วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

1. ทำไมไม่มี “เงื่อนไข ขอบเขต และมาตรฐานผลงาน” ในการทำบรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ, 2.ผอ.จังหวัดบางท่านชอบให้ครูไปทำงานที่จังหวัด จังหวัดยังมีอำนาจให้ครูไปช่วยราชการ 30 วันไหม, 3.มีระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมผู้เรียนไม่ให้ไปต่างจังหวัดไหม, 4.พนักงานราชการเสียชีวิตจะได้บำเหน็จอะไร, 5.จังหวัดมอบอำนาจให้อำเภอรับสมัครครู ศรช.เองได้ไหม, 6.ยื่นขอเข้าอบรมพัฒนาเป็นครูชำนาญการพิเศษ แต่ตอนนี้เป็น ผอ.แล้ว จะเข้าอบรม ผอ.ชำนาญการพิเศษได้ไหม, 7.เบิกจ่ายเงินอุดหนุนเป็นค่าอะไรได้บ้าง เบิกเป็นเงินรางวัลประกวดโครงงานนักศึกษาได้ไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 26 มิ.ย.58 วิวิ ห้องสมุด ถามต่อท้ายโพสต์ผมในไทม์ไลน์เฟซบุ๊คผม ว่า  มีเงื่อนไข ขอบเขต และมาตราฐานผลงาน การประเมินผลงานชำนาญการพิเศษ ของบรรณารักษ์ไหม  อยากทำผลงานแต่ไม่ทราบแนวทาง  ( ที่ลงเว็บ สำนักงาน กศน. มีแต่ของตำแหน่งนักวิชาการศึกษา กับนักจัดการงานทั่วไป )

             เรื่องนี้  ผมเรียนถาม จนท.กจ.กศน. ในวันที่ 29 มิ.ย. ได้รับคำตอบว่า ยังไม่มีเงื่อนไขขอบเขตและมาตรฐานผลงานของตำแหน่งบรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ เพราะยังทำไม่เสร็จเนื่องจากเปลี่ยนคณะกรรมการชุดใหม่  ของบรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษจึงยังให้ทำตามรูปแบบเดิม  ( ดูแบบ ปส. ในหนังสือที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/library.pdf   ส่วนรายละเอียดและตัวอย่างการทำ ลองสมัครเข้ากลุ่มในเฟซบุ๊คเช่น "กลุ่มบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน..คนขยัน" แล้วถามสมาชิกในกลุ่ม   อย่างไรก็ตาม มีรายละเอียดปลีกย่อยอีก ติดต่อสอบถามได้โดยตรงที่ สนง.กศน.จ. หรือ กจ.กศน. )
             กจ.กศน.ฝากย้ำว่า นักวิชาการศึกษา กับนักจัดการงานทั่วไป ต้องทำตามเงื่อนไขใหม่นะ เช่น ต้องทำผลงาน 2 เรื่อง  ต่างจากบรรณารักษ์ที่ยังทำเรื่องเดียวตามเดิม  แบบฟอร์มบางส่วนก็ไม่เหมือนกับของบรรณารักษ์

 

         2. วันที่ 29 มิ.ย.58 อำเภอหนึ่ง ถามผมว่า  จังหวัดยังมีอำนาจนำครูอาสาฯไปช่วยราชการที่จังหวัดไหม บางจังหวัดยังนำครูอาสาฯไปทำงานที่จังหวัดตลอดมาถึง 10 คน ไม่ใช่ให้ไปแค่ 30 วัน  อ้างว่า ถ้าครูย้ายลงอำเภอ ใครจะทำงานเป็นล่ะ ทำกันไม่ได้หรอก

             ผมตอบว่า   เรื่องให้ครูไปทำงานที่อำเภอ  ทุกจังหวัดต้องดำเนินการกันมาตั้งแต่ พรบ.กศน.ปี 51 มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่ง สนง.กศน.จังหวัดเป็น "หน่วยงานทางการศึกษา" ไม่ใช่ "สถานศึกษา" ครูต้องทำงานที่สถานศึกษา แม้แต่ข้าราชการครูที่ตำแหน่งอยู่ สนง.กศน.จังหวัด ก็ต้องขอย้ายลงอำเภอ ใครไม่อยากย้ายก็ต้องสมัครเป็น ศน.  ครูอาสาฯก็ลักษณะเดียวกัน บางคนสอบใหม่เป็นพนักงานราชการตำแหน่งอื่นเพื่อทำงานที่ สนง.กศน.จังหวัดต่อไป   ตอนนั้นก็วุ่นวายพอสมควร  เหตุผลเขาที่ว่าคนเก่าออกไปหมดคนใหม่จะทำงานได้อย่างไร ก็จริงครับ มีปัญหาลักษณะนี้จริง  แต่ทุกจังหวัดก็ต้องทำกันมาแล้ว แก้ปัญหากันไป

             วันนี้บางจังหวัดยังเข้าใจผิดอยู่เลยว่า ผอ.จังหวัดสามารถสั่งให้ครูไปช่วยราชการที่จังหวัดหรือที่อำเภออื่นได้ 30 วัน  ที่จริงคำสั่งมอบอำนาจนี้ก็ยกเลิกไปแล้ว ตอนนี้แม้แต่ให้ไปช่วยราชการไม่ถึง 30 วันก็ไม่ได้  ยกเลิกโดยคำสั่ง สป.ศธ.ที่ 582/52 โดยให้เหตุผลในการยกเลิกว่า “การมอบอำนาจกรณีดังกล่าวมีเจตนาจะให้การบริหารราชการเป็นไปอย่างรวดเร็วและสั่งการโดยให้ยึดผลประโยชน์ของทางราชการเป็นที่ตั้ง แต่ ผู้รับมอบอำนาจได้นำไปใช้โดยไม่ถูกต้อง จึงยกเลิก"

             ผอ.จังหวัดบางท่านชอบให้ครูไปทำงานที่จังหวัด ( ครูก็ชอบ )  พอ ผอ.จังหวัดย้ายไปจังหวัดอื่นก็ไปทำที่จังหวัดใหม่อีก ส่วนจังหวัดเดิมผู้ที่ย้ายมาแทนท่านก็ส่งตัวครูกลับ เพราะทำผิดอาจถูกร้องเรียน








         3. วันที่ 29 มิ.ย.58 Nattha Suparat สนง.กศน.จ.ปทุมธานี ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  มีระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมผู้เรียนที่ไม่ให้ไปต่างจังหวัดไหม

             ผมตอบว่า   ตามกรอบการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของสำนักงาน กศน. ข้อ 3.3 กำหนดว่า  ถ้าจัดกิจกรรมในรูปแบบศึกษาดูงาน ให้ไปในพื้นที่ใกล้เคียงหรือภายในจังหวัด/ภาคเดียวกัน  กรณีออกนอกพื้นที่ ให้ขอความเห็นชอบจากผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัด/กทม. และ ข้อ 4 ย่อหน้าท้าย ไม่ให้สถานศึกษาเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้เรียน  ฉะนั้น งบคงไม่เพียงพอที่จะไปไกล  ( ดูกรอบการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ได้ที่  https://db.tt/lke71Gou )
 

         4. วันที่ 1 ก.ค.58 Khamton Wannashu ถามต่อท้ายที่ผมโพสต์ในเฟซบุ๊คกรณีครู กศน.ตำบล ของ กศน.อ.เวียงชัย จ.เชียงราย เสียชีวิต ว่า  นี่เรียกว่าตายในหน้าที่ ปูนบำเหน็จกี่ขั้นเหมือนทหารมั้ยครับ สงสารลูกเมีย

             ผมตอบว่า   ไม่เหมือนทหาร  ( ข้าราชการครูชายแดนใต้ก็ไม่ได้ปูนบำเหน็จเป็นขั้นเหมือนทหาร )  โดยถ้า ข้าราชการ/พนักงานราชการ เสียชีวิตเนื่องจากการทำงานให้ราชการ จะได้รับเงินทดแทน เป็น ค่าทำศพ หนึ่งร้อยเท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน แต่ กรณีนี้ มีผู้บอกว่า ไม่ได้เสียชีวิตเนื่องจากการทำงานให้ราชการ  ฉะนั้นจะไม่ได้รับเงินทดแทนหรือเงินอื่นจาก ส่วนราชการ จะได้รับในส่วนอื่น เช่น เงิน ชพค., เงินประกันสังคม
             ในส่วนของเงินประกันสังคม จะได้
             1)  ค่าทำศพ 40,000 บาท
             2)  เงินสงเคราะห์
                  - หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเกินกว่า 3 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์ 1.5 เท่าของเงินเดือน
                  - หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเกินกว่า 10 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์ 5 เท่าของเงินเดือน
             3)  เงินบำเหน็จชราภาพกรณีตาย
                  - หากจ่ายเงินสมทบกองทุนชราภาพไม่ครบ 12 เดือน ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จกรณีตาย เท่ากับเงินสมทบเฉพาะส่วนที่ผู้ประกันตนจ่าย
                  - หากจ่ายเงินสมทบกองทุนชราภาพเกิน 12 เดือน ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จกรณีตาย เท่ากับเงินสมทบทั้งส่วนของผู้ประกันตนและนายจ้างจ่าย พร้อมดอกผล

         5. เย็นวันที่ 2 ก.ค.58 นี่เหละ วริศราภรณ์ สารี่ นิติกรตัวน้อย ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  กศน.จังหวัด สามารถมอบอำนาจให้ กศน.อำเภอ เปิดสอบรับสมัครสรรหาครู ศรช. ครูผู้สอนคนพิการ เองได้ไหม

             ผมตอบว่า   ถ้าเป็นการจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุ ปลัดกระทรวงฯมอบอำนาจให้ ผอ.กศน.อำเภอดำเนินการจ้างเองตามวงเงิน  แต่ถ้าเป็นการจ้างแบบครู ศรช. จังหวัดได้รับมอบอำนาจมาจากปลัดกระทรวงฯ จะมอบอำนาจต่ออีกไม่ได้  ที่ทำได้คือ ออกเป็นคำสั่ง/ประกาศของจังหวัด แต่รายชื่อคณะกรรมการในคำสั่งเป็นรายชื่อบุคลากรอำเภอ และกำหนดสถานที่ต่างๆในคำสั่งเช่นสถานที่รับสมัคร ให้ไปสมัครที่อำเภอ
 

         6. คืนวันเดียวกัน ( 2 ก.ค.) ผมตอบคำถามที่มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  การอบรมชำนาญการพิเศษ วันที่ 16-19 ส.ค.นี้ ตอนยื่นขอตอนตำแหน่งครู แต่ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารสถานศึกษา  ได้โทรปรึกษาทาง กจ. ได้รับแจ้งว่าไม่สามารถเข้าร่วมได้  ขอสอบถามว่า เข้าอบรมในหลักสูตรผู้บริหารได้หรือไม่ ขัดกับระเบียบกฎหมาย หรือขัดกับหลักสูตรการอบรมอย่างไร  กลัวเสียสิทธิ์ในการจะยื่นทำชำนาญการพิเศษในโอกาสต่อไป

             ผมตอบว่า  คงต้องฟัง กจ.ครับ ตอนยื่น ๆ เป็นครูชำนาญการพิเศษ ถ้าจะเปลี่ยนยื่นใหม่ในตอนนี้ เป็น ผอ.ชำนาญการพิเศษ คงหมดเวลายื่นแล้ว ที่สำคัญตอนนี้คงยังไม่มีสิทธิ์ทำ ผอ.ชำนาญการพิเศษ ถ้ายังไม่มีสิทธิ์ทำ ก็ยังไม่มีสิทธิ์เข้าอบรมพัฒนา  เมื่อถึงวันที่มีสิทธิ์ทำ ผอ.ชำนาญการพิเศษ ต้องสมัครเข้าอบรมพัฒนาเป็น ผอ.ชำนาญการพิเศษใหม่
             ผู้ที่เคยเป็น ขรก.ตำแหน่งครู เมื่อเปลี่ยนเป็น ผอ.หรือรอง ผอ. การนับอายุราชการเพื่อประเมินวิทยฐานะ ไม่สามารถนับรวมเวลากับตำแแหน่งครู ต้องเริ่มนับใหม่ เพราะเป็นคนละประเภทกัน
             คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้มีและเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ก็คือ มีคุณสมบัติในการเสนอขอรับการประเมินให้มีและเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ  และผู้ผ่านการพัฒนาฯถ้ายังไม่เคยส่งแบบคำขอเลื่อนวิทยฐานะ ก็ต้องส่งภายใน 3 ปีหลังผ่านการพัฒนา ถ้าไม่ส่งอาจถูกเรียกชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ส่วนราชการออกให้ในการพัฒนา  ( ต้องมีสิทธิส่งคำขอเลื่อนเป็น ผอ.ชำนาญการพิเศษอยู่ก่อน จึงจะมีสิทธิ์เข้าอบรมพัฒนาเป็น ผอ.ชำนาญการพิแศษ )

             เมื่อคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ที่จะส่งคำขอเลื่อนเป็น ผอ.ชำนาญการพิเศษ ถ้าปีนั้นไม่มีการเปิดอบรมพัฒนา ก็ส่งคำขอและทำชำนาญการพิเศษให้ผ่านไปก่อนได้ จะเข้ารับการพัฒนาฯ ก่อนหรือหลังผ่านการประเมิน ก็ได้ เพียงแต่ ถ้าผ่านการประเมินชำนาญการพิเศษแล้ว แต่ยังไม่ผ่านการพัฒนา หรือเงินเดือนยังห่างขั้นต่ำของอันดับ คศ.3 เกิน 1 ขั้น ก็จะยังไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ  ( ใช้คำว่า พัฒนาก่อนแต่งตั้ง ไม่ใช่ พัฒนาเพื่อทำชำนาญการพิเศษ )
 

         7. คืนวันเดียวกัน ( 2 ก.ค.) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  เบิกจ่ายเงินอุดหนุนเป็นค่าอะไรได้บ้าง เบิกเป็นเงินรางวัลประกวดโครงงานนักศึกษาได้ไหม

             ผมตอบว่า  การเบิกจ่ายเงินอุดหนุน เบิกได้เฉพาะที่กำหนดไว้ตามข้อ 1-13 ในคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่ 895/2551 เรื่องหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินอุดหนุนของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย  ( ดูคำสั่งนี้ได้ในข้อ 6 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/476995 )  เบิกจ่ายเป็นเงินรางวัลไม่ได้  ซึ่งที่ในข้อ 14 ของคำสั่งนี้ กำหนดว่า "ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ" นั้น ส่วนกลางอธิบายว่า ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ต้องขออนุมัติปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นรายกรณี ( ดูคำอธิบายของส่วนกลางนี้ ในหน้า 54 ของคู่มือการจัดการศึกษาต่อเนื่อง ที่  https://db.tt/ByfsCRQc )


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย