วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

1.ผอ.กศน.จังหวัด/อำเภอ ไม่มีอำนาจย้าย แม้แต่ย้ายครู กศน.ตำบลเปลี่ยนตำบลภายในอำเภอ, 2.ขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหารให้ นศ., เทียบระดับฯผ่อนผันได้ไหม, 3.ราคากลางหนังสือเรียน, 4.ลำดับรูปลูกจ้างประจำกับพนักงานราชการใครควรอยู่บนล่าง, 5.ผลกระทบจาก ETV ต่อการทำแผนการสอนของครู กศน., 6.วุฒิปลอม ใครต้องแจ้งความ, ไม่อยากยุ่งยาก ไม่แจ้งได้ไหม ?, 7.การรับนักเรียนที่จบจาก ร.ร.หนองชุมแสงวิทยา



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. ดึกวันที่ 7 พ.ย.57 นู๋นุ้ย ไตรมลตรี ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ครู กศน.ตำบล ที่เป็นพนักงานราชการ สามารถทำเรื่องขอย้ายไปลงยังตำบลที่ไม่มีเลขพนักงานราชการในอำเภอเดียวกัน ได้ไหม

             เรื่องนี้  ผมถาม กจ.กศน. เมื่อ 10 พ.ย.57 ได้รับข้อมูลว่า  ไม่ได้  แต่ถ้าตำบลเดิม มีเลขที่ตำแหน่งครู กศน.ตำบล มากกว่า 1 คน ก็ให้ส่งเรื่องไปให้ส่วนกลางเกลี่ยเลขที่ตำแหน่งพร้อมขอย้ายไป ไว้ที่อำเภอที่ ไม่มีเลขที่ตำแหน่งนั้น  ( การย้ายครู กศน.ตำบล แม้จะสลับตำแหน่งที่มีเลขที่ตำแหน่ง และอยู่ในอำเภอเดียวกัน ก็ต้องส่งเรื่องไปส่วนกลาง )

             ทุกตำแหน่งที่มีเลขที่ตำแหน่งกำหนดว่า เลขที่ตำแหน่งนั้นอยู่ที่อำเภอใด การย้ายต้องส่งเรื่องให้ส่วนกลางดำเนินการ เช่นเดียวกับข้าราชการ   ผอ.กศน.จังหวัด/อำเภอ จะสั่งย้ายข้าราชการข้ามอำเภอไม่ได้ แม้จะย้ายภายในจังหวัดเดียวกัน  การย้ายพนักงานราชการก็เช่นกัน

             ปัจจุบันมีบางจังหวัดย้ายเปลี่ยนพื้นที่พนักงานราชการภายในจังหวัด จนเลขที่ตำแหน่งสับสนอลหม่าน บางจังหวัดบรรจุพนักงานราชการใหม่ จากครู ศรช.ที่สอบเป็นพนักงานราชการได้ โดยครู ศรช.คนนั้นอยู่อำเภอใดก็ย้ายตำแหน่งพนักงานราชการไปไว้อำเภอนั้นเลย ครู ศรช.จะได้ไม่ต้องย้ายพื้นที่  บางแห่งย้ายสองทอดแล้ว สับสนจนปัจจุบันไม่สามารถบอกได้แล้วว่าพนักงานราชการคนนั้นเลขที่ตำแหน่งใด และเลขที่ตำแหน่งนั้นเป็นเลขที่ตำแหน่งของอำเภอใด

             การย้ายพนักงานราชการ ( ก.พ.ร.ไม่กำหนดระเบียบให้พนักงานราชการย้ายได้ การย้ายพนักงานราชการนี้เป็นเพียงการมอบหมายให้พนักงานราชการปฏิบัติงานนอกพื้นที่กำหนดในสัญญา )  ดูขั้นตอนวิธีการย้ายได้ในข้อ 4 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/463102  ซึ่งไม่มีการกำหนดว่าพนักงานราชการจะต้องมีอายุงานเท่าไร อายุงานเท่าไรก็ยื่นขอย้ายได้

             ถ้าเป็นพนักงานราชการตำแหน่งครู กศน.ตำบล จะย้ายยากกว่าตำแหน่งอื่น เพราะ เลขที่ตำแหน่งของครู กศน.ตำบล ระบุลึกถึงว่าเป็นเลขที่ตำแหน่งของตำบลใด
             การย้ายพนักงานราชการทุกตำแหน่ง ไม่ว่าจะย้ายอยู่ภายในจังหวัดเดียวกัน หรือข้ามจังหวัด ( ถ้าเป็นครู กศน.ตำบล รวมการย้ายอยู่ภายในอำเภอเดียวกันด้วย ) ก็ต้องส่งเรื่องไปยังส่วนกลาง ด้วยขั้นตอนวิธีการเดียวกัน

              ( ตำแหน่ง ครู กศน.ตำบลกับ หัวหน้า กศน.ตำบลแตกต่างกัน ถ้าเป็นการแต่งตั้งให้ใครเป็น หัวหน้า กศน.ตำบลเป็นอำนาจของ ผอ.กศน.จังหวัด ซึ่งจะแต่งตั้งให้ตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่ครู กศน.ตำบล มาเป็นหัวหน้า กศน.ตำบล ก็ได้ ดูเรื่องการแต่งตั้งหัวหน้า กศน.ตำบลได้ในข้อ 4 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/01/n-net.html )

             กจ.กศน. บอกว่า ถ้าครู กศน.ตำบล ขอย้ายจากตำบลที่มีครู กศน.ตำบลเพียงคนเดียว ไปยังตำบลที่มีครู กศน.ตำบลอยู่แล้ว ถึงจะส่งเรื่องไปส่วนกลาง ก็ไม่ให้ย้าย เพราะจะพยายามเกลี่ยให้ทุกตำบลมีครู กศน.ตำบล  ( ปัจจุบันมีหลายตำบลที่ยังไม่มีครู กศน.ตำบลเลย ในขณะที่หลายตำบลมีครู กศน.ตำบลมากกว่า 1 คน )

         2. วันเสาร์ที่ 8 พ.ย.57 คุณนวพร คุณีพงษ์ ครูอาสาฯ กศน.อ.พระนครศรีอยุธยา โทร.มาถามผมว่า ผู้เข้ารับการเทียบระดับการศึกษา ขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหารได้ไหม

             ผมตอบว่า   ตามกฎกระทรวง ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 ฉบับที่ 73 ( พ.ศ.2536 ) กำหนดบุคคลผู้จะได้รับการผ่อนผันฯ ในข้อ 2 (ง) ว่านักศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ... ให้ได้รับการผ่อนผันจนสำเร็จระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งนี้ไม่เกินอายุ 22 ปีบริบูรณ์
             ผู้เข้ารับการเทียบระดับการศึกษา ไม่ใช่ นักศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจึงขอรับการผ่อนผันฯไม่ได้

             อนึ่ง ขอประชาสัมพันธ์ ให้สถานศึกษา กศน. สำรวจนักศึกษา กศ.ขั้นพื้นฐาน ระดับ ม.ปลาย อายุ 20-22 ปี ( ถ้าเกิดในปี พ.ศ.2535-2537 ยื่นขอผ่อนผันต่อสถานศึกษาในช่วงปลายปี พ.ศ.2557 ) ที่ยังไม่เคยเข้ารับการ "ตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ" และประสงค์จะขอผ่อนผันการตรวจเลือก ให้ทำเรื่องขอผ่อนผัน โดยให้ กศน.อำเภอ/เขต รวบรวมส่ง สนง.กศน.จังหวัด/กทม ภายในเดือนธันวาคม และ สนง.กศน.จังหวัด/กทม. ส่งผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของ นศ.รายนั้น ๆ ภายในเดือนกุมภาพันธ์
             ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการมอบอำนาจให้ ผอ.สนง.กศน.จ./กทม. เป็นผู้ดำเนินการ ตามคำสั่งที่ 270/2551 ลงวันที่ 5 มี.ค.2551 ข้อ 10   กศน.อำเภอ/เขต จึงต้องรวบรวมเรื่องส่งไปที่ สนง.กศน.จังหวัด/กทม.

             เอกสารที่ต้องใช้ คือ
             1)  ให้นักศึกษาเขียนคำร้องขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร ( ดูตัวอย่างแบบคำร้องได้ที่
https://www.dropbox.com/s/grmm324qgywpmjr/requestSoldier.doc?dl=1 )
             2)  ใบสำคัญทหารกองเกิน (แบบ สด.9) พร้อมสำเนาหน้า-หลัง จำนวน 2 ฉบับ ยื่นพร้อมให้ตรวจสอบกับฉบับจริง
             3)  หมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.35) พร้อมสำเนา หน้า-หลัง จำนวน 2 ฉบับ
             4)  สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 2 ฉบับ
             5)  หลักฐานสำคัญกรณีเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี) พร้อมสำเนา จำนวน 2 ฉบับ
             6)  หนังสือรับรองสถานภาพนักศึกษา ฉบับจริง ( กศน.อำเภอเป็นผู้ออกให้ โดยนักศึกษาส่งรูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป )

         3. คืนวันเดียวกัน ( เสาร์ที่ 8 พ.ย.) คนเลี้ยงหมู สุกรไทย ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  หาราคากลางหนังสือเรียน ปีงบ 58 ที่กำหนดโดยสำนัก กศน.ไม่เจอ ใครรู้บอกมั่ง มีความรูสึกว่าเมื่อปีก่อนๆ มีนะ
             ผมตอบว่า   ราคากลาง ( ราคาอ้างอิง ) วิชาบังคับ ส่วนกลางเพิ่งกำหนดเมื่อวันที่
9 ก.ค.57 นี้เอง ยังไม่มีการปรับใหม่ และไม่จำเป็นต้องปรับราคาใหม่ทุกปี ถ้ายังไม่มีฉบับใหม่ก็ใช้ฉบับเก่าไปเรื่อย ๆ
             ดูที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/bookprice.PDF


         4. เช้าวันที่ 11 พ.ย.57  ผมได้รับคำถามแปลกมาก ว่า  จะทำป้ายบุคลากร ติดรูปบุคลากรทุกคน  คนบนสุดคือ ผอ.  ต่ำลงมาคือ ข้าราชการ ( ครูผู้ช่วย )  ถามว่า ถัดลงมาจากข้าราชการ ควรเป็นลูกจ้างประจำ ( มี 1 คน ตำแหน่งพนักงานบริการ ) ก่อน หรือว่า ครูอาสา และครู กศน.ตำบล ก่อนลูกจ้างประจำ ?!

             คำถามนี้ บางคนอาจจะบอกว่า ไร้สาระ ทำให้สะเทือนใจกันเปล่า ๆ แต่บางคนอาจจะบอกว่า ก็น่าคิด
             ที่จริง ลูกจ้างประจำ มั่นคงกว่าพนักงานราชการ เพราะมีบำเหน็จบำนาญ เลื่อนขั้นปีละ 2 ครั้ง และไม่ต้องต่อสัญญาทุก 4 ปี    ส่วนพนักงานราชการก็มีศักดิ์ศรีตรงที่ ถ้าเป็นกลุ่มบริหารทั่วไปจะมีวุฒิ ป.ตรีขึ้นไป และตำแหน่งชื่อว่า ครู

             ผมตอบว่า   เรื่องทำป้ายบุคลากร ไม่มีข้อกำหนดในเรื่องนี้
            
- อาจดูที่อาวุโส ถ้าลูกจ้างประจำคนนั้นอายุมากกว่าพนักงานราชการ ก็ติดรูปเขาไว้ข้างบน แต่ถ้ามีพนักงานราชการอายุมากกว่าลูกจ้างประจำคนนั้น ก็ติดรูปลูกจ้างประจำไว้ข้างล่าง  หรือ
            
- ติดรูปตามสายงาน-โครงสร้างการบริหาร  ใครเป็นหัวหน้าก็อยู่ข้างบน ส่วนคนอื่นในกลุ่ม/ฝ่ายนั้น ก็รวมกันอยู่ข้างล่างในสายงานนั้น ไม่ว่าจะตำแหน่งอะไร

         5. วันที่ 12 พ.ย.57 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องผลกระทบจาก ETV ต่อการทำแผนการสอนของครู กศน. ( สรุปเรียบเรียงจากเอกสารต่างๆที่ลงในเว็บไซต์ สนง.กศน. ทั้งที่มีและไม่มีหนังสือนำส่ง )  ว่า

             1)  ถ้าแบ่งเนื้อหาแต่ละวิชาออกเป็น 3 ส่วนคือ
                  - ง่าย ( เรียนด้วยตนเอง )
                  - ยากปากลาง ( เรียนกับครู กศน.ประจำตำบล/ครูประจำกลุ่ม )
                  - ยากมาก ( เรียนกับครูสอนเสริม/ครู กศน.ประจำวิชา )
                  เนื้อหาที่นำไปสอนทาง ETV คือเนื้อหาสำหรับเรียนกับครูทั้งหมด ( ยากปานกลาง ) แต่เลือกเฉพาะวิชายาก 3 วิชาในระดับ ม.ปลาย ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ  ส่วนเนื้อหาที่ไม่มีสอนทาง ETV ของ 3 วิชานี้ คือเนื้อหาที่ง่าย กับยากมาก

             2)  ครู กศน.ต้องทำแผนการสอนระดับ ม.ปลาย ใน 3 วิชานี้ ทุกสัปดาห์ ( ถ้าวิชาใด กศน.ตำบลนั้นไม่มี นศ.ลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนนี้ ก็ไม่ต้องทำแผนวิชานั้น ไม่ต้องดู ETV ในช่วงเวลานั้น ใช้ช่วงเวลานั้นเรียนเรื่องอื่น )  วิชาละประมาณ 1 ชั่วโมง ให้สอดคล้องกับ ETV คือ เป็นแผนการสอนรายวิชา ไม่ใช่แผนการสอนแบบบูรณาการ และไม่ใช่สอนด้วยวิธีอื่น แต่เป็นการสอนด้วย วิธีสอนแบบใช้สื่อโทรทัศน์ซึ่งมีขั้นตอนการสอนใหญ่ ๆ 3 ขั้นตอน คือ
                  ขั้นที่ 1  นำเข้าสู่บทเรียน ดึงความสนใจ เตรียมผู้เรียนก่อนการรับชมสื่อโทรทัศน์ ( 7-15 นาที )
                  ขั้นที่ 2  ชมสื่อโทรทัศน์ ( 30 นาที )
                  ขั้นที่ 3  อธิบายเพิ่มในส่วนที่สังเกตเห็นว่านักศึกษาไม่เข้าใจ ทำกิจกรรม และวัดผลประเมินผลหลังการรับชมสื่อโทรทัศน์ ( 7-15 นาที )
                  ดูรายละเอียดแต่ละขั้นตอนที่ 
http://www.nfe.go.th/onie2014/index.php?option=com_attachments&task=download&id=293 

             3)  การที่ครู กศน.จะทำแผนการสอนโดยวิธีสอนแบบใช้สื่อโทรทัศน์ ล่วงหน้าตลอดภาคเรียน 18 ครั้ง นี้ได้ นั้น ETV จะต้องแจ้งล่วงหน้าว่าทั้ง 18 ตอน จะสอนเรื่องใดในแต่ละตอน ซึ่ง ETV แจ้งแล้ว ดูได้ที่
                  https://dl.dropboxusercontent.com/u/1090…/Compressrd/ETV.rar
             โดยมีกำหนดการสอนในทุกสัปดาห์ ดังนี้
             1) วิทยาศาสตร์
                  - วันอาทิตย์ 09:45-10:15 น.
                  - วันพุธ 12:05-12:30 น. ( ออกอากาศซ้ำ )
             2) ภาษาอังกฤษ
                  - วันอาทิตย์ 10:30-11:00 น.
                  - วันพฤหัสบดี 12:05-12:30 น. ( ออกอากาศซ้ำ )
             3) คณิตศาสตร์
                  - วันอาทิตย์ 11:15-11:45 น.
                  - วันศุกร์ 12:05-12:30น. ( ออกอากาศซ้ำ )

             ข้อสังเกต :  กศน.ตำบลจำนวนไม่น้อย มีครูเพียงคนเดียว ถ้ามีผู้ลงทะเบียนเรียนทั้ง 3 วิชานี้ ต้องสอนเฉพาะ 3 วิชานี้ในระดับ ม.ปลาย สัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง จะเหลือเวลาสำหรับสอนเนื้อหาอื่นในวิชานี้+วิชาอื่น+ระดับอื่น อีกเพียงสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง แต่ เนื้อหาอื่น+วิชาอื่น+ระดับอื่น มีอีกมากมาย จะบริหารจัดการอย่างไร

         6. ดึกวันที่ 11 พ.ย.57 ท่าน ผอ. นายจำรัส สุขประเสริฐ ลงเรื่องวุฒิปลอมในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ บอกว่า  ต้องระมัดระวัง-ตรวจสอบทุกครั้ง-ให้สถานศึกษานั้นๆแจ้งความ

             ผมสนใจเรื่องนี้ จึงถามวิธีการจากท่าน ผอ.เพิ่มเติม รวมทั้งถามกลุ่มวินัยและนิติการ กจ.กศน.ในวันที่ 13 พ.ย. ด้วย  ได้รับข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

             สมมุติว่ามีผู้นำใบวุฒิที่ระบุว่าจบ ม.ต้น จาก กศน.อ.วังใหญ่ ไปใช้สมัครเรียน ม.ปลาย ที่ กศน.อ.บางหุบ
             แล้ว กศน.อ.บางหุบ ส่งใบวุฒินั้นไปให้ กศน.อ.วังใหญ่ตรวจสอบ
             กศน.อ.วังใหญ่ตรวจสอบพบว่าเป็นวุฒิปลอม จึงตอบกลับไปยัง กศน.บางหุบว่า ใบวุฒินั้นไม่ได้ออกโดย กศน.อ.วังใหญ่

             1)  ใครจะเป็นผู้แจ้งความ ระหว่าง กศน.อ.วังใหญ่ กับ กศน.อ.บางหุบ
             2)  ผอ.จะมอบหมายให้นายทะเบียนหรือคนอื่น เป็นผู้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจได้ไหม

             3)  ถ้าไม่อยากยุ่งยาก ไม่แจ้งได้ไหม

             กลุ่มวินัยและนิติกรตอบว่า
             1)  ผู้มีสิทธิแจ้งความคือ ผู้เสียหาย
                  ผู้เสียหายคือ สถานศึกษาที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้ออกใบวุฒิปลอมนั้น ( ถูกปลอมแปลงเอกสาร )
                  ฉะนั้น ผู้ต้องแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดตามกฏหมายอาญา ข้อหาปลอมแปลงเอกสาร คือ กศน.อ.วังใหญ่ หากไม่ดำเนินการแจ้งความและรายงานให้สำนักงาน กศน.ทราบโดยด่วน ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีความผิด
                  ส่วน กศน.อ.บางหุบ
จะแจ้งความดำเนินคดี ข้อหาใช้ข้อความเท็จ ( ยังไม่จบแต่มาแจ้งเท็จว่าเรียนจบมาแล้ว ) หรือไม่ อยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหารสถานศึกษา
อาจแค่ไม่รับสมัครคนนั้นเข้าเป็น นศ.ม.ปลาย เท่านั้น ( ถ้าเป็น มสธ. เขาจะแจ้งความดำเนินคดีทุกราย )

             2)  ถ้าเป็นคดีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คดีอาญาแผ่นดิน สถานศึกษาจะแจ้งความเองไม่ได้ ต้องเสนอเรื่องผ่านจังหวัดให้ปลัดกระทรวงฯมอบอำนาจให้ ผอ.สถานศึกษาไปแจ้งความ   แต่ถ้าเป็นคดีอาญาแผ่นดิน เช่นการปลอมแปลงเอกสารของทางราชการนี้ ให้สถานศึกษาไปแจ้งความเองเลย แต่เนื่องจากโดยทั่วไปการแจ้งความเป็นอำนาจของปลัดกระทรวง ถ้า ผอ.มอบอำนาจให้คนอื่นไปแจ้งความ จะเป็นการมอบต่อช่วง ฉะนั้น ให้ ผอ.ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจด้วยตนเอง

             3)  ถ้าไม่แจ้งความ จะเป็นความผิดฐาน ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
                  นอกจากแจ้งความแล้ว กศน.อ.วังใหญ่ ยังต้องทำประกาศว่า ใบวุฒิฉบับนั้นไม่ได้ออกโดย กศน.อ.วังใหญ่ อีกด้วย

         7. มีผู้ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ 2 หรือ 3 ครั้งแล้ว ตอนดึกวันที่ 13 พ.ย.57 ก็มีอีก “Wichan Intarapalad” เขียนว่า สรุปแล้ว วุฒิปลอมหรือไม่อย่างไร จะรับสมัครผู้ที่มีวุฒิมาจาก รร.หนองชุมแสงหรือไม่อย่างไร กระทรวง ศธ. รับรองหรือไม่ ขอทราบอย่างชัดเจน

             ผมเสนอความเห็น ว่า
             ใบวุฒิเขาเป็นใบวุฒิของโรงเรียนหนองชุมแสงวิทยา ใบเดียวกับที่ให้นักเรียนปกติของเขาเลย โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนรัฐบาลสังกัด สพฐ. ปกติถ้าเราส่งกลับไปตรวจสอบที่โรงเรียนแล้วเขาตอบกลับมาว่าถูกต้อง ก็รับเข้าเรียน
             แต่ มีบางมหาวิทยาลัยเขาเห็นว่าใช้เวลาเรียนสั้นผิดปกติ เขาไม่รับสมัคร  ( ระเบียบของประเทศไทยตอนนี้ ยังไม่มีแบบที่ใช้เวลาเรียนต่ำกว่า 1 ภาคเรียน )
             ถ้าเราจะไม่รับในตอนนี้ ก็ต้องมีเหตุผล เช่นใช้เหตุผลเดียวกับมหาวิทยาลัยบางแห่งที่เขาไม่รับ ว่า ประเทศไทยยังไม่มีระเบียบให้ใช้เวลาเรียนต่ำกว่า 1 ภาคเรียน ( ดูจากวันเข้าเรียน กับวันอนุมัติจบหลักสูตร )  ไม่รับก็ดีเหมือนกัน จะได้เป็นการเตือน/ติงคนที่คิดจะไปเรียนแบบนี้อีก ให้เขาคิดว่าจบมาก็อาจเรียนต่อไม่ได้ การไม่รับอาจเป็นการช่วยจรรโลงสังคม
             ( แต่ ระยะหลัง ถ้าผู้เรียนคนใดต้องการ เขาก็ออกใบวุฒิแบบมีคะแนน
5
ภาคเรียนให้ได้ ถ้าใบวุฒิเป็นแบบถูกต้อง เราก็คงไม่มีเหตุผลที่จะไม่รับ )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย