วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

1.ย้ายสถานศึกษา หลักสูตรเดียวกัน โอนได้หมดทุกวิชา, 2.บิลน้ำมันที่เติมในการเดินทางไปราชการให้เขียนว่ารับเงินจากหน่วยงานหรือรับเงินจากชื่อบุคคล, 3.จะสอบเป็นครู กศน. ไม่จบ 3 สาขาก็สอบได้ถ้าจบ ป.บัณฑิต, 4.ใบสำคัญวิชาชีพ, 5.การขอโอนเป็นครู และจะทำครูชำนาญการ, 6.การศึกษาต่อเนื่อง(4 อย่าง) เบิกจ่ายได้เฉพาะค่าตอบแทนวิทยากรกับค่าวัสดุฝึก, 7.คุณสมบัติ-เกณฑ์-วิชา สอบรอง ผอ.สนง.กศน.จังหวัด



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 11 พ.ค.58  นางจุไรรัตน์ เจริญสุข ขรก.ครู กศน.อ.ศรีสมเด็จ โทร.มาถามผม ว่า  จัด กศ.ขั้นพื้นฐานในค่ายทหาร ให้แก่ทหารกองประจำการ ( ทหารเกณฑ์ )  แต่ทหารเกณฑ์บางรายจะปลดประจำการโดยที่ยังเรียนไม่จบ ( ใกล้จะจบแล้วมีเพียงบางรายวิชาไม่ผ่าน )  จึงออกใบ รบ.ให้ ว่า “ศึกษาต่อที่อื่น”  ถามว่า ถ้านำใบ รบ.นี้ ไปเทียบโอนเข้าเรียนที่สถานศึกษาอื่น จะเทียบโอนได้หมด หรือเป็นไปตามระเบียบการเทียบโอนคือเทียบโอนได้ไม่เกิน 75 % ของจำนวนหน่วยกิตทั้งหมดในระดับชั้น

             ผมตอบว่า  ถ้าเป็นหลักสูตรเดียวกัน เช่น หลักสูตร กศน.2551 เหมือนกัน จะโอนได้หมดทุกวิชา รวมทั้ง กพช.ด้วย ยกเว้นเฉพาะวิชาเลือกที่ไม่มีในสถานศึกษาแห่งใหม่  ( จริง ๆ แล้ว หลักสูตรเดียวกัน ไม่ถือเป็นการ “เทียบโอน” แต่เป็นการ “โอน” ผลการเรียน ซึ่งนายทะเบียนสามารถดำเนินการโอนได้โดยไม่ต้องให้คณะกรรมการเทียบโอนฯพิจารณา  แต่ในโปรแกรม ITw เรื่องการโอนนี้ยังรวมอยู่ในเรื่อง การเทียบโอน )   ถ้าต่างหลักสูตร เช่นจากหลักสูตร 51 ในระบบ มาหลักสูตร กศน.51 หรือ จากสูตร กศน.44 มาหลักสูตร กศน.51 จึงจะเทียบโอนได้ไม่เกิน 75 % ของจำนวนหน่วยกิตทั้งหมดในระดับชั้น และเทียบโอน กพช.ไม่ได้เลย

         2. วันเดียวกัน ( 11 พ.ค.) มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  กรณีที่เดินทางไปราชการ ทำไมการเงินถึงให้เขียนบิลน้ำมันเป็นชื่อคนที่เป็นเจ้าของโครงการด้วยล่ะ เดิมเขียนชื่อที่อยู่สำนักงาน ถามแทบจะทุกจังหวัดไม่มีการเขียนชื่อคน เค้าเขียนกันแบบเดิมทั้งนั้น

             เรื่องนี้  อ.ชลดา หน่วยตรวจสอบภายใน กศน. ตอบว่า  ต้องเขียนชื่อสำนักงาน ไม่ว่าจะซื้อระหว่างไปราชการ หรือซื้อในโครงการ หรือซื้อแบบใด  ถ้าเป็นการขอใช้รถส่วนตัวไปราชการ ก็ไม่ต้องใช้ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิง
             ( การเขียนชื่อคน อาจจะทำให้ส่อไปในทางที่ นำใบเสร็จค่าน้ำมันเชื้อเพลิงส่วนตัว มาเขียนชื่อหน่วยงานเพิ่มเติมแล้วนำมาเบิกเงินจากทางราชการ )

             ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถูกต้อง ต้องประกอบด้วยข้อมูลสำคัญดังนี้
             - วัน เดือน ปี
             - สถานที่ออกใบเสร็จรับเงิน ถ้าเป็นใบเสร็จรับเงินจากสำนักงานใหญ่ ต้องระบุสาขาหรือสถานที่ประกอบการนั้น ๆ
             - ชื่อหน่วยงานที่จ่ายเงิน
             - ทะเบียนรถ  ต้องถูกต้องตรงกันกับใบขออนุมัติการเดินทาง
             - ต้องระบุปริมาณน้ำมัน ราคาต่อหน่วย และจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น (ทั้งตัวเลข ตัวอักษร)
             - มีผู้เซ็นชื่อรับเงิน

         3. เพิ่มเติมคุณสมบัติการสมัครสอบพนักงานราชการ กศน. ตำแหน่งครูอาสาฯ ครู กศน.ตำบล เป็น มีวุฒิ ครุศาสตร์บัณฑิต หรือศึกษาศาสตร์บัณฑิต หรือการศึกษาบัณฑิต ที่ ก.ค.ศ.รับรอง หรือ ป.บัณฑิตวิชาชีพครู ที่คุรุสภารับรอง

             ( ถ้าที่ใดประกาศรับสมัครตามคุณสมบัติเดิมไปแล้ว แต่ยังไม่มีการเลือกสรร ก็ให้ปรับเพิ่มคุณสมบัติตามนี้และขยายเวลารับสมัครด้วย )
             หมายรวมถึงตำแหน่งครู ศรช.ชายแดนใต้ที่เป็นพนักงานราชการ ด้วย


         4. วันที่ 11 พ.ค.58 พิศนภา แซนดี้ ลาวิลัย ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  การสั่งซื้อใบสำคัญวิชาชีพ ผอ.จังหวัดเป็นผู้ลงนามสั่งซื้อใช่ไหม อยากได้คำสั่งมอบอำนาจนี้

             ผมตอบว่า   ใบสำคัญการจบหลักสูตรระยะสั้น ไม่ใช่วุฒิการศึกษา ไม่ต้องให้ ผอ.จังหวัดเป็นผู้ลงนามสั่งซื้อ  และปัจจุบัน ระเบียบเกี่ยวกับใบสำคัญการจบหลักสูตรระยะสั้น ก็ได้ยกเลิกไปแล้ว ระเบียบปัจจุบันคือ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดการศึกษาต่อเนื่อง พ.ศ.2554 ซึ่งกำหนดไว้ในข้อ 13 แต่เพียงว่า "ให้สถานศึกษาออกวุฒิบัตรที่แสดงการจบหลักสูตร โดยให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นผู้ลงนาม"
             ( สถานศึกษาสามารถจัดพิมพ์วุฒิบัตรเองได้ )

         5. คืนวันเสาร์ที่ 16 พ.ค.58 กศน.ตำบลนาข่า ท่าบ่อ หนองคาย ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  กรณีบรรณารักษ์ได้รับคำสั่งให้เป็นครูประจำกลุ่มโดยไม่มีค่าตอบแทน จะต้องรับผิดชอบ นศ.กี่คน/เทอม ถึงจะมีสิทธิ์โอนเป็นครู เมื่อสอนครบ 2 ปี

             ผมตอบว่า   ก็สอนอย่างน้อย 1 กลุ่มนั่นแหละ ไม่ได้กำหนดจำนวน นศ. แต่ก็พิจารณาจำนวนชั่วโมงสอนต่อสัปดาห์ด้วย
              ( สอดคล้องกับการจะทำชำนาญการหลังจากโอนเป็นครูแล้ว คือก่อนโอนถ้าสอนไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 10 ชั่วโมงหรือคาบ จะนำประสบการณ์การสอนนี้มาลดเวลาในคุณสมบัติการขอมีวิทยฐานะครูชำนาญการได้เต็มเวลา เช่นก่อนโอนเคยสอนสัปดาห์ละ 10 ชั่วโมง อยู่ 2 ปี ก็ลดเวลาได้ 2 ปี ถ้าสอนไม่ถึงสัปดาห์ละ 10 ชั่วโมง ต้องสอนมากกว่า 2 ปี จึงจะขอโอนได้ )

             คุณสมบัติของข้าราชการพลเรือนหรือบุคลากรทางการศึกษาอื่น เช่น ข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ ข้าราชการใน สนง.กศน.จังหวัด/กทม. ที่มีสิทธิ์ขอโอนเป็นข้าราชการครู คือ
             1)  จบปริญญาสาขาวิชาที่ ก.ค.ศ.รับรองและกำหนดเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งข้าราชการครู ( ปกติข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ จะมีคุณสมบัติข้อนี้อยู่แล้ว )
             2)  มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
             3)  มีประสบการณ์การสอน 2 ปี
             ยื่นคำร้องขอโอนเป็นข้าราชการครู โดยใช้แบบฟอร์มคำร้องขอโอนแบบเดียวกับคำร้องขอย้าย  ส่วนใหญ่จะยื่นคำร้องขอโอนในช่วงการขอย้าย/โอนกรณีปกติ ปีละ 2 ครั้ง คือช่วงวันที่ 1-15 ก.พ. กับ 1-15 ส.ค.  หรือยื่นในช่วงที่ส่วนกลางแจ้งเรื่องนี้มา คือ 3-4 ปีหลัง ส่วนกลางจะกันอัตราข้าราชการครูไว้รับโอนกรณีนี้ปีละ 10 อัตรา ซึ่งจะแจ้งอัตรามาให้ขอโอนกัน

             เอกสารหลักฐานที่ใช้ประกอบการขอโอนเป็นข้าราชการครู ก็เป็นเอกสารหลักฐานที่แสดงคุณสมบัติตามข้อ 1.- 3.
             โดยเอกสารหลักฐานที่แสดงคุณสมบัติตามข้อ 3. ( ประสบการณ์การสอน ) ค่อนข้างจะจัดหา/จัดทำยากสักหน่อย เท่าที่ทราบ ก.ค.ศ.เคยขอเอกสารหลักฐานตามข้อ 3. คือ
             - หนังสือรับรองประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ในการสอน ระบุช่วงเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ และรายงานว่าทำการสอนวิชาใดบ้าง จำนวนสัปดาห์ละกี่ชั่วโมงหรือกี่คาบ รวมทั้งรายชื่อนักเรียน/นักศึกษาที่ทำการสอนในแต่ละภาคเรียน โดยให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้รับรองข้อมูลดังกล่าวด้วย
             - ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน/นักศึกษา จากการเรียนการสอนในแต่ละภาคเรียน โดยให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้รับรองข้อมูลดังกล่าวด้วย
              ( เคยเขียนเรื่องนี้ ในข้อ 3 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2013/11/asean.html )

             ส่วนเมื่อโอนเป็น ขรก.ครูแล้ว จะยื่นขอมีวิทยฐานะครูชำนาญการ ได้ ต้องเป็นครูแล้ว 6 ปี สำหรับผู้มีวุฒิ ป.ตรี, 4 ปีสำหรับ ป.โท, 2 ปีสำหรับ ป.เอก ( ชายแดนใต้ ลดเวลาลงครึ่งหนึ่ง )  แต่ถ้ามีประสบการณ์การสอนก่อนโอน จะลดเวลาลงได้อีก แต่ถึงลดได้ ก็ลดได้ไม่หมด ต้องมาเป็นครูอย่างน้อย 2 ปี จึงจะยื่นขอชำนาญการได้   ประสบการณ์การสอนนี้ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
             1)  ประสบการณ์ในการสอนโดยตรง
                  จำนวนชั่วโมงสอนอย่างต่ำ กำหนดในแต่ละสังกัดไม่เท่ากัน เช่น อาชีวศึกษาจะกำหนดไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมง/สัปดาห์ ส่วนการสอนในสถานศึกษา กศน. กำหนดไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง/สัปดาห์
                  ถ้าเคยสอนไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ กีปี ก็ลดได้เท่านั้นปี
                  ถ้าเคยสอนสัปดาห์ละไม่ถึง 10 ชั่วโมง แต่ถึงครึ่ง คือสอนสัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง แต่ไม่ถึง 10 ชั่วโมง ก็ลดเวลาได้ครึ่งหนึ่ง เช่นเคยสอนสัปดาห์ละ 9 ชั่วโมง อยู่ 2 ปี ก็ลดเวลาได้ 1 ปี
                  ถ้าเคยสอนสัปดาห์ละไม่ถึงครึ่ง เช่นสอนสัปดาหล์ละ 4 ชั่วโมง จะลดเวลาได้ 1 ใน 4   เช่น นาย ก. วุฒิ ป.ตรี อยู่จังหวัดอื่นที่ไม่ใช่ชายแดนใต้ โอนมาเป็น ขรก.ครู โดยก่อนโอน เป็น ขรก.ตำแหน่งบรรณารักษ์ ซึ่งในช่วงที่เป็นบรรณารักษ์นั้นได้เป็นครูประจำกลุ่มด้วย สอนสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง อยู่ 4 ปี กรณีนี้จะลดเวลาได้เพียง 1 ปี คือต้องโอนเป็น ขรก.ครูแล้ว 5 ปี จึงจะยื่นขอชำนาญการได้

             2)  เคยปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ไม่ใช่การสอนโดยตรง เช่น งานบริหารจัดการศึกษา กรณีนี้ถ้าเคยปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ในกระทรวงศึกษาธิการ ลดเวลาได้ครึ่งหนึ่งของเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

             ดูรายละเอียดเรื่องการใช้ประสบการณ์สอน ลดเวลาขอชำนาญการ ในระเบียบหลักเกณฑ์ได้ที่
             https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/experience.pdf



         6. วันที่ 18 พ.ค.58 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  กิจกรรมการศึกษาต่อเนื่อง โครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ทักษะชีวิต พัฒนาสังคมและชุมชน และเศรษฐกิจพอเพียง สามารถไปดูงานได้หรือไม่ ถ้าไปได้ สามารถเบิกค่าใช้จ่ายอะไรได้บ้าง   รับผิดชอบงานการศึกษาต่อเนื่องอยู่ที่ กศน.จังหวัด หลายๆ อำเภอเขียนโครงการจะไปศึกษาดูงานกันมาก พยายามหาระเบียบแล้วก็ไม่ได้กล่าวถึงการไปดูงานเลย

             ผมตอบว่า   การศึกษาต่อเนื่อง ที่ใช้งบดำเนินงาน ( จัดการศึกษาฯ ) ซึ่งเป็นงบปกติ จะเบิกจ่ายเป็นค่าฝึกอบรมและค่าเดินทางไปศึกษาดูงานไม่ได้ แต่มีบางปีได้รับงบศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนมาเป็นเงินหมวดรายจ่ายอื่น จึงจะเบิกจ่ายเป็นค่าไปราชการศึกษาดูงานได้
             ผมเคยตอบเรื่องนี้ เช่นในข้อ 4 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/497236
             การจัดการศึกษาต่อเนื่อง ( หลักสูตรระยะสั้น ) ที่ใช้งบดำเนินงานปกติ จ่ายได้เฉพาะตามหนังสือสำนักงาน กศน.ที่ ศธ 0210.117/1255 ลงวันที่ 30 มี.ค.55 เรื่องการเบิกเงินค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษานอกโรงเรียนหลักสูตรระยะสั้น ( ดูหนังสือฉบับนี้ได้ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/costs_study.pdf ) ซึ่งระบุว่าเบิกได้เฉพาะค่าตอบแทนวิทยากร กับค่าวัสดุฝึก  หนังสือฉบับนี้ระบุในย่อหน้าสุดท้ายว่า ถ้าเป็นการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของคนภายในองค์กร จึงจะเบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง-ที่พัก-พาหนะ-ค่าวิทยากร ได้ตามระเบียบการฝึกอบรม
             อย่างไรก็ตาม การศึกษาต่อเนื่อง ( หลักสูตรระยะสั้น ) สามารถไปศึกษาดูงานในแหล่งประกอบการได้โดยไม่เบิกค่าเบี้ยเลี้ยง-ที่พัก-พาหนะ เช่นไปศึกษาดูงานที่แหล่งประกอบการในพื้นที่ โดยจ่ายค่าตอบแทนผู้ให้ความรู้ในแหล่งประกอบการได้
              ( ไม่เชื่อก็ถามหน่วยตรวจสอบภายใน กศน. )

         7. ดึกวันอาทิตย์ที่ 17 พ.ค.58 นาย บิ๊ก ถามในไทม์ไลน์เฟซบุ๊คผม ว่า ขอความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติและเกณฑ์การสอบและวิชาที่จะสอบรองผอ.กศน.จังหวัด

             ผมตอบว่า   ดูในประกาศรับสมัครครั้งล่าสุดเลย จะมีข้อมูลเหล่านี้  ( ดูประกาศที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/rongPOj.pdf )


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย