วันเสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

1.การเปรียบเทียบคะแนน SAR 3 ปี ในการประเมินฯภายในภายนอก, 2.ชักธงชาติ หญิงชายใครซ้ายขวา, 3.การบรรจุครูผู้ช่วยต่างบัญชี, 4.พนักงานราชการลาคลอด, 5.1 ช่วงนี้มีกฏอัยการศึกทั่วประเทศ ได้เวลาทวีคูณไหม, 5.2 เงินเดือนเต็มขั้นจะข้ามไปแท่ง คศ.4 ไหม, 6.ไม่สามารถเก็บเงินค่าใช้บริการห้องสมุดฯได้, 7.การขอพระราชทานเครื่องราชฯข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และขอชั้นสายสะพายให้ผู้บริหารที่จะเกษียณ



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 28 ม.ค.58 สบาย สบาย กับ สกายนนท์ ครู ศรช. กศน.ข.ทวีวัฒนา เขียนในอินบ็อกซ์ผม ว่า  หาวิธีการคิดคะแนนของ sar ปี 54 ให้เป็นร้อยละไม่เจอ รบกวนช่วยบอกอีกครั้ง

             ผมตอบว่า   จะเปรียบเทียบคะแนน SAR 3 ปีใช่ไหม ถ้าใช่ จะเปรียบเทียบกันด้วยคะแนนรวมเพียงตัวเดียวเท่านั้น ถ้าคะแนนเต็มแต่ละปีเท่ากัน ก็นำคะแนนที่ได้มาเปรียบเทียบกันได้เลย ถ้าคะแนนเต็มไม่เท่ากันก็ต้องปรับสัดส่วนแปลงคะแนนให้คะแนนเต็มเท่ากันกันก่อน เช่น สมมุติว่า SAR ปี 54 คะแนนเต็ม 5 แต่ SAR ปี 55-56 คะแนนเต็ม 100 ก็ปรับให้คะแนนเต็มของทุกปี เป็น 5 ทั้งหมด หรือเป็น 100 ทั้งหมด  แต่ปกติจะแปลงเป็นคะแนนเต็ม 5 นะ เพราะจะดูด้วยว่าได้คะแนนถึง 4.5 จากคะแนนเต็ม 5 หรือไม่
             เปรียบเทียบย้อนหลัง 3 ปี ถ้าคะแนนสูงขึ้นทุกปี ( หรือถ้าคะแนนถึง 4.5 ขึ้นไปจากคะแนนเต็ม 5 แล้วก็ไม่จำเป็นต้องสูงขึ้นอีก ) จึงจะได้คะแนนตัวบ่งชี้นี้เต็ม  ประเด็นนี้
ถ้าเป็นการประเมินภายในจะอยู่ในตัวบ่งชี้ที่ 4.2 ถ้าเป็นการประเมินภายนอกของ สมศ. จะอยู่ในตัวบ่งชี้ที่ 8
             เช่น สมมุติว่า
             - ปี 54 คะแนนรวม SAR ได้ 4.2 จากคะแนนเต็ม 5 ( ไม่ต้องปรับ เพราะคะแนนเต็มเป็น 5 อยู่แล้ว )
             - ปี 55 คะแนนรวม SAR ได้ 92.00 จากคะแนนเต็ม 100 ก็เทียบสัดส่วนให้คะแนนเต็ม 5
                = (92 X 5) หารด้วย 100 จะได้ 4.6
             - ปี 56 คะแนนรวม SAR ได้ 90.00 จากคะแนนเต็ม 100 ก็เทียบสัดส่วนให้คะแนนเต็ม 5
                = (90 X 5) หารด้วย 100 จะได้ 4.5
             จะเห็นว่า คะแนน SAR 3 ปีย้อนหลัง คือ 4.2, 4.6 และ 4.5 แม้จะไม่สูงขึ้นทุกปี โดยปี 56 ต่ำกว่าปี 55 แต่ ปี 56 คะแนนถึง 4.5 อย่างนี้ก็ได้คะแนนเต็มในด้านพัฒนาการ ของตัวบ่งชี้นี้

             แต่.. ตอนทำ SAR ( ประเมินภายในโดยสถานศึกษาประเมินตนเอง ) ปี 57 จะเปรียบเทียบคะแนน SAR ย้อนหลัง 3 ปี คือปี 54-56 แตกต่างจากการประเมินภายนอก ถ้าคณะกรรมการเข้าประเมินในช่วงปีงบประมาณ 2558 นี้ จะเปรียบเทียบคะแนน SAR ย้อนหลัง 3 ปี คือปี 55-57 นะ
              ( เคยตอบเรื่องนี้ในข้อ 3 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/503537 )


         2. ดึกวันที่ 29 ม.ค.58 ครูปู ภัทรนันท์ สว่างวิจิตรา ถามบนไทม์ไลน์ผม ว่า  การเชิญธงชาติที่ถูกต้องถ้าหันหน้าเข้าหาเสาธงแล้ว ผู้หญิงยืนฝั่งไหน  เห็นตามโรงเรียนประถมผู้หญิงยืนด้านขวา แต่ลูกเสือผู้หญิงยืนซ้าย

             ผมตอบว่า   ผู้ที่ยืนด้านขวา จะเป็นผู้แก้เชือกจากเสาก่อนเริ่มชักธง และเป็นผู้ผูกเชือกกับเสาเมื่อชักธงเสร็จ โดยเมื่อเริ่มชักธง ธงจะอยู่กับผู้ที่ยืนด้านขวานี้ ผู้ที่ยืนด้านซ้ายจะเป็นผู้ชักธง ผู้ที่ยืนด้านขวาเป็นผู้ปล่อยเชือกตามเฉย ๆ
             กรณีที่ผู้ชักธงเป็นหญิงกับชาย ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้การชักหรือการแสดงธงชาติและธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ.2529 และ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการชักธงชาติในสถานศึกษา พ.ศ. 2547 ไม่ได้กำหนดว่าชายหรือหญิงจะต้องยืนอยู่ด้านใด  ชายจะยืนด้านซ้ายหรือขวาก็ได้ ถ้าหญิงยืนอยู่ด้ายซ้าย หญิงจะเป็นผู้ชักธง ถ้าหญิงยืนอยู่ด้านขวาหญิงจะเป็นผู้แก้เชือกและผูกเชือกที่เสา   แต่ สำหรับลูกเสือ กำหนดว่ากรณีที่ผู้ชักธงเป็นหญิงกับชาย ให้หญิงยืนด้านซ้าย ( เป็นผู้ชักธง ) ชายยืนด้านขวา


         3. วันที่ ( 30 ม.ค.58 ) ผมเรียนถามท่าน ผอ.กจ.ว่า  ตอนนี้มีอัตราว่างของสถานศึกษาทั่วไป 98 อัตรา และของศูนย์วิทย์ฯอีก 21 อัตรา แต่บัญชีครูผู้ช่วยศูนย์วิทย์ไม่เหลือผู้ขึ้นบัญชีค้างอยู่แล้ว จะนำผู้ขึ้นบัญชีทั่วไป ไปบรรจุที่ศูนย์วิทย์ฯได้หรือไม่   ท่าน ผอ.กจ.บอกว่า ไม่ได้  และจะไปบรรจุในบัญชีจังหวัดชานแดนใต้ก็ไม่ได้เช่นกัน  บรรจุข้ามกลุ่มไม่ได้   แต่ ข้าราชการเก่าทั้ง 3 กลุ่มนี้ สามารถขอย้ายข้ามกลุ่มได้ ( จะย้ายไปศูนย์วิทย์ฯ ต้องจบเอกวิทย์ )
             ฉะนั้นจึงจะเรียกบรรจุครูผู้ช่วยได้เพียง 2 บัญชี รวมประมาณ 98 คน แต่จะเท่าไรแน่ยังบอกไม่ได้ เพราะถ้ามี ขรก.ครูเก่า จากสถานศึกษาทั่วไปทั้งชายแดนใต้และจังหวัดอื่น ย้ายไปศูนย์วิทย์ ก็จะเกิดอัตราว่างในบัญชีทั่วไปกับบัญชีชายแดนใต้ รวมบรรจุได้มากกว่า 98 คน  ในทางกลับกัน ถ้ามี ขรก.ครูเก่าจากศูนย์วิทย์ย้ายมาสถานศึกษาทั่วไป ก็จะเหลืออัตราว่างสำหรับ 2 บัญชีนี้น้อยกว่า 98 อัตรา
             จำนวนตำแหน่งว่างที่จะเรียกบรรจุในบัญชีทั่วไปกับบัญชีชายแดนใต้ ก็ยังบอกไม่ได้เช่นกันว่าจะบรรจุได้บัญชัละอีกกี่คน รู้แต่ว่ารวมประมาณ 98 คน เพราะยังไม่รู้ว่าจะมีครูเก่าชายแดนใต้ย้ายมาจังหวัดทั่วไปกี่คน หรือมีครูเก่าจากจังหวัดทั่วไปย้ายไปชายแดนใต้กี่คน ( กลุ่มไหนย้ายออกมากกว่าย้ายเข้า ก็จะมีอัตราว่างในบัญชีนั้นมากขึ้น )
             การให้ขอย้ายครั้งนี้ บรรณารักษ์ขอโอนเป็นครูไม่ได้ เรื่องบรรณารักษ์โอนเป็นครูผ่านมาแล้ว ต้องรอครั้งต่อไป หนังสือฉบับนี้ถ้าบรรณารักษ์จะขอย้ายเปลี่ยนตำแหน่งต้องเป็นตำแหน่งในประเภทบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ด้วยกัน


         4. คืนวันที่ 28 ม.ค.58 นักสู้พันธุ์ข้าวเหนียว สมหมาย ดีทิพย์ ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  พนักงานราชการลาคลอด 45 วัน ได้รับค่าตอบแทนจากต้นสังกัด 45 วัน และได้รับค่าคลอดบุตรและค่าตอบแทนจากประกันสังคม ถ้ากลับเข้ามาทำงานจะได้รับค่าตอบแทนจากต้นส้งกัดหรือไม่ (ประมาณว่า 45 วันหลังที่กลับมาทำงานจะได้รับเงินเดือนไหม )

             ผมตอบว่า   แม้พนักงานราชการมีสิทธิลาคลอด 90 วัน แต่ถ้าลาหยุดเกิน 45 วัน จะไม่ได้รับเงินเดือนในส่วนที่เกิน ถ้าลาไม่เกิน 45 วัน ก็ได้รับเงินเดือนเต็มตามปกติทุกอย่าง  ส่วนของประกันสังคมก็ได้เพิ่มต่างหากอีกเดือนครึ่ง ( ประกันสังคมเขาไม่สนใจว่าจะลาหรือไม่ จะลากี่วัน จะได้เงินเดือนจากต้นสังกัดเท่าไร  ขอแค่คลอดบุตรคนที่ 1-2 เขาก็จ่ายให้เดือนครึ่งทุกคน )  เคยตอบ 3 ครั้งแล้ว

         5. เย็นวันที่ 4 ก.พ.58 Anupan Chaiwirach เขียนในอินบ็อกซ์ผม 4 ข้อ ผมขอนำข้อที่น่าสนใจมาเผยแพร่ต่อ 2 ข้อ คือ

             5.1  ประกาศกฏอัยการศึกเราคงได้รับวันทวีคูณนะ
                   ผมตอบว่า   เรื่องเวลาราชการทวีคูณนั้น สมัยก่อน กฎหมายบำเหน็จบำนาญกำหนดไว้ตายตัวว่าข้าราชการที่รับราชการในเขตประกาศใช้กฎอัยการศึก จะได้รับเวลาราชการทวีคูณ แต่ตอนหลัง พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2543 เปลี่ยนให้ ครม.เป็น ผู้กำหนดว่าจะให้ข้าราชการประเภทใดไดัรับเวลาราชการทวีคูณ  ถ้าข้าราชการประเภทใดไม่ได้เสี่ยงภัยอะไรในช่วงประกาศกฏอัยการศึกนั้น ครม.ก็ไม่ให้ได้รับเวลาราชการทวีคูณ
                   การประกาศกฏอัยการศึกในช่วงล่าสุดนี้ยังไม่ยกเลิกการใช้กฏอัยการศึก  ครม.ยังไม่ได้พิจารณากำหนดในเรื่องนี้ จึงยังไม่แน่นอนชัดเจนว่าข้าราชการประเภทใดจะได้รับเวลาราชการทวีคูณ
                   อย่างไรก็ตาม  การคำนวณบำเหน็จบำนาญของผู้เข้า กบข. ให้ใช้เวลาราชการมาคำนวณไม่เกิน 35 ปี เวลาทวีคูณจึงไม่มีความหมายถ้ารวมแล้วเกิน 35 ปี  ( ผู้ที่อายุราชการเกิน 35 ปี โดยเฉพาะตำรวจทหารที่มีเวลาราชการทวีคูณมาก จึงต้องการ Undo กลับไปใช้ พรบ.บำเหน็จบำนาญเดิม )

             5.2  เงินเดือนตันมาปีนึงแล้ว จะข้ามไปแท่ง คศ.4. ไหม
                   ผมตอบว่า   ใช่  เรื่องเงินเดือนเลื่อนไหลทะลุแท่งนี้ กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำ หรือสูงกว่าขั้นสูงของอันดับ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 21 ธ.ค.55 มีผลบังคับใช้แล้ว มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554  โดยมีผลให้ ครูที่เงินเดือนถึงขั้นสูงสุดของอันดับ (ตัน) คศ.2 คศ.3 หรือ คศ.4 แล้วแต่กรณี  จะได้รับการเลื่อนเงินเดือนต่อไปได้โดยให้ไปอาศัยรับเงินเดือนในอันดับถัดไป ได้อีกหนึ่งอันดับ   ตัวอย่างเช่น ข้าราชการครูที่เงินเดือนตันอันดับ คศ.3 ที่อัตรา 53,080 บาทแล้ว จะได้เลื่อนเงินเดือนสูงขึ้นต่อไปได้อีก โดยอาศัยเบิกในอันดับ คศ.4 อัตรา 53,820 บาท และเลื่อนต่อไปได้จนถึงขั้นสูงของอันดับ คศ.4 คืออัตรา 62,760 บาท เป็นต้น
                   ( แต่ วิทยฐานะ และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ยังคงเป็นไปตามอันดับเงินเดือนเดิม )

         6. วันที่ 4 ก.พ.58 Kapoom Ka ถามในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  เมื่อปี 2552 มีหนังสือที่ ศธ 0210.122/992 เรื่องการเก็บเงินห้องสมุด ทำให้ห้องสมุดต้องยกเว้นการเก็บเงินค่าสมาชิกรายปีแก่ประชาชนทุกคน  อยากทราบว่าในขณะนี้มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่ แล้วมีหนังสือเรื่องนี้ไหม  เนื่องจากผู้บริหารต้องการความชัดเจนในการเก็บค่าสมาชิก แต่หาในเน็ตไม่เจอ หาได้แต่เลขที่หนังสือ

             ผมตอบว่า   ขณะนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เป็นหนังสือราชการซักซ้อมความเข้าใจจากสำนักฯ ที่ต้องปฏิบัติตาม








         7. เย็นวันที่ 5 ก.พ.58 Anupan Chaiwirach ถามผมในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  ผู้บริหารที่เงินเดือนเต็มขั้น คศ.3 และจะเกษียณ  จะขอเครื่องราชฯชั้นสายสะพายได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   ได้  ช่วงนี้ถึงเวลาขอพอดี ให้จังหวัดส่งเรื่องถึงสำนักงาน กศน.ภายในวันที่ 31 มี.ค.58  ตามหนังสือแจ้งที่  http://www.nfe.go.th/onie2014/index.php?option=com_attachments&task=download&id=673

             - พนักงานราชการที่ได้เครื่องราชฯชั้นที่ 5 ( บ.ช. : เบญจมาภรณ์ช้างเผือก ) มาครบ 5 ปี นับถึงวันที่ 5 ธ.ค.58 ปีนี้ให้ขอพระราชทานชั้นที่ 4 ( จ.ม. : จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย )

             - ตามหนังสือแจ้งของสำนักงาน กศน. ในส่วนของการขอเครื่องราชฯชั้นสายสะพาย ( ป.ม. ) สำหรับระดับ 8 ( คศ.3 ) ให้ขอได้เฉพาะผู้บริหาร ที่เงินเดือนเต็มขั้น ได้ ท.ช.มาแล้ว 5 ปี และเป็นปีที่เกษียณหรือจะเกษียณ เท่านั้น   ( เดิม ผู้บริหาร และครู คศ.3 ที่ไม่ใช่ปีที่จะเกษียณ ก็ขอได้ แต่ภายหลังเปลี่ยนแปลงตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0508/ท1330ลงวันที่ 3 มี.ค.57 ที่แจ้งว่า  คศ.3 ขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย ได้เฉพาะ ผอ.ที่จะเกษียณเท่านั้น  ฉะนั้น ถ้าไม่ใช่ คศ.4 หรือไม่ใช่ ผอ.ที่จะเกษียณ ก็ไม่ต้องขอเครื่องราชฯชั้นสายสะพายไปอีกแล้ว )


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย