วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2558

1.กำหนดขนาด สนง.กศน.จังหวัด จากเกณฑ์อะไร, 2.เครื่องแบบครู ศรช. 3.วิชาอาชีพ 40 ชั่วโมง ผู้เรียนกลุ่มละไม่เกินกี่คน, 4.พนักงานราชการ-ครู ศรช. เบิกค่าพาหนะยังไง, 5.การลดจำนวนวิชาเลือกด้วยการรวมวิชาเลือก และวิธีออกรหัสวิชาเลือก, 6.ติดตั้งอินเทอร์เน็ต กศน.ตำบล, 7.แก้ไขเปลี่ยนแปลงคะแนนย้อนหลัง



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เคยมีผู้ถามผมนานแล้ว ว่า  มีเกณฑ์การกำหนดขนาด สนง.กศน.จังหวัดอย่างไร กำหนดจากจำนวนอำเภอหรือจำนวนประชากร

             คืนวันอาทิตย์ที่ 8 มี.ค.58 ผมเผยแพร่เรื่องนี้ในเฟซบุ๊ค ว่า  เกณฑ์การกำหนดขนาด สนง.กศน.จังหวัด จะเป็นคะแนนของแต่ละจังหวัด จากคะแนนเต็ม 100
             - ไม่เกิน 70 คะแนน  =  ขนาดเล็ก
             - 71-85 คะแนน  =  ขนาดกลาง
             - 86-100 คะแนน  =  ขนาดใหญ่

             โดยคะแนนมาจาก 3 ส่วน คือ
             1)  จำนวนอำเภอ  ( เต็ม 50 คะแนน )
                  - 1-9 อำเภอ  =  40 คะแนน
                  - 10-15 อำเภอ  =  45 คะแนน
                  -16 อำเภอขึ้นไป  =  50 คะแนน
             2)  จำนวนประชากร  ( เต็ม 30 คะแนน )
                  - ไม่เกิน 967,599 คน  =  20 คะแนน
                  - 967,600-1,757,200 คน  =  25 คะแนน
                  - 1,757,201 คนขึ้นไป  =  30 คะแนน
             3)  จำนวนผู้รับบริการ ในปีที่กำหนดขนาด  ( เต็ม 20 คะแนน )
                  - ไม่เกิน 122,099 คน  =  10 คะแนน
                  - 122,100-220,400 คน  =  15 คะแนน
                  - 220,401 คนขึ้นไป  =  20 คะแนน


           ตัวอย่างเช่น กศน.จ.พระนครศรีอยุธยา มี 16 อำเภอ ( 50 คะแนน ) + จำนวนประชากร 8 แสนคน ( 20 คะแนน ) + จำนวนผู้รับบริการ 170,000 คน ( 15 คะแนน ) รวมคะแนน = 50+20+15 = 85 คะแนน = ขนาดกลาง เป็นต้น

             ถ้าอยากรู้ว่า กศน.จังหวัด/อำเภอใดขนาดใด ดูได้จากลิ้งค์ในข้อ 19.2 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2013/10/blog-post_8783.html 
           
         2. คืนวันเสาร์ที่ 13 มี.ค.58 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องเครื่องแบบครู ศรช. ว่า  ปัจจุบันมีบางแห่งให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ+ลูกจ้างประจำ+พนักงานราชการ เช่นครู ศรช.ที่ไม่ได้เป็นพนักงานราชการ  แต่งเครื่องแบบสีกากีด้วย  ซึ่งถ้าดูผ่าน ๆ แล้วคนเข้าใจผิดว่าเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำหรือพนักงานราชการ ( เหมือนหรือคล้าย ) จะผิดกฎหมายอาญา  ในภาพนี้จะเห็นเครื่องแบบที่ถูกต้องเหมาะสม สามารถใช้ในราชการสำคัญได้






         3. วันที่ 12 มี.ค.58 Ploy Na Ka ครู ศรช. กศน.พิจิตร ถามผมในอินบ็อกซ์ ว่า  การเปิดกลุ่มอาชีพ 40 ชม. จำกัดจำนวนผู้เรียนหรือป่าวว่าต้องมีผู้เรียนไม่เกินกี่คน

             ผมตอบว่า   ส่วนกลางไม่ได้กำหนดระเบียบจำกัดขั้นสูงไว้ กำหนดไว้แต่ขั้นต่ำ ( ในคู่มือการจัดการศึกษาต่อเนื่อง ปี 59 กำหนดว่า รูปแบบกลุ่มสนใจกลุ่มละ 6 คนขึ้นไป, รูปแบบชั้นเรียนวิชาชีพ 31 ชม.ขึ้นไป กลุ่มละ 11 คนขึ้นไป, รูปแบบฝึกอบรมประชาชนกลุ่มละ 15 คนขึ้นไป ) ขั้นสูงให้ผู้บริหารกำหนดเองตามความเหมาะสม เช่นเหมาะสมกับเนื้อหา สถานที่ สื่อ งบประมาณ
             ดูคู่มือได้ที่
             - https://db.tt/zDLTGTrC   และ
             - https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/ManualTrain.pdf 


         4. วันที่ 13 มี.ค.58 ชาริล ชัปถุย ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  การเดินทางของพนักงานราชการหรือครู ศรช. สามารถเบิกได้ตามค่าโดยสารรถหรือว่ายังงัย เกี่ยวกับการเดินทางไปราชการ

             ผมตอบว่า   ผมอ่านคำถามไม่ค่อยเข้าใจ  แต่ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการมีรายละเอียดปลีกย่อยมาก  เพื่อไม่ให้ยุ่งยากเกินไปผมขอตอบคร่าว ๆ ในประเด็นใหญ่ ๆ  ( นอกจากจะปฏิบัติตามระเบียบค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ ยังต้องดูมาตรการประหยัดของส่วนราชการในแต่ละปี และนโยบายข้อกำหนดในการให้ไปราชการแต่ละรายการด้วย )
             ตามระเบียบ กำหนดสำหรับข้าราชการ ผู้ที่ไม่ใช่ข้าราชการต้องเทียบระดับตำแหน่งกับข้าราชการ
             ถ้าเป็น ค่าเบี้ยเลี้ยง กับ ค่าเช่าที่พัก ปัจจุบัน ข้าราชการระดับ 1-8 ( ระดับปฏิบัติงาน ชำนาญการพิเศษ ) เบิกได้เท่ากัน โดยลูกจ้างทุกประเภทและพนักงานราชการไม่เกินกลุ่มงานบริหารทั่วไป จะไม่ต่ำกว่าระดับ 1 และไม่เกินระดับ 8 จึงเบิกได้เท่ากัน  ไม่จำเป็นต้องเทียบระดับตำแหน่ง
             แต่ถ้าเป็นค่าพาหนะ  ระดับ 1-8 จะเบิกได้ไม่เหมือนกัน  จึงต้องเทียบระดับตำแหน่ง ดังนี้  ( ตามคำถามนี้ผมขอแบ่งเป็น 2 กลุ่ม )
             -  กลุ่มที่ 1  ครู ศรช., ลูกจ้างทุกประเภท, พนักงานราชการกลุ่มงานบริการและกลุ่มงานเทคนิค ( อนุปริญญา ), และพนักงานราชการกลุ่มงานบริหารทั่วไป( ป.ตรี )อายุราชการไม่เกิน 9 ปี   เทียบเท่าข้าราชการตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน และประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ
             -  กลุ่มที่ พนักงานราชการกลุ่มงานบริหารทั่วไป( ป.ตรี )อายุราชการ 10-17 ปี เทียบเท่าข้าราชการตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ, อายุราชการ 17 ปีขึ้นไป เทียบเท่าระดับชำนาญการพิเศษ

             สิทธิในการเบิกจ่ายค่าพาหนะ  ( ถ้าถามเรื่องพนักงานราชการ ต้องบอกอายุราชการด้วย )  เป็นดังนี้
             1)  ค่ารถโดยสาร ป.1, ป.2} VIP 24 ที่นั่ง, รถไฟชั้น 2-3  เบิกได้ทั้ง 2 กลุ่ม แต่ค่าโดยสารรถไฟชั้น 1 รถด่วน รถด่วนพิเศษ นั่งนอนปรับอากาศ ( บนอ.ป.) เบิกได้เฉพาะกลุ่ม 2 และต้องแนบกากตั๋วด้วย
            
2) ค่าโดยสารรถรับจ้าง เช่นรถแท็กซี่ ปัจจุบันให้ผู้เดินทางไปราชการทุกระดับตำแหน่ง สามารถเดินทางโดยพาหนะรับจ้างได้ โดยผู้เดินทางต้องชี้แจงเหตุผลความจำเป็น
             3)  ค่าโดยสารเครื่องบินภายในประเทศ  กลุ่มที่ 1 เบิกไม่ได้  กลุ่มที่ 2 เบิกได้เฉพาะชั้นประหยัด/ชั้นต่ำสุด แต่ถ้าการไปราชการครั้งนั้นระบุให้เดินทางโดยประหยัด เบิกไม่ได้
            
4) ค่าชดเชยการใช้พาหนะส่วนตัวไปราชการ ปัจจุบันให้ผู้เดินทางไปราชการทุกระดับตำแหน่งใช้พาหนะส่วนตัวเดินทางไป ราชการได้ โดยผู้เดินทางต้องใช้พาหนะส่วนตัวนั้นตลอดเส้นทาง ถ้าไม่สามารถใช้พาหนะส่วนตัวได้ตลอดเส้นทางให้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาอนุญาต

             ดูคำตอบเดิมที่เกี่ยวข้อง เช่น ในข้อ 3 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/01/n-net.html
 

         5. เย็นวันที่ 13 มี.ค.58 ประภาส โป้แล เขียนในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ขอรูปแบบการจัดทำหนังสือรายวิชาเลือก และขั้นตอนการขอรหัสรายวิชาเลือก

             ขั้นตอนการขอรหัสรายวิชาเลือกนี้ ผมเคยเขียนเป็นเอกสาร รวมอยู่ในเรื่อง การลดจำนวนวิชาเลือกด้วยการรวมวิชาเลือก และวิธีออกรหัสวิชาเลือกไว้ตั้งแต่ตอนที่ผมเป็นวิทยากรเรื่องนี้ในปี 2555  ใครสนใจ ดาวน์โหลดเอกสารนี้ได้จากลิ้งค์ในข้อ 3 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/500690 และดูคำตอบเดิมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ใน
             - ข้อ 3 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/474979
             - ข้อ 8 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/484069

             ในส่วนของรูปแบบการจัดทำหนังสือรายวิชาเลือก ถ้าหมายถึง หนังสือเรียน/ตำราเรียน ไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์กำหนดรูปแบบไว้ ใช้รูปแบบเดียวกับหนังสือเรียนรายวิชาบังคับนั่นแหละ ทำตามรูปแบบหนังสือเรียนรายวิชาบังคับของ กศน.ก็ได้

         6. วันที่ 16 มี.ค.58 ผมถามข้อมูลเรื่องการติดตั้งอินเทอร์เน็ต กศน.ตำบล จาก อ.กษิพัฒ ภูลังกา กลุ่มแผนงาน กศน.  ได้รับข้อมูลว่า

             ตามข้อมูลของ กป.กศน. เราจัดตั้ง กศน.ตำบลแล้ว 7,424 แห่ง ในจำนวนนี้ติดตั้งสายสัญญาณอินเทอร์เน็ตไปแล้วตั้งแต่ปีก่อน 1,600 แห่ง
             ในปีงบประมาณ 58 นี้ ใช้งบกระทรวง ศธ.ให้ TOT ติดตั้งอีก 1,600 แห่งเท่าเดิม และขอไปที่กระทรวง ICT ใช้งบกระทรวง ICT ติดตั้งอีก 3,000 แห่ง แต่ส่วนที่ขอกระทรวง ICT นี้ ไม่ทราบว่าเขาจะติดตั้งให้กี่แห่ง คงไม่ถึงพันแห่ง
             ในส่วนที่ใช้งบกระทรวง ศธ. ที่จะติดตั้งสายสัญญาณ + Router Wifi อินเทอร์เน็ตความเร็ว 10 Mbps ( กระทรวง ศธ.เหมาจ่ายค่าใช้บริการกันเอง เราใช้ฟรีไม่จำกัดเวลา แต่หาเครื่องคอมพิวเตอร์เอง ) ในปีนี้ 1,600 แห่งนั้น อ.กษิพัฒ ส่งรายชื่อ กศน.ตำบลทั่วประเทศ ให้ TOT ( ร่วมกับ CAT ) ไปเลือกเองว่าจะติดตั้งที่ไหน เพียงแต่กำหนดไปว่า ให้ติดตั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้ครบ และถิ่นธุรกันดารเช่นบนดอยก่อน สำหรับแห่งอื่น ๆ TOT จะเลือกติดตั้งจากเหตุผล 2 ข้อ คือ
             - มีคู่สายสัญญาณของ TOT ไปถึง  และ
             - สภาพอาคาร กศน.ตำบล สามารถเก็บรักษาอุปกรณ์ของ TOT เช่น Router ไม่ให้ชำรุดสูญหายได้

             ( แห่งใดที่มีโครงการของกระทรวงติดตั้งแล้ว ถึงแม้จะใช้การไม่ได้ กศน.อำเภอก็จะเบิกจ่ายค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ตของแห่งนั้นอีกไม่ได้ เพราะจะซ้ำซ้อนกับงบกระทรวง  สตง.จะเรียกเงินคืน  ฉะนั้น ถ้าแห่งใดระบบอินเทอร์เน็ตของกระทรวงฯมีปัญหา ต้องรีบแจ้งกระทรวงให้แก้ไข )

         7. วันอาทิตย์ที่ 15 มี.ค.58 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์ผมเรื่อง กศ.ขั้นพื้นฐาน ว่า  เมื่อภาคเรียนที่ 2/56 อนุมัติผลและประกาศผลการเรียนไปเรียบร้อยแล้ว มาพบภายหลังว่า ไม่ได้บันทึกคะแนนระหว่างภาค 2/56 เพราะ ครูไม่ส่งเอกสารบันทึกผลการเรียน (กศน.4) ทำให้การอนุมัติผลและประกาศผลการเรียนได้ระดับผลการเรียนเป็น 0 เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามระเบียบการวัดผล ใช่/ไม่ มีแนวทางแก้ไขอย่างไร
             ต่อมาภาคเรียนที่ 2/57 ี้ ผอ.กศน.อำเภอ สั่งการให้ จนท. IT บันทึกคะแนนระหว่างภาคเรียน 2/56 ย้อนหลัง จะกระทำได้/ไม่
             และหากกระทำได้ การอนุมัติผลการเรียน เป็นวันที่ย้อนหลัง/วันที่ปัจจุบัน หรือมีวิธีการดำเนินการอย่างไร
             การบันทึกข้อมูลในโปรแกรม IT ย้อนหลัง (ภาคเรียนที่ 2/56) ถือเป็นการแก้ไขข้อมูลใช่/ไม่ และวันที่บันทึกจะปรากฏอยู่ในโปรแกรมให้ตรวจสอบได้ว่าแก้ไขข้อมูล ถือได้ว่าเป็นการทุจริตหรือ/ไม่ มีโทษความผิดหรือไม่/อย่างไร และมีแนวทางปฏิบัติและการแก้ไขดำเนินการอย่างไร ปล.นักศึกษาจะจบภาคเรียนที่ 2/57 นี้

             ผมตอบว่า   สามารถแก้ไขย้อนหลังได้ แต่ต้องระมัดระวัง เพราะการปล่อยให้แก้ไขอะไรง่าย ๆ มักส่งผลเสียตามมา เช่น เคยตัวแล้วเลยไม่ระมัดระวัง ไม่รอบคอบ
             ที่ถูกต้องคือ ต้องให้เป็นไปตามความจริง ถ้านักศึกษามาเรียนจริง มีคะแนนระหว่างภาคจริง แต่เราลืมบันทึกคะแนนระหว่างภาคลงในทะเบียน/โปรแกรม ITw เราก็ต้องแก้ไขย้อนหลังให้เขา เพราะเป็นความบกพร่องของเรา ไม่ใช่ความบกพร่องของนักศึกษา

             วิธีการที่เหมาะสมคือ
             1)  ก่อนแก้ไขย้อนหลัง ให้ตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนว่านักศึกษามีคะแนนระหว่างภาคจริงหรือไม่ ( อาจดำเนินการตรวจสอบกันเป็นลายลักษณ์อักษร บันทึกข้อมูลไว้ให้ละเอียดชัดเจน เพื่อใช้ลายลักษณ์อักษรนี้เป็นเอกสารอ้างอิงในการแก้ไข/บันทึกคะแนนย้อนหลัง  ถ้ามีการร้องเรียน/ตรวจสอบในอีกหลายปีภายหลัง เมื่ออ่านบันทึกนี้แล้วจะได้เข้าใจเหตุผลที่แก้ไขผลการเรียน )  และตรวจสอบด้วยว่าการไม่บันทึกคะแนนระหว่างภาคนี้ เป็นความบกพร่องของใคร

             2)  ถ้าไม่ใช่ความบกพร่องของนักศึกษา ก็ต้องมีบุคลากรบกพร่อง ผู้บกพร่องก็ต้องรับผิดชอบด้วย ถ้าไม่ต้องรับผิดชอบเลยก็จะเกิดการมักง่ายเกิดการบกพร่องอีก  การรับผิดชอบ ถ้าเป็นครั้งแรกและไม่ร้ายแรง อาจแค่ตักเตือน/ภาคทัณฑ์ ถ้าเป็นครั้งที่สองอาจเพิ่มโทษ
             อาจให้ครูทำบันทึกชี้แจงเหตุการส่งคะแนนล่าช้า แล้ว ผอ.ทำบันทึกตักเตือนผู้เกี่ยวข้อง และ ผอ.บันทึกสั่งการให้ฝ่ายทะเบียนแก้ไขคะแนน แล้วเก็บบันทึกเหล่านี้ไว้เป็นหลักฐาน

             3)  การที่นายทะเบียน ไม่ตรวจสอบ/ทวงถาม ให้รอบคอบ นายทะเบียนก็ต้องรับผิดชอบ  ต้องให้ความสำคัญในการตรวจสอบ ถ้ามีข้อผิดพลาดจนเกิดปัญหา ก็ถือว่าเป็นความบกพร่องของนายทะเบียนด้วย  ( เรื่องงานทะเบียน เอกสารหลักฐานต่าง ๆ ต้องอยู่ที่ฝ่ายทะเบียน  ปัจจุบัน กศน.ตำบลยังไม่ได้เป็นสถานศึกษา จึงยังแยกทะเบียนไม่ได้ ข้อมูลต่าง ๆ จะอยู่ในทะเบียน  เมื่อหลายปีก่อนจะไม่ให้ครูรู้รหัสเข้าโปรแกรม ITw เพราะอาจมีการแก้ไขข้อมูลสำคัญ ลักษณะคล้ายการห้ามครูผู้สอนคุมสอบ แต่ปัจจุบันมีนักศึกษามากขึ้น บางแห่งนายทะเบียนยังลงทะเบียนต่าง ๆ เอง บางแห่งให้มีครูบางคน ไม่ใช่ทุกคน ช่วยเป็นคณะทำงานของนายทะเบียน บางแห่งให้ครูแต่ละคนช่วยบันทึกทะเบียน แต่ให้แยกรหัสผ่านเข้าโปรแกรม รหัสที่ให้ครูทุกคนเข้าโปรแกรมได้นั้นจะบันทึกข้อมูลได้เพียงบางเรื่อง  แต่อย่างไรก็ตาม นายทะเบียนต้องเป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบการบันทึก  การตรวจสอบจะให้ครูตรวจสอบหรือจะตรวจสอบอย่างไรก็แล้วแต่ นายทะเบียนก็ยังเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบด้วย นายทะเบียนไม่ใช่มีหน้าที่แค่ลงนามโดยไม่ต้องรับผิดชอบ )

             4)  กรณีนี้ให้อนุมัติผลการเรียนใหม่ย้อนหลัง  วันที่อนุมัติผลการเรียนเป็นวันก่อนวันลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนถัดมา  ถึงแม้จะเป็นการแก้ไขย้อนหลัง ก็ไม่ถือว่าเป็นการทุจริต ถ้าแก้ไขให้ถูกต้องเป็นไปตามความจริง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย