วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2558

1.ทำงานลำบาก กศ.ต่อเนื่อง หลักสูตรระยะสั้น เบิกค่าอาหารไม่ได้, 2.ชื่อบ้านหนังสือ ?, 3.การอบรมบรรณารักษ์จ้างเหมาให้มีสิทธิสอบเป็นบรรณารักษ์ข้าราชการ, 4.ถ้าครู กศน.หมดสัญญา จะต่อสัญญาใหม่ต้องมีวุฒิ 3 สาขาหรือไม่-รับสมัครครูผู้ช่วย กศน.ครั้งต่อไป จะกำหนดวิชาเอก และรับบุคคลภายนอกด้วย, 5.สอบข้าราชการครู ต้องจบ 3 สาขานี้ไหม, 6.จะให้ใครเป็นหัวหน้า กศน.ตำบลใด แต่งตั้งโดย ผอ.จังหวัด-ถ้าผู้บริหารเอาจริง หน.กศน.ตำบลก็คงทุจริตไม่ได้, 7.ข้าราชการครูต้องสอนกี่ชั่วโมง



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันอาทิตย์ที่ 1 มี.ค.58 Sura Phong ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  งบพัฒนาสังคมฯเบิกอาหารไม่ได้ โดยมีเหตุผลว่า กศน.เป็นสถานศึกษามีหน้าที่จัดการเรียนการสอนอย่างเดียว .. จริงๆเบิกได้ไหม หรือแล้วแต่ดุลพินิจของผู้มีอำนาจ..มีหนังสือคำสั่งหรือระเบียบอะไรบ้าง..ทำงานลำบากจริงๆตอนนี้..

             ผมตอบว่า   การพัฒนาสังคมและชุมชน เป็น การศึกษาต่อเนื่อง ( หลักสูตรระยะสั้น ) เบิกจ่ายค่าอาหารไม่ได้เพราะไม่ใช่การประชุมอบรมบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน แต่เป็นการจัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียน/ผู้รับบริการ ลักษณะเดียวกับการสอนวิชาชีพ
             การจัดการศึกษาต่อเนื่อง ( หลักสูตรระยะสั้น ) จ่ายได้เฉพาะตามหนังสือสำนักงาน กศน.ที่ ศธ 0210.117/1255 ลงวันที่ 30 มี.ค.55 เรื่องการเบิกเงินค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษานอกโรงเรียนหลักสูตรระยะสั้น  ( หนังสือฉบับนี้อยู่ในไฟล์ชื่อ costs_study.pdf ซึ่งรวมอยู่ในกลุ่มไฟล์คู่มือการจัดการศึกษาต่อเนื่อง ดาวน์โหลดกลุ่มไฟล์นี้ได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/Compressrd/ContinuingEducationGuide.rar )
             และดูคำตอบเดิมอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้ใน
             - ข้อ 3 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/491341
             - ข้อ 7 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/02/mba.html

         2. วันที่ 2 มี.ค.58 Phatsanan Rattanachotichairit ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  บ้านหนังสืออัจฉริยะ เปลี่ยนชื่อเป็น บ้านหนังสืออัจฉริยะสู่ชุมชน หรือ บ้านหนังสือสู่ชุมชน เห็นแต่ละจังหวัดใช้ไม่เหมือนกัน

             ผมตอบไปก่อนว่า  มีแต่ผู้ใหญ่พูดในที่ประชุมว่าจะเปลี่ยนเป็น บ้านหนังสือชุมชนแต่ยังไม่มีเรื่องเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการ  ณ วันนี้ยังชื่อเดิม
             เพื่อความแน่ใจ ผมได้ถาม สพร.กศน.ด้วย  ได้รับคำตอบตรงตามที่ผมตอบไป


         3. วันเดียวกัน ( 2 มี.ค.) ผมถาม สพร. ถึงเรื่องการอบรมวิชาชีพบรรณารักษ์ สำหรับบรรณารักษ์จ้างเหมาบริการอายุงาน 3 ปี ที่ไม่มีปริญญาทางงบรรณารักษ์ เพื่อให้มีสิทธิสอบเป็นข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ ( ทำนองเดียวกับการอบรมวิชาชีพครู สำหรับผู้ที่ไม่มีวุฒิทางครู ให้มีสิทธิขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู )  ซึ่งเคยได้ข่าวว่า จะทำหลักสูตรอบรม 300 ชั่วโมง และฝึกงาน 100 ชั่วโมง เสนอให้ ก.พ.พิจารณา
             ผมคิดว่าเรื่องนี้อาจจะล้มเลิกไปแล้ว เพราะเงียบไป  แต่ สพร.ตอบว่า ยังไม่ล้มเลิก เขียนหลักสูตรแล้ว กำลังถึงขั้นตอนจะเขียนคู่มือการอบรม  แต่ไม่ทันการสอบข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ในปีนี้แน่ เพราะยังไม่รู้ว่าจะได้รับอนุมัติเมื่อไรหรือไม่อย่างไร  ถ้าได้รับอนุมัติก็ใช้เวลาอบรมนาน

         4. คืนวันที่ 4 มี.ค.58 สุวิมล เรืองขจร กศน.อ.นาดี ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ถ้าเป็นครู กศน.ตำบล ครู ศรช. อยู่แล้วแต่ไม่มีวุฒิ 3 สาขาที่กำหนด เมื่อสัญญจ้างหมดลงแล้ว ทาง กศน.อำเภอจะให้เซ็นสัญญจ้างต่อไปอีกมั้ย

             ผมตอบว่า   การต่อสัญญาโดยไม่ได้สมัครใหม่ จะไม่ได้ตรวจคุณสมบัติเรื่องคุณวุฒิใหม่ จึงไม่จำเป็นต้องมีวุฒิ 3 สาขานี้  แต่จะต่อสัญญาจ้างหรือไม่ พิจารณาจากการประเมินผลการปฏิบัติงานและอื่นๆ  ( การต่อสัญญานี้ ไม่ใช่อำเภอให้เซ็นสัญญานะ เป็นอำนาจหน้าที่ของจังหวัด  และถ้าเป็นครู ศรช.ในจังหวัดทั่วไปที่ไม่ใช่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะไม่ใช่พนักงานราชการ ถึงจะสมัครใหม่ก็ยังไม่ได้บังคับเรื่องคุณวุฒิ 3 สาขานี้ )

             ผมตอบไปแล้ว แต่เพื่อความชัดเจน วันที่ 5 มี.ค.58 ผมได้ถาม จนท.กจ.กศน. และท่าน ผอ.กจ.  ได้คำตอบตรงตามที่ผมตอบไปแล้ว   นอกจากนี้ท่าน ผอ.กจ.ยังบอกข้อมูลที่น่าสนใจจากการที่ท่านไปประชุมรับข้อปฏิบัติมา เช่น
             - การสอบบรรจุครูผู้ช่วย กศน. ครั้งต่อไป ต้องกำหนดวิชาเอก ห้ามรับ เอกทั่วไป
             - การสอบบรรจุครูผู้ช่วย กศน. ครั้งต่อไป คงต้องแบ่งอัตราไปรับสมัครสอบบุคคลภายนอกด้วย เช่นเดียวกับ สพฐ. ที่มีทั้งการรับสมัครสอบบุคคลภายนอก และรับสมัครสอบบุคคลภายใน
             - สำหรับครู ศรช.ทั่วประเทศ ที่ไม่ได้เป็นพนักงานราชการ ท่านก็จะเสนอให้ต้องรับจากผู้มี วุฒิ 3 สาขานี้ด้วย ส่วน ครูประจำกลุ่ม ครู ปวช. ครูที่สอน กศ.ขั้นพื้นฐาน ก็ควรต้องลักษณะเดียวกัน แต่ส่วนกลางจะไม่กำหนดมา โดยจังหวัดควรพิจารณากำหนดครูอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากครูอาสาฯ ครู กศน.ตำบล ครู ศรช.นี้เอง


         5. คืนวันมาฆบูชา ( 4 มี.ค.58 ) ทั้ง ทศพร ช้าง ช้าง และ Sirin Sue  ถามประเด็นเดียวกัน ในอินบ็อกซ์ผม ว่า  กรณีมีใบประกอบวิชาชีพ แต่ไม่จบครูมา สามารถสอบข้าราชการครู สังกัด กศน. ได้ไหม, สอบครูผู้ช่วย กศน. จะกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครเช่นเดียวกับ ครูศรช. ครู กศน. ว่าจะต้องจบ ครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ การศึกษา ไหม

             ผมตอบว่า   คุณสมบัติที่ใช้สอบข้าราชการครู คือ ( ต้องมีทั้ง 2 ข้อ )
             1)  ได้รับวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือวุฒิอื่น ที่ ก.ค.ศ.รับรอง  ( ปัจจุบันคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรองแล้ว มีมากกว่า 19,000 คุณวุฒิ )  และ
             2)  มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครู ตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน
             จะเห็นว่าจบสาขาอื่นที่ ก.ค.ศ.รับรองก็ได้  คุณสมบัติแตกต่างจากผู้ที่จะสอบเป็นพนักงานราชการตำแหน่งครู กศน. และข้าราชการตำแหน่งนักวิชาการศึกษา


         6. วันที่ 5 มี.ค.58 มีครู ศรช.จากตำบลที่ ตำบลเดียวมีครู กศน.ตำบลหลายคน มีครู ศรช.หลายคน ( ภาคอิสาน ) ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ครู กศน.ตำบลทำโครงการ ทำทุกอย่างให้เงินเหลือเยอะเพื่อนำเงินที่เหลือไปใช้ ถือว่าทุจริตมั้ย แบบไหนที่ถือว่าทุจริต ทำโครงการเดียวแต่เปลี่ยนป้ายถ่ายภาพเบิกหลายโครงการ ที่ไหนทำกัน ครูกศน.ตำบลหลายคน ทุกคนคือหัวหน้า กศน.ตำบลเหมือนกันรึปล่าว เห็นเขาวางอำนาจ .. ผอ.อำเภอบอกว่า หน.ตำบลเปลี่ยนกันเป็นก็ได้ .. มีคำแนะนำสำหรับการป้องกันการทุจริตมั๊ย

             ผมตอบว่า
             1)  ถ้านำเงินหลวงไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนหรือหรือกลุ่มตน ถือว่าทุจริต
             2)  เรื่องทำโครงการเดียวแต่เปลี่ยนป้ายถ่ายภาพเบิกหลายโครงการ มีที่อื่นทำอีก แต่เป็นส่วนน้อย เป็นการทุจริต ที่เราไม่น่าจะเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กเลย
             3)  ใน 1 ตำบล ถึงแม้จะมีครู กศน.ตำบลหลายคน ก็ให้มีหัวหน้า กศน.ตำบลเพียงคนเดียว สามารถเปลี่ยนหัวหน้า กศน.ตำบลได้ แต่เป็นพร้อมกัน 2 คนในตำบลเดียวไม่ได้  การเปลี่ยนก็ต้องแต่งตั้งใหม่โดยคำสั่ง ผอ.จังหวัด ไม่ใช่ ผอ.อำเภอ  ( ดูเรื่องการแต่งตั้งหัวหน้า กศน.ตำบล ในข้อ 4 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/01/n-net.html )
             4)  ถ้าผู้บริหารเอาจริง หน.กศน.ตำบล ก็คงทุจริตไม่ได้


         7. เย็นวันเสาร์ที่ 7 มี.ค.58 บางอ้อ เทเลคอมแปด ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบบ ว่า  ข้าราชการครู กศน. ต้องสอนการศึกษาขั้นพื้นฐาน กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามที่กฎหมายกำหนด

             ผมร่วมตอบว่า   มีแบบที่ ก.ค.ศ.กำหนด กับแบบที่สำนักงาน กศน.กำหนด คือ
             1)  ก.ค.ศ. กำหนด “ภาระงานสอน” ขั้นต่ำของ ขรก.ครู กศน. ว่า ไม่ต่ำกว่า 18 ชั่วโมง/สัปดาห์  ( ผู้ที่ทำผลงานวิชาการขอเลื่อนวิทยฐานะ ถ้าระบุภาระงานสอนต่ำกว่า 18 ชั่วโมง/สัปดาห์ จะไม่ผ่าน )  แต่ภาระงานสอนนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็น การสอนอย่างเดียว แต่แบ่งเป็น 3 ส่วน ดูข้อมูลในข้อ 2 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/06/ep.html
             2)  สำนักงาน กศน. โดยท่านอดีตเลขาฯประเสริฐ ( ตอนนี้ยังไม่มีการแจ้งเปลี่ยนแปลง ) แจ้ง ให้ข้าราชการครู สอนเสริมสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง  ดูในข้อ 3 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/04/6.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย