วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

1.ทำไมระเบียบใหม่ เรียนจบ ป.บัณฑิต ต้องสอบกับคุรุสภาเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูอีก, 2.เทคนิคเล็กๆน้อยๆ ในการทวงงาน, 3.รับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยไม่มีหนังสือส่งตัวจากเขตพื้นที่การศึกษา ผิดไหม โทษคืออะไร, 4.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู, 5.ที่ไหนเผยแพร่ แสดงถึงความโปร่งใส, 6.พนักงานราชการเสียชีวิตวันที่ 9 ม.ค. จะได้เงินเดือน ม.ค.กี่วัน เท่าไร, 7.พนักงานราชการมีสิทธิโต้แย้งผลการประเมินไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. จากการที่ ผมโพสต์ในเฟซบุ๊คว่า ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 การเรียนเพื่อเป็นเส้นทางให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มีเพียง 2 กรณี คือ
             1)  เรียนปริญญาทางการศึกษาหลักสูตรใหม่ ( หลักสูตร 5 ปี ) ในสถาบันที่คุรุสภารับรอง
             2)  สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นครูอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมีเพียงหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเช่น ครูจ้างสอน ครู ศรช. ใหเรียน ป.บัณฑิต ตามหลักสูตรที่คุรุสภากำหนดและอนุญาตให้สถาบันการศึกษาบางแห่งเปิดสอนตามโควตาที่กำหนด
              ( ที่เหลือ 2 กรณีเพราะ มีผู้เรียนจบวิชาครูจำนวนมากล้นตลาดตกงานเป็นแสนคนแล้ว ผู้ที่เรียนทางอื่นก็ยังสามารถเป็นครูได้ด้วยตามกรณีที่ 2 นี้ )

             ปรากฏว่า คืนวันที่ 10 ก.พ.58 ผอ.กศน.อำเภอหนองเสือ จ.ปทุมธานี โพสต์ต่อข้อความของผม ว่า  เรียน ป.บัณฑิต ของ มทร.ธัญบุรี (ปีล่าสุดนี้ที่คุรุสภากำหนดให้เปิดสอน) ก็ต้องเอาวุฒิไปสอบทั้ง 9 วิชาเหมือนไม่ได้เรียน...ไม่เข้าใจว่า แล้วเสียเวลาไปเรียน ไปฝึกสอนทำไม ถ้าเรียนแล้วไม่ได้ใบประกอบวิชาชีพ... และ การฝึกสอน บังคับต้องฝึกสอนโรงเรียนในระบบเท่านั้น...ทั้งๆ ที่ทำหนังสือแย้งไปแล้วว่า กศน.อำเภอก็เป็นสถานศึกษา...ก็ไม่อนุญาต...

             ผมตอบว่า  ล่าสุดนี้ ถ้าเริ่มเรียนหลังปีการศึกษา 2556 แม้จะเรียนจบจาก 2 กรณีนี้แล้ว ก็ต้องสอบกับคุรุสภาอีกเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู  ลักษณะเดียวกับวิชาชีพอื่น ๆ เช่น เรียนจบแพทย์-พยาบาล หลักสูตร 5-6 ปีแล้ว ก็ต้องสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภาอีก  จบหลักสูตรวิศวกรรมโยธาก็ต้องสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสาขาวิชาวิศวกรรมโยธาอีก เป็นต้น  ( แพทย์-พยาบาลยังไม่ล้นตลาด เพราะแพทยสภาไม่อนุญาตให้คนเรียนทางอื่นมาเป็นแพทย์-พยาบาล )
             แต่ การเรียน ป.บัณฑิตอย่างที่ว่า กับการเรียนหลักสูตร 5 ปี นี้ การสอบรับใบอนุญาต ไม่เหมือนกับการสอบ 9 มาตรฐาน  คงจะไม่ได้แยกสอบ 9 ฉบับ  ( เรื่องนี้เพิ่งกำหนดใหม่ ยังไม่มีการสอบครั้งแรก )  ที่กำหนดใหม่อย่างนี้เพราะมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งสอนไม่ได้มาตรฐานด้วย

             ส่วนการฝึกสอน  จริง ๆ แล้ว ฝึกสอนในสถานศึกษาที่ผ่านการประเมินฯรับรองจาก สมศ.แล้วได้  คือฝึกสอนที่ กศน.ได้  แต่. การฝึกสอนระหว่างการเรียน ป.บัณฑิต ตามหลักสูตรนี้ อาจารย์ต้องมานิเทศการฝึกสอน ซึ่งการสอนของครู กศน.ไม่สะดวกในการมานิเทศ เพราะครูเราสอนจริงสัปดาห์ละไม่ครบตามเกณฑ์และมักจะสอนเฉพาะช่วงเช้าวันอาทิตย์ โดยวันอาทิตย์อาจารย์เขาต้องสอนในมหาวิทยาลัย มานิเทศไม่ได้  และ กศน.เราก็ไม่เคร่งครัดเรื่องแผนการสอน ไม่ค่อยตรงกับการสอนจริง  ต่างจากโรงเรียนในระบบที่อาจารย์สะดวกในการไปนิเทศได้ในวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลาใดก็ได้  มหาวิทยาลัยบางแห่งจึงกำหนดให้ฝึกสอนเฉพาะโรงเรียนในระบบ   ( คุรุสภากำหนดโควตาให้แต่ละมหาวิทยาลัยเปิดสอน ป.บัณฑิต โดยดูจากจำนวนอาจารย์ที่จะไปนิเทศนี่แหละ ถ้าจำไม่ผิด มหาวิทยาลัยใดมีอาจารย์นิเทศ 1 คน คุรุสภาจะให้เปิดรับครูเรียน ป.บัณฑิตได้ 10 คน )

         2. คืนวันที่ 12 ก.พ.58 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ทำไมทวงงานครู กศน.ตำบลให้ส่ง กศน.4 และคำขอจบ ยากมาก ฉันก็ไม่มีอำนาจ แค่แจ้งในที่ประชุมและทวงในที่ประชุมเท่านั้น กลัวส่งงานไม่ทัน

             ผมตอบว่า
             - ควรกำหนดให้ส่งแต่เนิ่น ๆ เช่น ปกติควรให้ส่งวันที่ 3 เราก็กำหนดให้ส่งวันที่ 1 เลย
             - พอวันที่ 2 ก็ทวงด้วยวาจาทันทีเลย
             - วันที่ 4 ก็ทวงด้วยวาจาอีกครั้ง พร้อมแจ้งเหตุผลว่าทำไมต้องรีบส่ง
             - ประมาณวันที่ 6-7 ก็ทำบันทึกให้ ผอ.เป็นผู้ลงนามทวงเป็นลายลักษณ์อักษร ในบันทึกนี้ระบุด้วยว่าใครส่งทันกำหนดแล้วบ้าง
             - และทำบันทึกอย่างนี้อีกทุกประมาณ 3-5 วัน จะกี่วันแล้วแต่ความเร่งด่วน/ความสำคัญของแต่ละเรื่อง
             - รวบรวมต้นฉบับบันทึกนี้ให้ ผอ.ไว้ใช้ประกอบการพิจารณาให้รางวัล/ความดีความชอบ

         3. คืนวันที่ 13 ก.พ.58 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า
             1)  การที่กลุ่มส่งเสริมการศึกษาฯ ของสถานศึกษา (กศน.อำเภอ) รับนักเรียนที่ออกจากในระบบ ที่อายุยังไม่ถึง 15 ปี โดยไม่มีหนังสือส่งตัวจากเขตพื้นที่การศึกษานั้น สถานศึกษาที่รับนักเรียนคนนั้นมีความผิดไหม และโทษคืออะไร มีกำหนดไว้ในข้อปฏิบัติหรือระเบียบใดๆไหม
             2)  โรงเรียนให้เด็กต่ำกว่า 15 ปีออกจากการศึกษาภาคบังคับ ไม่ผิดระเบียบหรือกฎหมายเลยหรือ

             ผมตอบว่า
             1)  การรับนักเรียนที่ออกจากโรงเรียนในระบบ ที่อายุยังไม่ถึง 15 ปี โดยไม่มีหนังสือส่งตัวจากเขตพื้นที่การศึกษา ถือว่าทำผิดข้อกำหนด/นโยบาย ที่สั่งการเป็นหนังสือราชการ
                  ข้อกำหนด/นโยบายที่สั่งการเป็นหนังสือราชการนี้ ผมเคยนำมาลงบ่อยแล้ว เช่น ใน
                  - ข้อ 7 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/11/youtube.html  ( มีหนังสือราชการฉบับนี้ )
                  - ข้อ 6 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/09/15000.html
                  ต้องบอกให้ผู้ปกครองพาเด็กไปขอหนังสือส่งตัวที่เขตพื้นที่การศึกษาที่เด็กมีทะเบียนบ้านอยู่  ( ที่อยุธยา ไปขอที่เขต
2 เขาทำหนังสือให้ทุกครั้ง  แต่เขต 1 ไม่อนุญาต  เราอาจให้เขานำหนังสือราชการที่แจ้งเรื่องนี้ไปด้วยก็ได้ เพราะบางเขตก็เข้าใจ บางเขตก็ไม่เข้าใจ )
                  กรณีเด็กขอลาออกมาเรียน กศน. เนื่องจากไม่ส่มารถเรียนในโรงเรียนได้ แต่โรงเรียนไม่ให้ออกโดยแจ้งว่าอายุยังไม่ถึงเกณฑ์  โรงเรียนนั้นอาจไม่รู้เรื่องตามหนังสือแจ้งฉบับนี้ เราอาจจะให้นักเรียนและผู้ปกครองนำหนังสือแจ้งฉบับนี้ไปให้โรงเรียนศึกษา  หรือให้ผู้ปกครองพานักเรียนไปแจ้งเขตพื้นที่การศึกษา ว่าไม่สามารถเรียนในโรงเรียนได้เพราะอะไร  ถ้าเขตพื้นที่การศึกษาเขาพิจารณาเห็นว่ามีเหตุผลไม่สามารถเรียนในโรงเรียนได้จริง เขาจะประสานงานกับโรงเรียนให้อนุญาตให้ลาออก และเขาจะทำหนังสือส่งตัวมาเรียน กศน.

                  แต่ถ้าเป็นคนต่างด้าว เรารับได้โดยไม่ต้องผ่านเขตพื้นที่การศึกษา เพราะเขตพื้นที่การศึกษาจะดูแลเฉพาะคนไทยที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในเขตพื้นที่ฯ นั้น

             โทษของการทำผิดข้อกำหนด/นโยบายที่สั่งการเป็นหนังสือราชการ อยู่ที่ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปและผู้กำหนดนโยบายที่สั่งการนั้น ว่าจะทำอย่างไร ( ต้องพิจารณาจากข้อมูลต่าง ๆ )

             2)  การที่ เขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาอนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ออกจากโรงเรียนในระบบ และส่งมาเรียนภาคบังคับต่อที่สถานศึกษา กศน.โดยเร็ว นั้น โรงเรียนไม่ผิด เพราะเด็กยังเรียนภาคบังคับอยู่

         4. คืนวันที่ 19 ก.พ.58 ผมโพสต์เผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ว่า 
             ข้อ 4.2 เพิ่งเพิ่มขึ้นมาจากกรณีของอาชีวศึกษา  เดิมมีแต่ข้อ 4.1

             เดิม ข้อ 1) ถึง 3) ใช้สมัครสอบบรรจุครูผู้ช่วยได้  ส่วนข้อ 4.1 ใช้สอนในสถานศึกษาได้ แต่ใช้สมัครสอบบรรจุครูผู้ช่วยไม่ได้

             ตอนนี้ ทั้ง 4.1 และ 4.2 ใช้สมัครสอบบรรจุครูผู้ช่วยได้แล้ว แต่เป็นได้แค่ครูผู้ช่วย ไม่สามารถเป็นครู คศ.1
             เขาใช้คำว่า "เมื่อจะบรรจุและแต่งตั้งครูผู้ช่วย ให้ดำรงตำแหน่งครู"  ไม่ใช่ "เมื่อจะบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ครูผู้ช่วย"  หมายถึงบรรจุเป็นครูผู้ช่วยก็ได้ แต่ในระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม 2 ปี ต้องพัฒนาตนเองให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มิฉะนั้นจะเลื่อนไปรับเงินเดือนแท่ง คศ.1 ไม่ได้

             ( ก.ค.ศ. มีมติให้ปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย คุณสมบัติเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งในข้อ 2 เป็น “มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน” ทั้งนี้เมื่อได้รับการบรรจุและแต่งตั้งแล้ว จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเท่านั้น )


  


         5. เย็นวันเสาร์ที่ 14 ก.พ.58 Bee Sukanya กศน.เขตหลักสี่ ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  มีที่ไหนเปิดรับสมัครตำแหน่งพนักงานราชการบ้างไหม

             ผมร่วมตอบว่า   ถ้าเป็นพนักงานราชการสังกัดหน่วยงาน กศน. แต่ละหน่วยงาน/จังหวัด จะดำเนินการประกาศรับสมัครกันเอง ไม่มีกำหนดที่แน่นอน ที่ไหนมีอัตราว่างเมื่อไร ก็จะประกาศรับสมัคร เราต้องคอยติดตามสอบถามจากที่ต่างๆ  แต่หลายแห่งจะนำประกาศมาลงในเว็บไซต์สำนักงาน กศน.ด้วย  ถ้าที่ไหนนำประกาศมาเผยแพร่อย่างนี้ ก็แสดงถึงความโปร่งใสในการดำเนินการได้ระดับหนึ่ง  เข้าไปดูได้ที่  http://www.nfe.go.th/onie2014/  ( หาดูที่เมนู รับสมัคร/ประกาศรายชื่อด้านล่าง )

         6. วันที่ 18 ก.พ.58 Korkaew Wichuda ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ครู กศน.ตำบลเสียชีวิตวันที่ 9 ม.ค. จะเบิกจ่ายค่าตอบแทนเดือน ม.ค. เท่าไร

             ครั้งแรกผมตอบผิดว่า ให้คำนวณ 9 วัน ไม่หักวันหยุด โดยใช้ 9 คูณกับค่าตอบแทนเต็มเดือน แล้วหารด้วยจำนวนวันทั้งหมดในเดือน ม.ค. คือ 31  ( ถ้าเสียชีวิตในเดือน ก.พ.นี้จะหารด้วย 28 )
             แต่ผมถามกลุ่มงานคลัง กศน. เพื่อความแน่ใจอีกครั้ง  ได้คำตอบที่ถูกต้องจากกลุ่มงานคลังว่า  ถ้ามรณบัตรระบุว่าเสียชีวิตวันที่ 9 จะเบิกจ่ายได้ 8 วัน แม้วันที่ 9 จะมาทำงานก่อนเสียชีวิตก็ตาม  ( ไม่ว่าวันที่ 8 จะเป็นวันหยุดหรือไม่ ก็เบิกให้ 8 วัน )


         7. เช้าวันที่ 19 ก.พ.58 ว่าวจะลอยขึ้นสูงได้ เพราะเหตุที่ต้านลม ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ในการประเมินครู กศน.ตำบล  คนที่ถูกประเมินจะต้องได้เซนต์รับทราบคะแนนการประเมินของตนเองใช่ไหม ถ้าไม่พอใจในคะแนนประเมิน ผู้ถูกประเมินมีสิทธิ์โต้แย้งได้ใช่ไหม

             ผมตอบว่า   ตามระเบียบ ข้อ 7 ( 3.4 ) กำหนดให้ "แจ้งผลการประเมินโดยตรงแก่พนักงานราชการ และให้คำปรึกษาแนะนำแก่พนักงานราชการเพื่อแก้ไขปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น"   ( ในแบบประเมินจะมีส่วนที่ให้ผู้รับการประเมิน ลงลายมือชื่อ "ได้รับทราบผลการประเมินแล้ว" )
             ดูระเบียบ ( ประกาศ ) ได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/1090140…/PDF/evalPRG.pdf
             ส่วนการ "โต้แย้ง" นั้น  ทุกเรื่อง ถ้ามีเหตุผลสมควร ก็โต้แย้งได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย