช่น มาเริ่มเรียน ม.ต้น ตอนอายุ 11 ปี ซึ่งเหลือเวลา 4 ปีจึงจะอายุครบ 15 ปี ก็ควรทำแผนการสอนให้เขาใช้เวลาเรียน 4 ปี เพราะถ้าให้เขาเรียน 2 ปีจบแล้วไม่ออกใบวุฒิให้เขา เขาจะไม่เข้าใจ เป็นปัญหาได้ )







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย