วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

1.ครูผู้ช่วยรับผิดชอบ นศ.กี่คน, 2.เรียนครูโดยตรงหลักสูตร 5 ปี ก็ไม่ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแล้ว, 3.ยื่นซองรายเดียว, 4.ให้ครูผู้ช่วย ที่เพิ่งบรรจุได้เดือนกว่า รักษาการ ผอ.ได้ไหม, 5.ใครเซ็นเป็นผู้จ้างในสัญญาจ้าง, 6.คำถามซ้ำที่เคยตอบแล้ว ( นศ.กศน.ย้ายอำเภอ ต้องทำ กพช.ใหม่หมดไหม ), 7.ไม่อยากให้ครู ศรช.ไฟแรงนี้ หมดไฟเร็ว



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันเสาร์ที่ 25 เม.ย.58 Nontiya Saisangchun ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ครูผู้ช่วย กศน. ต้องรับผิดชอบนักศึกษากี่คน

             ผมตอบว่า   ข้าราชการครู ให้สอนเสริมสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง โดยไม่เบิกค่าตอบแทน  และมีภาระงานสอนอื่นๆอีก รวมไม่ต่ำกว่า 18 ชั่วโมง/สัปดาห์  ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบนักศึกษาแบบครู ศรช.-ครู กศน.ตำบล-ครูอาสาฯ
              ( ดูหนังสือ สนง.กศน.แจ้งภาระงานสอน เมื่อ 3 เม.ย.58 ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/teachwork18.pdf )
             เรื่องนี้เคยตอบในข้อ 7 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2015/03/cost.html
 

         2. คำถามที่พบบ่อย เกี่ยวกับการจะรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

             2.1  เรียนครูโดยตรง หลักสูตร 5 ปี หรือเรียน ป.โทวิชาชีพครู หรือเรียน ป.บัณฑิต  จบแล้วต้องสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูอีกหรือไม่ ?
                   คำตอบ
                   ทุกหลักสูตร ( ป.ตรี 5 ปี, ป.บัณฑิต และ ป.โทวิชาชีพครู ) แม้เรียนที่สถาบันที่ได้รับการรับรองหลักสูตรจากคุรุสภาตาม 11 มาตรฐานวิชาชีพครู ถ้าเข้าเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป เมื่อเรียนจบได้รับวุฒิบัตรจากสถาบันการศึกษาที่เรียนแล้ว จะต้องไปสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูกับคุรุสภาอีกครั้ง  เช่นเดียวกับบางวิชาชีพ เช่น วิศวกรรม เวชกรรม แม้เรียนจบแพทย์-พยบาล-วิศวกรรม หลักสูตร 4-5-6 ปี แล้ว ก็ต้องไปสอบรับใบประกอบวิชาชีพกับองค์กรที่ดูแลเช่นแพทยสภาอีก  ( ต่อไปนี้ถ้าไม่เรียนวิชาครู 3 หลักสูตรนี้ จะไม่มีสิทธิสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแล้ว )

             2.2  การเทียบโอนความรู้ และการสอบ 9 มาตรฐานวิชาชีพ จะมีอีกเมื่อไร ?
                   คำตอบ
                   การนำใบวุฒิต่าง ๆ มาเทียบโอนฯให้ได้ครบ 9 มาตรฐานวิชาชีพ รวมทั้งการเปิดให้สอบ 9 มาตรฐานวิชาชีพเป็นรายมาตรฐาน  เลิกไปแล้ว ไม่ต้องพูดถึงอีก  โดยหลังจากเพิ่มมาตรฐานวิชาชีพครู จาก 9 มาตรฐาน เป็น 11 มาตรฐาน ก็ไม่มีการเทียบโอนฯและการสอบมาตรฐานวิชาชีพอีก แต่ 11 มาตรฐานวิชาชีพนี้จะอยู่ในหลักสูตร ป.บัณฑิต, ป.ตรีวิชาชีพครูหลักสูตร 5 ปี และ ป.โทวิชาชีพครู ซึ่งต้องใช้วิธีเรียนเท่านั้น โดยเปิดให้เรียนหลักสูตร 11 มาตรฐานนี้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป ผู้ที่เรียน 3 หลักสูตรนี้ในปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป จะเรียนต่างกับผู้ที่เรียนก่อนหน้านั้น
                    ( ส่วนการอบรมมาตรฐานวิชาชีพเป็นรายมาตรฐาน จะมีอีก  กำลังจะเปิดรุ่นที่ 2 สำหรับให้ผู้ที่เคยเทียบโอนหรือสอบผ่านเพียงบางมาตรฐานของ 9 มาตรฐานวิชาชีพครูเดิม อบรมเพิ่มให้ผ่านครบทุกมาตรฐาน )
                   การสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จะไม่เหมือนกับการสอบมาตรฐานวิชาชีพครูรายมาตรฐานที่ยกเลิกไปแล้ว ซึ่งขณะนี้ ( 25 เม.ย.58 ) ยังไม่มีการสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เพราะผู้ที่เริ่มเรียนในปีการศึกษา 2557 ยังเรียนไม่จบ

         3. วันที่ 29 เม.ย.58 Sujitra Pipatsumran ครู กศน.ตากฟ้า ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ในการเปิดซองสอบราคาจัดซื้อหนังสือบ้านอัจฉริยะ หากมีผู้ยื่นสอบราคารายเดียว คณะกรรมการเปิดซองสามารถพิจารณาราคาได้ไหม หรือต้องยกเลิกแล้วประกาศใหม่

             ผมตอบว่า   ถ้ามีหลักฐานว่าส่งประกาศสอบราคาไปให้หลายแห่งแล้ว เช่น หลักฐานการส่งทางไปณษณีย์ลงทะเบียนของที่ทำการไปรษณีย์ฯ แม้จะมีผู้ยื่นซองเสนอราคาเพียงรายเดียว คณะกรรมการเปิดซองสอบราคาก็สามารถพิจารณาราคาได้ โดยตรวจสอบคุณสมบัติผู้เสนอราคา และถ้าพิจารณาเห็นว่า เสนอพัสดุที่มีคุณภาพและคุณสมบัติเป็นประโยชน์ต่อทางราชการและราคาเหมาะสม ก็สามารถรับการเสนอราคาของผู้เสนอราคานั้นได้

         4. วันที่ 29 เม.ย.58 Nok Nong ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  สามารถแต่งตั้งให้ครูผู้ช่วย กศน.ที่ได้รับการบรรจุเมื่อ 20 มีนาคม 2558 รักษาการแทน ผอ.ได้ไหม

             ผมตอบว่า  ได้  ( แล้วแต่ ผอ.สนง.กศน.จังหวัด )
             ผู้รักษาการในตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา จะต้องเป็นข้าราชการครู หรือข้าราชการประเภทบุคลากรทางการศึกษาอื่น เช่น ข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์  ( ครูผู้ช่วยบรรจุใหม่ก็เป็นข้าราชการครู  แต่จะเหมาะสมแค่ไหนอยู่ที่ ผอ.สนง.กศน.จังหวัด จะพิจารณาแต่งตั้งผู้ที่มีความเหมาะสม จากผู้ที่มีคุณสมบัติ )


         5. วันเดียวกัน ( 29 เม.ย.) Yaowanart Chaichalad กศน.อ.ลานกระบือ ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  การจ้างเหมาบริการ บรรณารักษ์อัตราจ้าง ครูสอนคนพิการ ครู ปวช. ใครมีอำนาจในการเซ็นเป็นผู้ว่าจ้างในสัญญาจ้าง

             ผมตอบว่า   การจ้างเหมาบริการ เป็นการจ้างตามระเบียบพัสดุ จึงอยู่ที่วงเงิน เหมือนกับการซื้อนั่นแหละ  ผู้ซื้อ/ผู้จ้าง เป็นคนเดียวกันถ้าวงเงินเท่ากัน โดยต้องคำนวณวงเงินตลอดอายุสัญญาจ้าง เช่นถ้าจะทำสัญญาจ้างเพียง 6 เดือน ค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท รวม 6 เดือนเป็นวงเงินเท่าไร เกินอำนาจ ผอ.กศน.อำเภอหรือไม่ ถ้าไม่เกิน ผอ.กศน.อำเภอก็เป็น "ผู้จ้าง" ในสัญญาจ้าง

         6. วันเดียวกัน ( 29 เม.ย.) กศน.ตำบลหนองกุง ศรช.บ้านม่วงเป ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  นักศึกษาเรียนมาแล้ว 2 ภาคเรียน ทำ กพช.แล้ว 106 ชั่วโมง แล้วลาออก ย้ายสถานศึกษามาเรียนที่สถานศึกษาใหม่  กพช. 106 ชั่วโมง นำมาใช้ได้ไหม (เป็นนักศึกษาที่ต้องทำ กพช. 200 ชั่วโมง)  หรือว่าสมัครเรียนสถานศึกษาใหม่ต้องเริ่มทำ กพช. ใหม่ทั้ง 200 ชั่วโมง

             ผมตอบว่า   หลักสูตรเดียวกัน เช่นหลักสูตร กศน.ปี 51 เหมือนกัน โอน กพช.ได้ ทำใหม่แค่ 94 ชั่วโมง  ส่วนวิธีการลง กพช. 106 ชั่วโมง ในโปรแกรม ITw ของสถานศึกษาใหม่ ให้หาดูจากคำตอบเก่า ๆ ที่เคยตอบ เช่นใน
             - ข้อ 1 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/491341
             - ข้อ 7 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/07/5.html
             - ข้อ 2 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/536565
             - ข้อ 4 (1) ที่ http://nfeph.blogspot.com/2015/04/etv.html

         7. คืนวันที่ 29 เม.ย.58 มี ครู ศรช. ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม 3 ข้อ  ผมตอบดังนี้

             1)  ถาม  การทำงานของครุศรช.กับ กศน.ตำบล เป็นรูปแบบไหน ตามสายบังคับบัญชา เป็นแบบภาคีเครือข่าย หรือลูกน้องกับหัวหน้า?
                  ตอบ  หมายถึงการทำงาน ระหว่าง ครู ศรช. กับ ครู กศน.ตำบล ใช่ไหม  ครู ศรช.กับครู กศน.ตำบล ไม่ได้ทำงานแบบภาคีเครือข่ายกัน  ถ้าครู กศน.ตำบล เป็นหัวหน้า กศน.ตำบล ก็จะเป็นหัวหน้าทีม ส่วนครู ศรช.เป็นสมาชิกในทีม

             2)  ถาม  จบวุฒิครูมา อยากทำในเรื่องการสอนของ กศน.ให้มันมีประสิทธิภาพ  แต่ทำแล้วตัวคนเดียวเหมือนตัวตลก  ลองบอกแนวทางให้หน่อย หรือมีตำแหน่งงานตรงไหนบ้างที่จะได้ใช้ความตั้งใจให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ เพราะมาอยู่ กศน.แล้วดันรัก กศน.เข้าแล้ว เลยอยากปรับให้เข้ากับ กศน.
                  ตอบ  ทุกตำแหน่งสามารถใช้ความตั้งใจให้เกิดประโยชน์ได้  เรื่องการสอน กศน. ถ้าแบบไหนเกิดประสิทธิภาพเป็นประโยชน์ แม้จะเหมือนตัวตลกก็ก้มหน้าทำไปเถอะ ( ถ้ามีคนห้ามสอนจึงจะต้องปรับให้เข้ากับทิศทางลมด้วย อาจทำไม่ได้เต็มที่  ทำเท่าที่ทำได้ )  วันหนึ่งสภาพต่าง ๆ จะเปลี่ยนไป แล้วจะประสบความสำเร็จเอง  ( ท่านอดีตเลขาธิการ กศน. นายประเสริฐ  บุญเรือง
ห้ามใช้คำว่า "พบกลุ่ม" เด็ดขาด ถือเป็นคำหยาบ “ต่อไปนี้จะมีแต่ "การเรียนการสอน" นักศึกษามาเรียน ครูมาสอน สัปดาห์ละ 9 ชั่วโมง เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษา"  หมายถึงว่า ให้ความสำคัญต่อ "การเรียนการสอน" อย่างมีคุณภาพ  เพราะที่ผ่านมา กศน.ใช้คำว่า "พบกลุ่ม" โดยมักจะใช้เวลาไปกับการพูดคุยประสานงานกัน ต่อไปนี้ให้เน้นการเรียนการสอน ซึ่งท่านเคยบอกให้เปลี่ยนการ พบกลุ่ม เป็น การเรียนการสอน มาระยะหนึ่งแล้ว แต่มีบางคนยังไม่ค่อยตระหนัก ท่านจึงพูดคำนี้ขึ้นมาเพื่อดึงความสนใจให้ตระหนัก )

             3)  ถาม  ทำไมงานเน้นกันที่แผนผลที่จะต้องรายงานกันจัง ไม่ไปเน้นที่อย่างอื่นบ้าง เสียเวลามากกับเรื่องแบบนี้ แถมทำไปไม่ถูกใจหน้าห้องอีก ส่งแก้ส่งแก้จนน่าเบื่อ มีแนวทางแก้ไขอย่างไรบ้าง
                  ตอบ  แผน/ผล เป็นสิ่งสำคัญ จะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์  การรายงานก็เป็นเรื่องปกติของระบบการทำงานทุกแห่ง ควรกำหนดแผนและเป้าหมายให้เหมาะสม ถ้าทำแผนไปบ่อย ๆ ก็จะเกิดทักษะเอง จะมีต้นฉบับไว้ก็อปปี้ไปปรับปรุงให้ดีขึ้นในครั้งต่อๆไป แล้วความยากในการทำแผน/ผลจะลดลง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย