วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

1.สถานศึกษาเอกชนไม่คืนใบ รบ.ให้เปลี่ยนมาเรียน กศน., 2.การทำชำนาญการพิเศษของบุคลากรมาตรา 38 ค.(2), 3.มี ป.บัณฑิต ให้บุคคลทั่วไปเรียนไหม, 4.ข้อมูลที่น่าสนใจจากท่านรองฯวีระกุล, 5.การปฏิบัติการสอนเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชัพครู, 6.ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่, 7.ตรวจสอบวุฒิพบว่ารูปเปลี่ยน ทำอย่างไร..



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เย็นวันที่ 14 ก.ค.58 ผมตอบ Pichest Sreesompan ที่ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า มี นศ.มาสอบถามการสมัครเรียนแต่เขามีปัญหาตรงที่ใบวุฒิการศึกษา สถาบัน ปวช.เอกชนที่เขาเคยเรียนไม่ยอมคืนให้  สงสัยว่าทางโรงเรียนเก่ามีสิทธิ์อันชอบธรรมหรือไม่ที่จะยึดไว้ก่อนจนกว่าจะจ่ายค่าเทอมก่อนแม้จะลาออกแล้ว

             ผมตอบว่า   ไม่ว่าคำตอบของผมจะเป็นอย่างไร ทาง ปวช.เอกชนเขาคงไม่สนใจคำตอบผม   ที่ถูกต้องใบวุฒิเดิมตอนสมัคร เมื่อสถานศึกษาตรวจสอบแล้วต้องคืนฉบับจริงให้  ( กศน.เราเองบางแห่งก็ยังเก็บฉบับจริงไว้ ซึ่งไม่ถูกต้อง )   เรื่องนี้ผมไม่รู้จะแนะนำอย่างไร จะให้ไปขอใบแทนที่สถานศึกษาดั่งเดิมก็ไม่รู้จะถูกต้องหรือเปล่า

         2. วันที่ 16 ก.ค.58 ผมเรียนถามท่าน ผอ.กจ.กศน. เกี่ยวกับการทำชำนาญการพิเศษของข้าราชการตำแหน่ง บรรณารักษ์ นักวิชาการศึกษา นักจัดการงานทั่วไป  ท่านบอกว่า

             - ถ้าทำชำนาญการพิเศษผ่าน ก็จะต้องย้ายไปดำรงตำแหน่งตามตำแหน่งที่สมัครทำชำนาญการพิเศษ
             - เมื่อย้ายไปแล้ว จะขอย้ายในภายหลังอีก ก็ต้องขอย้ายไปยังตำแหน่งว่างหรือย้ายสับเปลี่ยนกับ ตำแหน่งเดียวกัน ระดับเดียวกัน  เช่น บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ ก็ต้องย้ายไปยังตำแหน่งบรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษด้วยกัน
             - ที่ใดยังเป็นอัตราตำแหน่งชำนาญการ ไม่ใช่ชำนาญการพิเศษ ถ้ามีปริมาณงาน/ภาระงานเพิ่มมากขึ้น จะขอปรับปรุงอัตราตำแหน่งเป็นชำนาญการพิเศษ ก็ให้จังหวัดเสนอเรื่องไป  ( จะได้รับอนุมัติหรือไม่ อยู่ที่การพิจารณาของ ก.ค.ศ. )

         3. คืนวันเดียวกัน ( 16 ก.ค.58 ) มีผู้ถามในเฟซ อ.สมกมล ( คุรุสภา ) ว่า  เมื่อไหร่จะเปิด ป. บัณฑิตสำหรับบุคคลทั่วไปบ้าง  ตอนนี้ รร.เลิกจ้างแล้ว เด็กไม่มี อดเรียนเลย

             อ.สมกมล ตอบว่า  บุคคลทั่วไปถ้าอยากเป็นครู ให้เรียน ป.ตรี หรือ ป.โท หลักสูตรทางการศึกษาที่คุรุสภารับรองเท่านั้น  เมื่อเรียนจบก็ไปสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่คุรุสภาได้เช่นเดียวกับผู้ที่เรียน ป.บัณฑิตตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นมา ( ถ้าเรียนหลักสูตรก่อนปีที่คุรุสภารับรอง ไม่ได้ )   ไม่มีหลักสูตร ป.บัณฑิต ให้บุคคลทั่วไปเรียนแล้ว ถ้าบุคคลทั่วไปต้องการเรียน ป.บัณฑิตวิชาชีพครู ต้องไปเป็นครูผู้สอนในสถานศึกษา เช่น ครูจ้างสอนโดยได้รับหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากกคุรุสภาเท่านั้น

             การผ่านการอบรมมาตรฐานวิชาชีพครู 9 มาตรฐาน ก็สามารถขอใบอนุญาตปฏิบัติการสอนหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู  แต่ ใช้วิธีเรียน ป.บัณฑิต จะดีกว่าอบรม เพราะ ป.บัณฑิต เป็นวุฒิการศึกษา” ( สูงกว่า ป.ตรี แต่ต่ำกว่า ป.โท ใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้ด้วย )  ส่วนการผ่านการอบรมไม่ได้วุฒิการศึกษา ได้เพียงวุฒิบัตรเพื่อไปแสดงในการขอรับใบอนุญาตปฏิบัติการสอน ( กรณีที่ยังไม่มีประสบการณ์สอน ) หรือ รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ( กรณีที่มีประสบการณ์สอนอยู่แล้ว ) เท่านั้น  ( ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ก็ไม่ใช่วุฒิการศึกษา )
             ในส่วนของการอบรม จะเปิดอบรมระยะที่ 2 ประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2558 ( ยังไม่แน่ )
             ผู้ที่มีสิทธิเข้าอบรม คือ
             - ผู้ที่เคยเทียบโอนหรือทดสอบความรู้ 9 มาตรฐานเดิมของคุรุสภา ผ่านแล้วอย่างน้อย 1 มาตรฐาน ก่อน 4 ต.ค.56
             - ผู้ที่เรียนปริญญาทางการศึกษา ( บางคนเรียกว่าวิชาครู ) หลักสูตรเก่า ( หลักสูตร 4 ปี ) โดยเริ่มเรียนก่อน 4 ต.ค.56 และจบหลัง 4 ต.ค.56 สามารถใช้สิทธิอบรมได้ภายใน 1 ปีนับจากวันที่เรียนจบ


         4. ช่วงวันที่ 20-24 ก.ค.58 ผมไปประชุมสร้างข้อสอบ บรรณาธิการและจัดชุดข้อสอบปลายภาค 1/58 ที่โรงแรมนนทบุรีพาเลซ โดยวันแรกท่านรองเลขาธิการฯ ดร.วีระกุล อรัณยะนาค มาเป็นประธานเปิดการประชุม ท่านแจ้งข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น

             1)  กศน. กำลังเสนอ พรบ. 2 ฉบับ คือ
                  - พรบ.จัดตั้งกรมการศึกษานอกโรงเรียน ( ตั้ง กศน.เป็นนิติบุคคล หัวหน้าส่วนราชการตำแหน่งอธิบดี )
                  - พรบ.การศึกษานอกโรงเรียน  เพื่อแยกการจัดการศึกษานอกโรงเรียน ออกจากการศึกษาในระบบมากขึ้น  ( ปัจจุบันการศึกษานอกโรงเรียนต้องมีคุณภาพมาตรฐานเดียวกับการศึกษาในระบบ )
                  พรบ.ทั้ง 2 ฉบับนี้ ได้รับการสนับสนุนทั้งจากท่านปลัดกระทรวง และท่าน รมว.ศธ.

             2)  ครู กศน.เรากลัว นศ.สอบตก จึงมีการบอกข้อสอบ ทั้งในระหว่างคุมสอบ แก้กระดาษคำตอบหลังการสอบ และแก้คะแนนการตรวจกระดาษคำตอบ  ซึ่งเป็นการทุจริตที่ร้ายแรง  จะลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง  อาจห้ามครู กศน.คุมสอบปลายภาค ( ลักษณะเดียวกับที่ห้ามครู กศน.คุมสอบเทียบระดับฯแล้ว )

             3)  สตง.เสนอให้ยุติการสร้างอาคาร กศน.ตำบล เพิ่ม เพราะจากการที่ สตง. ตรวจประเมิน กศน.ตำบลที่สร้างด้วยเงินงบประมาณไปแล้วโดยเงินค่าก่อสร้างและค่าครุภัณฑ์รวมเป็นล้านบาท  พบว่า กศน.ตำบลหลายแห่งดำเนินการตามภาระกิจไม่ครบถ้วน คอมพิวเตอร์ของ กศน.ตำบลก็ถูกแบ่งไปใช้ที่ กศน.อำเภอ/จังหวัด

             4)  ส่วนกลางกำลังพิจารณากำหนดบทบาทหน้าที่ของบุคลากรประเภทต่าง ๆ ใหม่ ให้ชัดเจนและแตกต่างกัน รวมทั้งกำหนดเกณฑ์การปฏิบัติงานสำหรับการประเมินผลการปฏิบัติงาน

         5. เช้าวันที่ 21 ก.ค.58 Wutnfe Mfu เขียนบนไทม์ไลน์เฟซบุ๊คผม ว่า  ได้นำใบจบ ป.บัณฑิต ไปแสดงเพื่อขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่คุรุสภา เจ้าหน้าที่บอกว่า ต้องฝึกสอนใหม่ เพราะจบนานแล้ว จบตั้งแต่ปี 53 โดยต้องฝึกสอนในโรงเรียนในระบบ ต้องทำเอกสารทั้งหมดที่ได้ถ่ายรูปนี้

             ครั้งแรกผมตอบว่า  เราอาจคุยกับเขาด้วยความไม่เข้าใจระบบ จนทำให้เขาไม่เชื่อว่าเราจะทำตามข้อ 11, 12 ในเอกสารนี้ได้
             ที่ผ่านมา การเก็บประสบการณ์การสอนเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู สามารถปฏิบัติการสอนที่ กศน.ได้
             ต้องบอกเขาว่า กศน.เป็นสถานศึกษาตามกฎหมายและผ่านการรับรองจาก สมศ.
             แต่ครู กศน.บางคนไปพูดจนเขาไม่เชื่อถือแล้วว่า กศน.เป็นไปตามข้อ 11 ในเอกสาร  จึงลำบากไปทั้งประเทศ  ( คำว่า "ยืดหยุ่น" ควรใช้พูดภายใน กศน. เท่านั้น )

             ต่อมา วันเดียวกัน ( 21 ก.ค.) ผมได้ถามเรื่องนี้กับคุรุสภา ได้รับคำตอบว่า  ปฏิบัติการสอนที่ กศน.ได้ ถ้า มีชั่วโมงสอนอย่างน้อยปีละ 210 ชั่วโมง






         6. ตามที่ผมแชร์เรื่องเดิมในเฟซบุ๊ค ว่า  กรณีเอกสารหลักฐานการศึกษาที่ตรวจสอบนั้น ไม่ใช่เอกสารฉบับจริง มีการปลอมแปลง ให้สถานศึกษาดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้อง และรายงานให้สำนักงาน กศน.ทราบโดยด่วน นั้น
             มีผู้นำมาถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  หากไม่ดำเนินการแจ้งความและรายงานฯ จะถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือไม่..
?

             ผมตอบว่า  ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีความผิด  ( ผมเคยเขียนเรื่องนี้ในข้อ 6 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/11/etv.html )

         7. วันเสาร์ที่ 25 ก.ค.58 ยาย จอก ถามต่อท้ายโพสต์เก่าในเฟซบุ๊คผม ที่ผมแชร์ ว่า  ในกรณีที่ นศ.รับวุฒิไป 2 ปีแล้ว คงเก็บไว้ไม่ดี รูปติดวุฒิหลุดออกหายไป แต่ นศ.นำรูปใหม่มาติดแล้วนำไปสมัครเรียนที่อื่น ทางโรงเรียนตรวจสอบวุฒิมาทาง กศน.  กรณีนี้แก้ไขอย่างไร  และ ต้องแจ้ง กศน.จังหวัดทุกครั้งที่ตรวจสอบวุฒิ นศ. หรือว่ารวมส่งครั้งเดียว

             ผมตอบว่า
             1)  รูปเป็นส่วนสำคัญของใบ รบ.  ให้ตอบกลับไปที่โรงเรียนที่ส่งใบวุฒินั้นมาให้เราตรวจสอบ ว่า มีการเปลี่ยนรูป
                  ปกติ แม้นานกว่า 2 ปีรูปก็ไม่หลุด ( นศ.อาจจงใจเปลี่ยนรูป )  กรณีรูปหลุดหาย ถือว่าใบ รบ.นั้น ชำรุด ใช้ไม่ได้ ต้องยื่นเรื่องขอใบใหม่ ซึ่งต้องประทับตราประจำสถานศึกษาด้วยหมึกสีแดงชาด ให้บางส่วนของตราติดบนรูปถ่าย และบางส่วนของตราติดที่ที่หัวหน้าสถานศึกษาจะเซ็นชื่อ เพื่อป้องกันการเปลี่ยนรูป  ( เคยมีกรณีใช้ชื่อคนอื่นมาเรียนแทนกัน )

             2)  คำว่ารวมส่งครั้งเดียวหมายถึงอย่างไร สัปดาห์ละครั้งเดียว หรือเดือนละครั้ง เทอมละครั้ง หรือปีละครั้ง .. ในหนังสือที่สำนักงาน กศน.แจ้งเรื่องนี้ ไม่ได้แจ้งให้รวมส่งครั้งเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย