วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

1.การติดเข็มพระเทพฯและการแต่งกายปฏิบัติราชการ, 2.บางจังหวัดไม่จ่ายเงินเดือนพนักงานราชการลาคลอด, 3.จัดวิชาชีพ 40 หรือ 50 ชั่วโมง, 4.ครู กศน.ไปเรียน ป.บัณฑิต จ้างวานครูในระบบมาสอนแทนตนได้ไหม, 5.นักธรรมชั้นตรี เทียบเท่าระดับใด, 6.รายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปี 57, 7.ลาออกแล้ว จะได้เงินเพิ่มย้อนหลัง 4 % (1 ขั้น) ไหม-บรรจุวันที่ 1 ธ.ค.57 ได้เงินเพิ่มไหม-ถ้าออกคำสั่งแล้วเบิกจ่ายเงินเพิ่มให้เลยไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันนี้ ( 24 มิ.ย.58 ) สนง.กศน.จ.ขอนแก่น ทำหนังสือแจ้ง กศน.อำเภอทุกแห่งในจังหวัดขอนแก่น เรื่องซักซ้อมความเข้าใจในการแต่งกายปฏิบัติราชการ
             แจ้งเรื่องการแต่งกายประจำวันจันทร์ถึงศุกร์  และมีประเด็นที่น่าสนใจอื่น เช่น
             1)  การติดเข็มพระเทพฯ
                  - เครื่องแบบปฏิบัติราชการ ( ชุดสีกากี ) ติดเหนือป้ายชื่อ
                  - เสื้อสูท ติดบนปกเสื้อ
                  - ชุดซาฟารีหรือชุดไทย ติดขอบกระเป๋าเสื้อ
             2)  ไม่อนุญาตให้ครู ศรช. ครู ปวช. ครูประจำกลุ่ม อัตราจ้าง ทุกตำแหน่ง แต่งกายด้วยชุดกากี เนื่องจากไม่มีระเบียบให้ลูกจ้างชั่วคราวแต่งกายด้วยชุดกากี


         2. คืนวันที่ 24 มิ.ย.58 Mam Panida กศน.อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  หนูเป็นพนักงานราชการ ลาคลอด 45 วัน ได้รับเงินจากประกันสังคมชดเชย 45 วันแล้ว แต่ไม่ได้เงินเดือนจาก กศน.  เค้าบอกว่าเป็นระเบียบของ กศน. ที่ไม่จ่ายเงินเดือนให้ระหว่างลาค่ะ

             ผมตอบว่า   พนักงานราชการลาคลอดแค่ 45 วัน ต้องได้เงินเดือน ( ค่าตอบแทน ) จาก กศน.ตามปกติครับ  ส่วนของประกันสังคม จะจ่ายให้เดือนครึ่งอีกต่างหากไม่ว่าจะลากี่วันหรือไม่ลาก็ตาม  คนละส่วนกัน  ( ส่วนของทางราชการถ้าพนักงานราชการลาคลอดเกิน 45 วัน จึงจะไม่จ่ายเงินเดือนเฉพาะวันที่เกินจาก 45 วัน )
             ควรรีบขอให้ เค้าศึกษาระเบียบใหม่ หรือให้เค้า โทร.ถาม กจ.กศน.


         3. คืนวันเดียวกัน ( 24 มิ.ย.) ไออุ่น สุดน่ารัก ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  สงสัยเรื่องจำนวนชั่วโมงงานการศึกษาต่อเนื่อง อาชีพระยะสั้น เคยอ่านเจอว่ามีคำสั่งให้เป็น 50 ชม. แต่ก็ไม่แน่ใจ เพราะที่ทำอยู่ก็ 40 ชม.

             ผมตอบว่า
             การจัดการศึกษาต่อเนื่อง ( งบดำเนินงานปกติ ) ไม่ว่าจะอาชีพระยะสั้น หรืออะไร จะจัดกี่ชั่วโมงก็แล้วแต่ความเหมาะสมของเนื้อหานั้น ตามปริมาณเนื้อหา ความยากง่าย และสภาพอื่น ๆ เช่น เนื้อหาเดียวกันแต่จัดกับคนพิการก็ใช้เวลามากกว่า  บางเนื้อหาจัดต่ำกว่า 40 ชม.ก็ได้  เพียงแต่
             1)  ถ้าจัดต่ำกว่า 40 ชั่วโมง  ในการประเมินฯภายนอกของ สมศ. จะไม่นำมาประเมินด้วย การไม่นำมาประเมินนี้ไม่ได้หมายความว่า ห้ามจัดต่ำกว่า 40 ชั่วโมง ( หลายคนเข้าใจผิดประเด็นนี้ ) หรือจัดต่ำกว่า 40 ชั่วโมงไม่ดี ( ที่จริงก็คงไม่ดีจริง ๆ เพราะคำว่า "อาชีพ" น่าจะต้องเรียนไม่ต่ำกว่า 40 ชั่วโมง )
             แต่หมายความว่า  ผู้ที่เรียนไม่ถึง 40 ชั่วโมง จะไม่มีเวลาเพียงพอให้สถานศึกษาสอดแทรกปลูกฝังให้เขาเกิดอัตลักษณ์-เอกลักษณ์  จึงไม่ต้องประเมินฯผู้เรียนที่เรียนต่ำกว่า 40 ชั่วโมง เท่านั้นเอง  ( นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ สมศ.ไม่ให้ความสำคัญกับการประเมิน กศ.ตามอัธยาศัย โดยถือว่า กศ.ตามอัธยาศัยเป็นเพียงสื่อการเรียนสื่อหนึ่งของการศึกษานอกระบบ  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าห้ามเราจัด กศ.ตามอัธยาศัย )
             2)  แต่ถ้าเป็นงบการฝึกอาชีพชุมชน ของศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน  กศน.เคยแจ้งแล้วว่า ให้จัดไม่ต่ำกว่า 50 ชั่วโมง และให้สอน "การจัดการ" ( Mini MBA ) ด้วย เหตุผลเดียวกัน คือถ้าเรียนต่ำกว่า 50 ชั่วโมง ไม่น่าจะเป็นวิชาที่นำไปประกอบอาชีพหลักได้


         4. เย็นวันที่ 26 มิ.ย.58 มนูญ ฮับ ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ครู กศน.ตำบล ลาเรียน ป.บัณฑิต เสาร์-อาทิตย์ แล้วจ้างหรือวานครูในระบบมาสอนแทนตัวเองได้หรือไม่อย่างไร

             ผมตอบว่า   ควรใช้วิธีอื่นก่อน เช่น
             - เปลี่ยนไปจัดการเรียนการสอนวันธรรมดา  ( อาจจะเปลี่ยนไม่ได้ถ้า นศ.จำนวนมากไม่สามารถมาเรียนวันธรรมดา  แต่ที่ กศน.อ.ผักไห่ ครูใช้วิธีนี้กันนะ )
             - ถ้าจำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนในวันเสาร์-อาทิตย์ ควรจ้างวานเพื่อนครู กศน.ด้วยกันมาสอนแทนคนนอก  แต่ถ้ามีครูทั้งหมดตำบลละคนเดียว ครูคนอื่นอาจมาช่วยสอนตำบลนี้ไม่ได้เพราะต้องสอนที่ตำบลตนเอง ก็อาจรวม นศ. 2 กลุ่มมาเรียนด้วยกัน   ผู้บริหารอาจช่วยบริหารจัดการเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ เป็นการสนับสนุนส่งเสริมบุคลากรให้ได้ยกระดับความรู้เพื่อมาจัดการศึกษาในสถานศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้น
             - ถ้า นศ. 2 กลุ่มมาเรียนด้วยกันไม่ได้เพราะอยู่ห่างกันมาก และแก้ปัญหาวิธีอื่นไม่ได้ ก็ใช้วิธีที่ถาม คือจ้างวานครูในระบบมาสอนแทนตัวเองได้ ถ้า ผอ.อนุญาต

         5. คืนวันเดียวกัน ( 26 มิ.ย.) ครูน้อย ตัวน้อย น้อย ถามบนไทม์ไลน์เฟซบุ๊คผม ว่า  นักธรรมชั้นตรี เทียบเท่ากับระดับใดในการศึกษาขั้นพื้นฐาน

             ผมตอบว่า
             - นักธรรมชั้นตรี ไม่เทียบเท่าระดับประถม ให้สมัครเรียนระดับประถม
             - นักธรรมชั้นเอก เทียบเท่าระดับประถม ( ป.6 ) ให้สมัครเรียนต่อ ม.ต้น
             - เปรียญธรรม 3 ประโยค ( ป.ธ.3 ) เทียบเท่า ม.ต้น ( ม.3 ) ให้สมัครเรียนต่อ ม.ปลาย

             ระบบการศึกษาความรู้ทางพระพุทธศาสนาตามหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรม มี 2 แผนก คือ แผนกธรรม กับ แผนกบาลี
             ก. แผนกธรรม แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
                 1)  นักธรรม  เป็นหลักสูตรสำหรับพระภิกษุสามเณร มี 3 ระดับ คือ นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก
                 2)  ธรรมศึกษา  เช่นเดียวกับนักธรรม แต่เป็นหลักสูตรสำหรับให้คฤหัสถ์ทั้งชายและหญิงได้ศึกษา มี 3 ระดับ คือ ธรรมศึกษาตรี ธรรมศึกษาโท ธรรมศึกษาเอก
                      นักธรรมชั้นเอก เทียบเท่าระดับประถม ( ป.6 )
                      ในอดีต สำนักงานทดสอบทางการศึกษา กรมวิชาการ บันทึกไว้ว่า พ.ศ.2487 ครม. เทียบให้นักธรรมตรีเท่าประโยคประถมศึกษาตอนต้น ( ป.4 ) ตามหนังสือเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ น.ว. 83/2487 ลงวันที่ 17 มี.ค.87 ( ปัจจุบันหาหนังสือฉบับนี้ไม่พบ )
                 กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ประกาศให้ ธรรมศึกษา เทียบเท่านักธรรม แต่ กศน.กำหนดให้ทั้งนักธรรมเอกและธรรมศึกษาเอก เป็นคุณสมบัติในการสมัครเข้าเรียนระดับ ม.ต้น

             ข. แผนกบาลี ( เปรียญธรรม )  มี 8 ชั้น
                 ชั้นที่ 1 เรียกว่า ประโยค 1-2
                 ชั้นที่ 2 ถึง 8 เรียกว่า เปรียญธรรม 3 ประโยค ถึง เปรียญธรรม 9 ประโยค
                 พ.ศ.2518 กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้ เปรียญธรรม 4 ประโยค เทียบเท่าประโยคมัธยมศึกษาตอนต้น และเปรียญธรรม 6 ประโยค เทียบเท่าประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย
                 แต่ต่อมา พ.ศ.2526 หลังจากที่มีการเปลี่ยนหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นและหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายใหม่ กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศเทียบความรู้วุฒิเปรียญธรรมกับหลักสูตรใหม่ เป็นดังนี้
                 - เปรียญธรรม 3 ประโยค ( ป.ธ.3 ) เทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนต้น ( ม.3 )
                 - เปรียญธรรม 5 ประโยค ( ป.ธ.5 ) + ได้รับแต่งตั้งให้สอนวิชาพระปริยัติธรรมในโรงเรียนพระปริยัติธรรมไม่น้อยกว่า 1 ปี และทำการสอนมาแล้วไม่ต่ำกว่า 300 ชั่วโมง เทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนปลาย ( ม.6 )
                 สรุปว่า ปัจจุบัน เปรียญธรรม 3 ประโยค เทียบเท่า ม.3 ส่วนเปรียญธรรม 5 ประโยค จะเทียบเท่า ม.6 ได้ต่อเมื่อมีประสบการณ์การสอน  แต่ถ้าเปรียญธรรม 6 ประโยค จะเทียบเท่า ม.6 โดยไม่ต้องมีประสบการณ์การสอน
                 นอกจากนี้ พระราชบัญญัติผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ.2527 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2540 ได้เทียบ เปรียญธรรม 9 ประโยค เท่าวุฒิปริญญาตรี

              ( กระทรวงศึกษาธิการ ไม่มีประกาศเทียบวุฒิ นักธรรมชั้นโท ประโยค 1-2 และ เปรียญธรรม 4-7-8 ประโยค )

         6. เช้าวันที่ 29 มิ.ย.58 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค ว่า  บางคนทราบแล้วว่า ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยภรณ์ประจำปี 2557 ให้ใครบ้าง แต่เพิ่งจะประกาศอย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษาในเดือนนี้  ( ตามระเบียบ จะประดับเครื่องราชฯนั้นได้เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษานี้ หรือเมื่อรับพระราชทานจากพระหัตถ์ แล้ว )
             ควรจด ปี ฉบับ เล่ม ตอนที่ หน้าไว้เป็นหลักฐาน  ( เจ้าหน้าที่งานบุคลากรต้องบันทึก ปี ฉบับ เล่ม ตอนที่ หน้าไว้ในทะเบียนประวัติบุคลากรทุกคน )
             - ข้าราชการ ดูได้ที่  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/B/017/008/2.PDF
             - ลูกจ้างประจำ ดูได้ที่  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/B/017/012_1/2.PDF  
             - พนักงานราชการ ดูได้ที่  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/B/017/014_5/118_2.PDF
             - เหรียญจักรพรรดิมาลา ดูได้ที่  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/B/017/015_2/2.PDF

 

         7. ช่วง 15-26 มิ.ย.58 มีอย่างน้อย 3 คน ถามผมในเฟซบุ๊ค ว่า ที่จะมีการเพิ่มเงินเดือน 4 % หรือ 1 ขั้น ย้อนหลังตั้งแต่ 1 ธ.ค.57 นั้น

             7.1  ถ้าลาออกแล้ว จะได้เพิ่มย้อนหลังด้วยไหม
                   ผมตอบไปแล้วว่า  ได้  ถ้าบรรจุไม่เกินวันที่ 30 พ.ย.57 และลาออกหลังวันที่ 30 พ.ย.57 ก็จะได้เงินเพิ่มย้อนหลังด้วย  ถ้าเป็นพนักงานราชการ จังหวัดจะต้องออกคำสั่งให้ด้วยถึงแม้วันนี้จะลาออกไปแล้ว ในคำสั่งยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องจะลาออก แต่เวลาเบิกจ่ายเงินให้ จะเบิกจ่ายให้ได้ถึงวันที่ลาออกเท่านั้น
                   วันที่ 29 มิ.ย.58 ผมเรียนถาม กจ.กศน.ในประเด็นนี้อีกครั้งเพื่อความแน่ใจ ได้รับคำตอบที่สรุปว่าผมตอบถูกแล้ว

             7.2  ถ้าได้รับการบรรจุแต่ตั้งในวัน ที่ 1 ธ.ค.57 จะได้เพิ่มด้วยไหม
                   ผมตอบไปแล้วว่า  ไม่ได้  แต่ประเด็นนี้ จนท.กจ.กศน.บอกผมว่า หนังสือ คพร.ไม่ชัด จึงจะตีความเพื่อประโยชน์ของบุคลากร คือ บรรจุวันที่
1 ธ.ค.ได้เพิ่ม แต่บรรจุวันที่ 2 ธ.ค.57 ไม่ได้เพิ่ม

                   เรื่องนี้ผมถามต่อไปที่ คพร. ได้รับคำตอบว่า บรรจุหลังวันที่ 30 พ.ย.57 ไม่ได้เพิ่ม โดย จนท.คพร.บอกว่า ถ้า จนท.กจ.กศน.โทร.ถามฝ่ายเลขานุการ คพร. 02-5471000 ต่อ 6625 6626 หรือ 6629 ทุกคนจะตอบเหมือนกันหมดได้ทันทีว่า บรรจุวันที่ 1 ธ.ค.57 ไม่ได้เพิ่ม  เป็นมติ ครม.เดียวกัน แต่ละกระทรวงจะตีความและเบิกจ่ายให้ต่างกันไม่ได้  สังกัดใดเบิกจ่ายให้ผิดก็ต้องเรียกเงินคืน  ( ผมแจ้งประเด็นนี้ให้ กจ.กศน.ทราบแล้ว )

             7.3  ถ้าจังหวัดส่งข้อมูลการเพิ่มค่าตอบแทนย้อนหลัง 4 % ของพนักงานราชการให้ กจ.กศน.ตรวจทาน และจังหวัดออกคำสั่งเสร็จแล้ว จะเบิกจ่ายเงินเพิ่มย้อนหลังให้พนักงานราชการได้เลยไหม
                   จนท.กจ.กศน.ตอบว่า  เหมือนกับปีที่ผ่านมา คือให้อยู่ในดุลยพินิจของแต่ละจังหวัด บางจังหวัดแม้เห็นว่าเงินที่มีอยู่จะเบิกจ่ายให้ได้ไม่ถึงเดือน ก.ย.58 แต่ก็เบิกจ่ายให้เลยได้ โดยทำแผนขอเงินมาเพิ่มเติมภายหลังก็ได้  แต่บางจังหวัดอาจจะคอยขอเงินมาเพิ่มเติมให้พอจ่ายถึงเดือน ก.ย.58 ก่อนแล้วจึงเบิกจ่ายให้พนักงานราชการก็ได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย