วันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

1.เรื่องน่าสนใจที่หลายคนยังไม่รู้ (ซื้อพัสดุเกินห้าแสน อำเภอเป็นผู้ดำเนินการ-ให้จ้างเหมาบริการไปประชุมอบรมไม่ได้-การประดับธงชาติอาเซียน), 2.วิชาเลือกที่เรียนได้ทุกระดับต้องแยกข้อสอบหรือไม่, 3.การขอเครื่องราชฯของ ขรก.ครู, 4.ให้ครู กศน. หยุดวันศุกร์-เสาร์ แทนการหยุดวันเสาร์-อาทิตย์ ได้หรือ ?, 5.พนักงานราชการขอใช้รถส่วนตัวไปราชการ, 6.จบ มสธ. ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูไม่ได้แล้ว, 7.ครู ศรช. ครูสอนคนพิการ เบิกค่าคุมสอบปลายภาคได้ไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. ระหว่างการอบรม "ยุทธศาสตร์และกระบวนทัศน์การจัดการเรียนการสอนของ กศน.ตำบล"  ของ กศน.พระนครศรีอยุธยา ที่ เฮฟเว่นแควรีสอร์ท กาญจนบุรี 4-6 ก.พ.58  ในช่วงก่อนพักเที่ยงวันที่ 5 ก.พ. คุณดำรงค์ศักดิ์ ว่าวกำเหนิด อดีตเจ้าพนักงานพัสดุ สป.ศธ. มีความเชี่ยวชาญด้านการพัสดุมากที่สุดคนหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันเกษียณแล้วมาเป็นที่ปรึกษาที่ สนง.กศน.จ.พระนครศรีอยุธยา  ได้มาแนะนำเรื่องน่าสนใจในที่ประชุม เช่น

             - การซื้อการจ้างพัสดุของ กศน.อำเภอ/เขต แม้วงเงินจะเกินที่ได้รับมอบอำนาจ 500,000 บาท. กศน.อำเภอ/เขต ก็ยังเป็นผู้ดำเนินการได้ เพียงแต่ในขั้นตอนขออนุมัติหลักการต้องส่งเรื่องต่อไปให้จังหวัดอนุมัติ  จากนั้น ถ้าจังหวัดลงนามตั้งบุคลากรอำเภอเป็นกรรมการและให้ยื่นซองที่อำเภอ  กศน.อำเภอ/เขตก็ดำเนินการต่อ  ถ้าผลการสอบราคาได้ราคาน้อยกว่าวงเงิน โดยไม่เกิน 500,000 บาท กศน.อำเภอ/เขตก็อนุมัติจัดซื้อจัดจ้างเองเลย  แต่ถ้าผลการสอบราคาจะเสนอซื้อ/จ้างในราคาเกิน 500,000 บาท ก็ส่งไปขออนุมัติที่จังหวัดอีกครั้ง

             - การจ้างเหมาบริการ ปกติจะให้ผู้รับจ้างไปประชุมอบรมไม่ได้ ลักษณะเดียวกับการจ้างพิมพ์หนังสือเรียน ไม่ถือว่าผู้รับจ้างเป็นบุคลากรของส่วนราชการ จะให้ผู้รับจ้างพิมพ์หนังสือเรียน ไปประชุมอบรมเรื่องการพิมพ์หนังสือเรียนหรือเรื่องอื่น โดยเบิกค่าเบี้ย เลี้ยงที่พักค่าเดินทางจากส่วนราชการ ไม่ได้  เช่น การจ้างบรรณารักษ์จ้างเหมาบริการ ต้องเลือกจ้างจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถในงานบรรณารักษ์อยู่แล้ว จ้างมาให้ทำงานเลย ไม่ใช่การฝึกงาน จะส่งไปประชุมอบรมเรื่องบรรณารักษ์อีกไม่ได้ จะส่งไปประชุมอบรมเรื่องอื่นก็ไม่ได้ เพราะอยู่นอกเหนือบทบาทหน้าที่ .. แต่.. ถ้ามีเหตุผล เช่น ส่วนกลางกำหนดแนวปฏิบัติมาให้ห้องสมุดทุกแห่งปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน จึงต้องจัดอบรมชี้แจงแนวปฏิบัติ เป็นต้น.. ซึ่ง จ.พระนครศรีอยุธยาก็ทำโครงการให้บรรณารักษ์ไปประชุมอบรมในลักษณะนี้แล้ว กำลังจะจัดประชุมอบรมในไม่ช้านี้
                ผู้รับจ้างเหมาบริการจะเบิกค่าปฏิบัติงานนอกเวลาราชการได้ก็ต่อเมื่อกำหนดในสัญญาจ้างไว้ชัดเจนว่าให้เบิกได้อย่างไร   ( ข้อมูลบางส่วนนี้ผมสอบถามคุณดำรงศักดิ์เพิ่มเติมหลังการแนะนำในที่ประชุม )

             - ธงชาติของทุกประเทศเป็นของสูง เป็นที่เคารพ มีศักดิ์ศรี แสดงถึงความเป็นเอกราช  การชักธงชาติของประเทศอื่นขึ้นสู่ยอดเสานอกอาคาร ในแต่ละประเทศจะมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ที่หน้าสำนักงานสหประชาชาติ  ส่วนในที่อื่น ๆ เช่นสถานศึกษาต่าง ๆ สามารถประดับธงชาติประเทศอื่นเป็นครั้งคราวได้ในระหว่างการประชุมหรือการจัดงานจัดกิจกรรม เช่นในวันอาเซียน 8 สิงหาคมของทุกปี เป็นต้น
                การติดตั้งหรือปักธงอาเซียน ต้องเรียงลำดับธงชาติสมาชิกอาเซียนตามตัวอักษรในภาษาอังกฤษของชื่อประเทศ และต่อด้วยธงอาเซียน ดังนี้
                1)  Brunei Darussalam บรูไน ดารุสซาลาม
                2)  Cambodia กัมพูชา
                3)  Indonesia อินโดนีเซีย
                4)  Lao ลาว
                5)  Malaysia มาเลเซีย
                6)  Myanmar พม่า
                7)  Philippines ฟิลิปปินส์
                8)  Singapore สิงคโปร์
                9)  Thailand ไทย
               10)  Vietnam เวียดนาม
               11)  ธงอาเซียน








         2. วันที่ 6 ก.พ.58 Nana Veo ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  การออกข้อสอบวิชาเลือก ถ้าวิชาที่ใช้รหัสเดียวกัน 3 ระดับ การออกข้อสอบจำเป็นต้องทำชุดเดียวกันแล้วนำไปสอบทั้ง 3 ระดับเลยมั้ย หรือว่าข้อสอบวิชาเดียวกันเช่นรหัส อช02013 ออกไม่เหมือนกัน
                ผมตอบว่า   รหัสเดียวกัน คือวิชาเดียวกัน ทำข้อสอบชุดเดียวกันได้ ดีกว่าสะดวกกว่า ถ้าอยากทำไม่เหมือนกันก็ได้ ไม่ผิด แต่ไม่สะดวก  จะอ้างว่า ม.ปลายเรียนยากกว่านั้น ไม่จริง ก็มันเป็นวิชาเดียวกัน ถึงจะระดับประถมก็ต้องเรียนทั้งเล่ม ( เล่มเดียวกัน )   การออกข้อสอบที่ถูกต้อง ต้องออกให้ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหลักสูตร จะบอกว่าระดับประถมเรียนในบทแรก ๆ ระดับ ม.ต้น เรียนกลางๆเล่ม ระดับ ม.ปลาย เรียนบทท้ายๆเล่ม ก็แสดงว่าจัดการเรียนการสอนในแต่ละระดับไม่ครบถ้วนตามเนื้อหาหลักสูตร
                คนละอย่างกับวิชาที่เนื้อหาคล้ายกัน แต่รหัสต่างกัน เช่น พค11001 คณิตศาสตร์, พค21001 คณิตศาสตร์, พค31001 คณิตศาสตร์  3 วิชานี้ถึงแม้จะมีเนื้อหาซ้ำกันเกิน 50 % แต่ก็ต่างกันบ้าง  เมื่อรหัสต่างกันก็เป็นคนละวิชากัน ข้อสอบอาจจะเหมือนกันได้เพียงบางข้อ
                วิชาที่รหัสเดียวกัน ถ้าใช้ข้อสอบชุดเดียวกันทั้ง 3 ระดับ เวลาสอบทั้งสามระดับในวิชานี้ ต้องสอบในเวลาเดียวกันนะ

         3. วันเดียวกัน ( 6 ก.พ.) December Mju ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  เคยเป็นพนักงานราชการ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้น บ.ช. ประกาศเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2555 ต่อมาสอบได้บรรจุเป็นข้าราชการครูเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นต่อไปถ้าจะทำการขอ จะขอชั้นอะไร  สอบถามเอาไว้ก่อน

             ผมตอบว่า   ถ้าบรรจุเป็นครูผู้ช่วย ก็เหมือนกับครูผู้ช่วยคนอื่นๆคือ ให้รอให้บรรจุเป็น ขรก.ครูครบ 5 ปีจึงขอ ( เริ่มนับตั้งแต่วันบรรจุเป็นครูผู้ช่วย )  โดยถ้าในวันที่บรรจุครบ 5 ปีนั้น เป็นอันดับ คศ.1 ก็ขอ ต.ม.  ถ้าในวันที่บรรจุครบ 5 ปีนั้น เป็นอันดับ คศ.2 แล้ว ก็ขอ ต.ช.

         4. วันที่ 4 ก.พ.58 มีผู้ถามผมว่า  ให้ครู กศน.หยุดวันศุกร์-เสาร์ แทนการหยุดวันเสาร์-อาทิตย์ ได้หรือไม่

             เรื่องนี้  ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2502 ข้อ 3 กำหนดว่า  ถ้าส่วนราชการใดจะใช้ระเบียบพิเศษนอกเหนือไปจากที่กล่าว ( ระเบียบที่กล่าว คือ เวลาทำงานตั้งแต่เวลา 08.30 น. ถึง 16.30 น. หยุดกลางวันเวลา 12.00 น. ถึง 13.00 น. และวันหยุดราชการประจำสัปดาห์คือวันเสาร์ และวันอาทิตย์หยุดราชการเต็มวันทั้ง 2 วัน )  เพื่อความสะดวกให้ทำได้ แต่เมื่อคำนวณเวลาทำงานรวมกันในสัปดาห์หนึ่ง ๆ แล้ว ต้องเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนรวมเวลาราชการในสัปดาห์หนึ่ง ๆ ดังกล่าว ( ไม่น้อยกว่า 35 ชั่วโมง ) และสำหรับโรงเรียน ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
             ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการของสถาน ศึกษา พ.ศ.2547 ข้อ 5 วรรคสอง กำหนดว่า  สถานศึกษาใดมีความจำเป็นต้องกำหนดเวลาทำงานหรือวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้สถานศึกษาเป็นผู้กำหนด และรายงานส่วนราชการต้นสังกัดทราบ ทั้งนี้ ต้องมีเวลาทำงานไม่น้อยกว่า 35 ชั่วโมง” ( ไม่นับรวมเวลาหยุดพักวันละ 1 ชั่วโมง ) ถ้าจะหยุดวันศุกร์เต็มวัน วันอาทิตย์ต้องทำงานเต็มวัน ( 8.30 - 16.30 น.)   ดูระเบียบกระทรวงศึกษาธิการฉบับนี้ได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/1090140…/PDF/stopday.pdf

             จากระเบียบดังกล่าว อนุโลมได้ว่า ถึงแม้หน่วยงาน/สถานศึกษาจะยังหยุดราชการในวันเสาร์อาทิตย์ แต่ก็สามารถให้บุคลากรบางคนหยุดในวันอื่นแทนวันเสาร์อาทิตย์ได้  ซึ่งโดยปกติถ้าหยุดในวันศุกร์เสาร์เต็มวัน วันอาทิตย์ก็ต้องสอนเต็มวัน ถ้าวันอาทิตย์สอนครึ่งวัน วันศุกร์ก็หยุดเพียงครึ่งวัน

         5. เย็นวันที่ 9 ก.พ.58 Sura Phong ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  พนักงานราชการขออนุญาตเดินทางไปราชการโดยรถยนต์ส่วนตัวได้ไหม..มีระเบียบไหม..

             เรื่องนี้  เคยตอบไม่ต่ำกว่า 2 ครั้งแล้ว เช่นในข้อ 2 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/06/2-2-2.html ว่า  ได้ แม้ไม่มีข้าราชการไปด้วย  อยู่ที่ผู้มีอำนาจอนุมัติจะพิจารณาอนุมัติตามความจำเป็นและความเหมาะสม  แต่ ผู้มีอำนาจอนุมัติให้ใช้รถส่วนตัว ไม่ใช่ ผอ.กศน.อำเภอ/เขต  โดย ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุมัติให้เดินทางไปราชการและการจัดการประชุมของทางราชการ พ.ศ.2524 ข้อ 11 ( 4 ) กำหนดผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติการเดินทางไปราชการในราชอาณาจักร ให้เป็นอำนาจของอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการ ( ของ กศน. ขณะนี้หมายถึงปลัดกระทรวง ) ซึ่งจะมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้ผู้ดำรงตำแหน่งใด ๆ เป็นผู้อนุมัติการเดินทางไปราชการในราชอาณาจักรแทนก็ได้
             ตามคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 270/51
ปลัดกระทรวงมอบอำนาจให้ ผอ.สนง.กศน.จ./กทม. ในข้อ 8 ว่า  “การอนุมัติให้เดินทางไปราชการภายในราชอาณาจักรของตนเอง ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างในสังกัด และบุคคลภายนอก การอนุมัติค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ การใช้รถยนต์ส่วนตัวไปราชการ... ...”
             แต่ ในคำสั่งที่มอบอำนาจให้ ผอ.กศน.อ./ข. ที่ 489/51 ข้อ 9 ระบุดังนี้
             - วรรคหนึ่ง  การอนุมัติไปราชการ ... ของข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษา พนักงานราชการ ลูกจ้าง บุคคลภายนอก ... ...
             - วรรคสอง  การอนุมัติไปราชการสำหรับตนเอง ของ ผอ.กศน.อ. ภายในเขตจังหวัดที่สถานศึกษาตั้งอยู่ และจังหวัดที่มีเขตติดต่อกับจังหวัดนั้น ... ...
             - วรรคสาม  การอนุมัติการใช้รถยนต์ส่วนตัวไปราชการภายในเขตพื้นที่ตาม
วรรคสอง
             สรุปว่า  ผอ.กศน.อ./ข. มีอำนาจอนุมัติการใช้รถยนต์ส่วนตัวได้เฉพาะการไปราชการภายในเขตพื้นที่ของตนเอง  ส่วนข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง อื่น ๆ ถ้าจะขออนุมัติไปราชการ
โดยใช้รถยนต์ส่วนตัวต้องขออนุมัติ ผอ.สนง.กศน.จ./กทม.

         6. เย็นวันที่ 10 ก.พ.58 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องจบ มสธ. ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูไม่ได้แล้ว  ว่า
             ยังมีผู้ให้ข้อมูลผิด เป็นระยะ ๆ ว่า เรียน มสธ.สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ เช่นเอกหลักสูตรและการสอน จบแล้วขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้  ในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบก็มีผู้ให้ข้อมูลผิดอย่างนี้ ทำให้มีผู้เข้าใจผิดเสียเวลาเสียเงินไปสมัครเรียนโดยหวังใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ไม่ได้ต้องการแค่ความรู้

             เมื่อ 2 ปีก่อน วันที่ 30 พ.ย.55 ผมเขียนให้ข้อมูลในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า เรื่องที่ว่าเรียน มสธ.สาขาวิชาศึกษาศาสตร์จบแล้วขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้นั้น เป็นข้อมูลเก่าเมื่อ 4 ปีก่อน
             ที่ถูกต้องคือ
             - ถ้าเริ่มเรียนหลัง 19 ส.ค.53 ถึงปีการศึกษา 2556 คุรุสภาไม่รับรองแล้ว ต้องใช้วิธีนำใบแสดงผลการเรียนไปยื่นขอเทียบโอน ซึ่งจะเทียบโอนได้ไม่ครบทุกมาตรฐาน
             - ถ้าเริ่มเรียนหลังปีการศึกษา 2556 คุรุสภาไม่รับเทียบโอนแล้ว
             ถ้าถามว่า แล้วจะเรียนทำไม  ตอบว่า ถ้าเรียนจบหลักสูตร สิ่งที่ได้คือ ได้ความรู้ ไปใช้ในด้านการเผยแพร่ให้ความรู้ต่าง ๆ เช่นเป็นวิทยากร หรือการสอนที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ( สอนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การศึกษาขั้นพื้นฐาน )  หรือถ้ายังจะมีการเปิดสอบมาตรฐานวิชาชีพครูอีก ก็นำความรู้ที่เรียนมานี้ไปใช้ในการสอบ ( อาจจะดีกว่าดูหนังสือเตรียมสอบด้วยตนเอง )

             ในขณะนี้ การเรียนเพื่อเป็นเส้นทางให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มีเพียง 2 กรณี คือ
             1)  เรียนปริญญาทางการศึกษาหลักสูตรใหม่ ( หลักสูตร 5 ปี ) ในสถาบันที่คุรุสภารับรอง
             2)  สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นครูอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมีเพียงหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเช่น ครูจ้างสอน ครู ศรช. ใหเรียน ป.บัณฑิต ตามหลักสูตรที่คุรุสภากำหนดและอนุญาตให้สถาบันการศึกษาบางแห่งเปิดสอน

         7. เย็นวันที่ 11 ก.พ.58 ปนันท์ญา ตันทอง กศน.อ.ท่าวังผา ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ครู ศรช.และครูสอนคนพิการ เบิกเงินค่าคุมสอบปลายภาคเรียนได้หรือเปล่า

             ผมตอบว่า   ตอบบ่อยแล้ว ครู กศน.ตำบล ครู ศรช. และครูสอนคนพิการ เบิกเงินค่าคุมสอบปลายภาคเรียนได้ ถ้ามีเงินอุดหนุนมากพอและผู้บริหารให้เบิก  ดูคำตอบเก่า ๆ เช่น ในข้อ 5 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/09/n.html
             ครู ศรช. และ ครูสอนคนพิการเบิกค่าคุมสอบได้ แต่ ปัญหาคือ วันเสาร์-อาทิตย์ ( วันคุมสอบ ) อาจไม่ใช่วันหยุดราชการของครู ศรช.บาง คน  เช่น กศน.อ.บางแห่ง กำหนดให้ครู ศรช.และบรรณารักษ์บางคนทำงานในวันอาทิตย์ถึงพฤหัสฯ หยุดวันศุกร์เสาร์  กรณีนี้วันอาทิตย์จะเป็นวันทำการปกติของเขา  ซึ่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนการสอบ พ.ศ.2549 กำหนดว่าให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบในวันทำการปกติ เบิกค่าดำเนินการสอบในอัตราครึ่งหนึ่ง  และ หลักเกณฑ์ กศน. กำหนดว่า บุคลากรในสังกัด กศน.ถ้าทำงาน เช่น สอนวิชาชีพ สอนเสริม ในเวลาราชการ ไม่ให้เบิกค่าตอบแทน
             ฉะนั้น ถ้าจะให้ครู ศรช.เบิกค่าคุมสอบเต็ม เมื่อพบกลุ่มครั้งสุดท้ายก่อนสอบปลายภาคแล้ว กศน.อ.ต้องปรับเปลี่ยนให้ครู ศรช.มาทำงานวันจันทร์ถึงศุกร์ทุกวันทันที เพื่อให้วันเสาร์อาทิตย์เป็นวันหยุดราชการของเขา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย