วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

1.ออกใบ รบ.ให้คนต่างด้าวได้หรือ ?, 2.เรื่องน่าสนใจจาก กจ. กศน., 3.อำเภอจะจ้างครู ศรช.เพิ่ม, 4.วิธีเช็ควุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรอง, 5.มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ก็สมัครสอบครู กศน.ตำบลไม่ได้!, 6.เอกนิเทศศาสตร์ สอบบรรณารักษ์ได้ไหม, 7.ประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ไม่มีคำว่า “บัณฑิต”) สอบครู กศน.ได้ไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 19 พ.ค.58 Siriham Anusorn ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ที่ผมเคยตอบว่า “หนังสือสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนที่ ศธ 0210.03/6217 ลว. 6 พ.ย. 49 ให้สถานศึกษาสามารถรับสมัครและออกหลักฐานการศึกษาให้เด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย ได้” นั้น  ไม่สามารถหาหนังสือฉบับนี้มาอ่านได้

             ผมตอบว่า   อยู่ในหนังสือ "คู่มือการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียน หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 (ปรับปรุง พ.ศ. 2549)" หน้า 130-131  หนังสือเล่มนี้ส่วนกลางส่งให้ทุกอำเภอ







         2. วันที่ 20 พ.ค.58 ผมคุยกับ กจ.กศน. ว่า เรื่องคุณสมบัติผู้จะสอบเป็นพนักงานราชการตำแหน่งครูอาสาฯ  ครู กศน.ตำบล  ครู ศรช.ชายแดนใต้ที่เป็นพนักงานราชการ ที่ชัดเจนเป็นอย่างไร

             กจ. บอกว่า
             2.1  คุณสมบัติที่ว่า จบ ป.บัณฑิต วิชาชีพครูก็ได้ นั้น เป็นคุณสมบัติเฉพาะคนในสังกัด กศน. เท่านั้น ถ้าคนนอกสังกัดมาสมัคร ต้องจบครุศาสตร์ การศึกษา หรือ ศึกษาศาสตร์ เท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อจะช่วยเหลือคนในสังกัด กศน.
             2.2  คุณสมบัตินี้ รวมตำแหน่งครู ศรช.ชายแดนใต้ที่เป็นพนักงานราชการด้วย ( เพราะครู ศรช.ชายแดนใต้ เขาก็เรียนว่าครูอาสาฯ )  สรุปว่า พนักงานราชการทุกตำแหน่งที่ขึ้นต้นว่าครู ใช้คุณสมบัติเดียวกัน
             2.3  ในหนังสือฉบับแรก ระบุว่า คุณวุฒิ ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีสาขา ศึกษาศาสตร์ การศึกษา ครุศาสตร์ ฉะนั้น ทั้ง ค.บ., ค.ม., ค.ด., กศ.บ., กศ.ม., กศ.ด., ศษ.บ., ศษ.ม., ศษ.ด. สมัครได้หมด แต่ต้องรับเงินเดือนตามวุฒิ ป.ตรี และจะขอปรับเงินเดือนตามวุฒิ ป.โท ป.เอก ในภายหลังก็ไม่ได้


         3. วันที่ 19 พ.ค.58 นายแวอูเซ็ง อาเก๊ะ ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  อำเภอมีอำนาจในการจ้างครูศูนย์การเรียนชุมชน ในกรณีที่นักศึกษามีจำนวนมากอัตราส่วนครูต่อนักศึกษา 1:66 เด็กเกินไป 300 คน สามรถจะจ้างครู ศรช.เพิ่มได้ไหม อำนาจข้อไหน อย่างไร

             ผมตอบว่า   ปัจจุบันนี้ ทั้งตำแหน่ง ครูอาสาฯ  ครู กศน.ตำบล  ครู ศรช. และ ครูประจำกลุ่ม  ส่วนกลางมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ ไม่ใช่อำเภอ  อำเภอต้องส่งเรื่องไปให้จังหวัดดำเนินการ จังหวัดเป็นผู้ลงนามในประกาศรับสมัครและออกคำสั่ง แต่ในประกาศและคำสั่งนั้น จังหวัดอาจจะกำหนดให้ไปสมัครที่อำเภอ และจังหวัดตั้งบุคลากรอำเภอเป็นกรรมการดำเนินการก็ได้ โดยดำเนินการในนามจังหวัด
             ( เรื่องการจ้างครูอาสาฯ  ครู กศน.ตำบล  ครู ศรช.  อยู่ในคำสั่งที่ปลัดกระทรวงมอบอำนาจให้จังหวัด/กทม. ฉบับที่ใช้อ้างอิงกันเป็นประจำนั่นแหละ  แต่เรื่องครูประจำกลุ่ม ที่เปลี่ยนให้จังหวัดดำเนินการด้วย อยู่ในหนังสือสั่งการที่แจ้งเมื่อไม่ถึง 1 ปีมานี้ )
             ถ้า นศ.เกิน 1:66 อำเภอสามารถแจ้งให้จังหวัดจ้างครู ศรช.เพิ่มได้เลย ไม่ต้องแจ้งส่วนกลางเลย

         4. คืนวันศุกร์ที่ 22 พ.ค.58 นางฟ้า ข้างถนน กศน.อ.ยางตลาด ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  เป็นครู. ศรช.จังหวัดกาฬสินธุ์ จบเอกการจัดการทั่วไป มีสิทธิ์สมัครสอบเป็นนักวิชาการศึกษาได้ไหม

             เรื่องนี้  ก่อนที่ผมจะตอบวิธีเช็คคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรอง ผมเห็นประกาศรับสมัคร กำหนดคุณวุฒิผู้จะสมัครเป็นนักวิชาการศึกษา ว่า วุฒิ ป.ตรี ทุกสาขาที่ ก.ค.ศ.รับรอง ( เหมือนกันกับคุณวุฒิผู้จะสมัครเป็นนักจัดการงานทั่วไป ) ซึ่งต่างจากการรับสมัครสอบครั้งก่อน ๆ จึงสงสัยว่าพิมพ์ผิดหรือไม่
             วันเสาร์ที่ 23 พ.ค.58 ผมจึงเรียนถามท่าน ผอ.กจ.กศน.  ท่านบอกว่า คุณวุฒิในประกาศรับสมัครพิมพ์ไม่ผิด ตอนนี้เขาเปิดกว้างกว่าครั้งที่ผ่านมา

             สำหรับวิธีการเช็คว่า คุณวุฒิใดเป็นคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรอง ผมเคยเขียนบอกเรื่องนี้ประมาณ 4 ครั้งแล้ว ลองดูตอนท้าย ๆ ข้อ 1 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/10/sar.html

         5. วันเสาร์ที่ 23 พ.ค.58  อ.กิตติศักดิ์ ตั้งเจริญ ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  เป็นครู ศรช.อยู่ ตอนที่เรียนจบ ป.ตรีสาขาอื่น เป็นช่วงที่คุรุสภาหยุดให้มีการเรียน ป.บัณฑิต จึงใช้วิธีอบรมจนครบ 9 มาตรฐานวิชาชีพครู เสียค่าอบรม 24,000 บาท และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแล้ว ตอนนี้สมัครสอบเป็นครู กศน.ตำบล ( สนง.กศน.จ.ระยอง ) พอประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบออกมา ปรากฏว่าไม่มีชื่อ เพราะไม่จบ ป.บัณฑิต  ถามว่าถ้ามีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแต่ไม่จบ ป.บัณฑิต จะสมัครสอบครู กศน.ตำบลได้หรือไม่

             เรื่องนี้  ผมได้เรียนถามท่าน ผอ.กจ.กศน. ท่านบอกว่า
             ต้องเป็นไปตามประกาศรับสมัครของ สนง.กศน.จ.ระยอง  ถ้าในประกาศรับสมัครกำหนดว่า ผู้ที่ไม่จบ 3 สาขานั้น ต้องจบ ป.บัณฑิตวิชาชีพครู ก็ต้องจบ ป.บัณฑิตวิชาชีพครูจึงจะสมัครได้  ถึงแม้จะมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แต่ไม่ผ่าน ป.บัณฑิตฯก็สมัครไม่ได้
             ( ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ไม่ใช่คุณวุฒิการศึกษา แต่ ป.บัณฑิตฯ เป็นคุณวุฒิการศึกษา  ผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูโดยการสอบ+อบรม หรือเทียบ 9 มาตรฐานวิชาชีพครู ถ้าสอบเป็นข้าราชการครู จะได้เงินเดือน วุฒิ ป.ตรี 4 ปี ซึ่งน้อยกว่า ผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูโดยการเรียน ป.บัณฑิต ที่จะได้เงินเดือนตามวุฒิ ป.ตรี 5 ปี  ฉะนั้น ป.บัณฑิต กับ การสอบ+อบรม หรือเทียบมาตรฐานวิชาชีพครู จึงไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน )


         6. วันที่ 25 พ.ค.58 DjTannfe Noyplang ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  วุฒิ ป.ตรี สาขานิเทศศาสตร์ ใช้สมัครสอบบรรณารักษ์ได้ไหม

             ผมตอบว่า  ไม่ได้ ต้อง สารนิเทศศาสตร์

         7. คืนวันเดียวกัน ( 25 พ.ค.) Ticha Tuck ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ไม่ได้จบ ป.บัณฑิต แต่จบประกาศนียบัตรวิชาชีพครู ( ไม่มีคำว่า บัณฑิต” ) จะมีสิทธิ์สอบ ครู กศน.ตำบลหรือเปล่า

             ผมตอบว่า   ประกาศนียบัตรวิชาชีพครู ( ปวค.) กับ ประกาศนียบัตรบัณฑิต ( ป.บัณฑิต ) วิชาชีพครู ไม่เหมือนกัน  ป.บัณฑิต เป็นวุฒิระหว่าง ป.ตรี กับ ป.โท ต้องจบ ป.ตรีก่อนจึงจะสมัครเรียนได้  ส่วน ปวค. เป็นวุฒิที่ต่ำกว่า ป.ตรี ไม่จบ ป.ตรีก็สมัครเรียนได้  ถ้าในประกาศรับสมัครครู กศน.ตำบล พิมพ์ว่า ประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู ผู้ที่จบประกาศนียบัตรวิชาชีพครูก็สมัครสอบไม่ได้


วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

1.ย้ายสถานศึกษา หลักสูตรเดียวกัน โอนได้หมดทุกวิชา, 2.บิลน้ำมันที่เติมในการเดินทางไปราชการให้เขียนว่ารับเงินจากหน่วยงานหรือรับเงินจากชื่อบุคคล, 3.จะสอบเป็นครู กศน. ไม่จบ 3 สาขาก็สอบได้ถ้าจบ ป.บัณฑิต, 4.ใบสำคัญวิชาชีพ, 5.การขอโอนเป็นครู และจะทำครูชำนาญการ, 6.การศึกษาต่อเนื่อง(4 อย่าง) เบิกจ่ายได้เฉพาะค่าตอบแทนวิทยากรกับค่าวัสดุฝึก, 7.คุณสมบัติ-เกณฑ์-วิชา สอบรอง ผอ.สนง.กศน.จังหวัด



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 11 พ.ค.58  นางจุไรรัตน์ เจริญสุข ขรก.ครู กศน.อ.ศรีสมเด็จ โทร.มาถามผม ว่า  จัด กศ.ขั้นพื้นฐานในค่ายทหาร ให้แก่ทหารกองประจำการ ( ทหารเกณฑ์ )  แต่ทหารเกณฑ์บางรายจะปลดประจำการโดยที่ยังเรียนไม่จบ ( ใกล้จะจบแล้วมีเพียงบางรายวิชาไม่ผ่าน )  จึงออกใบ รบ.ให้ ว่า “ศึกษาต่อที่อื่น”  ถามว่า ถ้านำใบ รบ.นี้ ไปเทียบโอนเข้าเรียนที่สถานศึกษาอื่น จะเทียบโอนได้หมด หรือเป็นไปตามระเบียบการเทียบโอนคือเทียบโอนได้ไม่เกิน 75 % ของจำนวนหน่วยกิตทั้งหมดในระดับชั้น

             ผมตอบว่า  ถ้าเป็นหลักสูตรเดียวกัน เช่น หลักสูตร กศน.2551 เหมือนกัน จะโอนได้หมดทุกวิชา รวมทั้ง กพช.ด้วย ยกเว้นเฉพาะวิชาเลือกที่ไม่มีในสถานศึกษาแห่งใหม่  ( จริง ๆ แล้ว หลักสูตรเดียวกัน ไม่ถือเป็นการ “เทียบโอน” แต่เป็นการ “โอน” ผลการเรียน ซึ่งนายทะเบียนสามารถดำเนินการโอนได้โดยไม่ต้องให้คณะกรรมการเทียบโอนฯพิจารณา  แต่ในโปรแกรม ITw เรื่องการโอนนี้ยังรวมอยู่ในเรื่อง การเทียบโอน )   ถ้าต่างหลักสูตร เช่นจากหลักสูตร 51 ในระบบ มาหลักสูตร กศน.51 หรือ จากสูตร กศน.44 มาหลักสูตร กศน.51 จึงจะเทียบโอนได้ไม่เกิน 75 % ของจำนวนหน่วยกิตทั้งหมดในระดับชั้น และเทียบโอน กพช.ไม่ได้เลย

         2. วันเดียวกัน ( 11 พ.ค.) มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  กรณีที่เดินทางไปราชการ ทำไมการเงินถึงให้เขียนบิลน้ำมันเป็นชื่อคนที่เป็นเจ้าของโครงการด้วยล่ะ เดิมเขียนชื่อที่อยู่สำนักงาน ถามแทบจะทุกจังหวัดไม่มีการเขียนชื่อคน เค้าเขียนกันแบบเดิมทั้งนั้น

             เรื่องนี้  อ.ชลดา หน่วยตรวจสอบภายใน กศน. ตอบว่า  ต้องเขียนชื่อสำนักงาน ไม่ว่าจะซื้อระหว่างไปราชการ หรือซื้อในโครงการ หรือซื้อแบบใด  ถ้าเป็นการขอใช้รถส่วนตัวไปราชการ ก็ไม่ต้องใช้ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิง
             ( การเขียนชื่อคน อาจจะทำให้ส่อไปในทางที่ นำใบเสร็จค่าน้ำมันเชื้อเพลิงส่วนตัว มาเขียนชื่อหน่วยงานเพิ่มเติมแล้วนำมาเบิกเงินจากทางราชการ )

             ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถูกต้อง ต้องประกอบด้วยข้อมูลสำคัญดังนี้
             - วัน เดือน ปี
             - สถานที่ออกใบเสร็จรับเงิน ถ้าเป็นใบเสร็จรับเงินจากสำนักงานใหญ่ ต้องระบุสาขาหรือสถานที่ประกอบการนั้น ๆ
             - ชื่อหน่วยงานที่จ่ายเงิน
             - ทะเบียนรถ  ต้องถูกต้องตรงกันกับใบขออนุมัติการเดินทาง
             - ต้องระบุปริมาณน้ำมัน ราคาต่อหน่วย และจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น (ทั้งตัวเลข ตัวอักษร)
             - มีผู้เซ็นชื่อรับเงิน

         3. เพิ่มเติมคุณสมบัติการสมัครสอบพนักงานราชการ กศน. ตำแหน่งครูอาสาฯ ครู กศน.ตำบล เป็น มีวุฒิ ครุศาสตร์บัณฑิต หรือศึกษาศาสตร์บัณฑิต หรือการศึกษาบัณฑิต ที่ ก.ค.ศ.รับรอง หรือ ป.บัณฑิตวิชาชีพครู ที่คุรุสภารับรอง

             ( ถ้าที่ใดประกาศรับสมัครตามคุณสมบัติเดิมไปแล้ว แต่ยังไม่มีการเลือกสรร ก็ให้ปรับเพิ่มคุณสมบัติตามนี้และขยายเวลารับสมัครด้วย )
             หมายรวมถึงตำแหน่งครู ศรช.ชายแดนใต้ที่เป็นพนักงานราชการ ด้วย


         4. วันที่ 11 พ.ค.58 พิศนภา แซนดี้ ลาวิลัย ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  การสั่งซื้อใบสำคัญวิชาชีพ ผอ.จังหวัดเป็นผู้ลงนามสั่งซื้อใช่ไหม อยากได้คำสั่งมอบอำนาจนี้

             ผมตอบว่า   ใบสำคัญการจบหลักสูตรระยะสั้น ไม่ใช่วุฒิการศึกษา ไม่ต้องให้ ผอ.จังหวัดเป็นผู้ลงนามสั่งซื้อ  และปัจจุบัน ระเบียบเกี่ยวกับใบสำคัญการจบหลักสูตรระยะสั้น ก็ได้ยกเลิกไปแล้ว ระเบียบปัจจุบันคือ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดการศึกษาต่อเนื่อง พ.ศ.2554 ซึ่งกำหนดไว้ในข้อ 13 แต่เพียงว่า "ให้สถานศึกษาออกวุฒิบัตรที่แสดงการจบหลักสูตร โดยให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นผู้ลงนาม"
             ( สถานศึกษาสามารถจัดพิมพ์วุฒิบัตรเองได้ )

         5. คืนวันเสาร์ที่ 16 พ.ค.58 กศน.ตำบลนาข่า ท่าบ่อ หนองคาย ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  กรณีบรรณารักษ์ได้รับคำสั่งให้เป็นครูประจำกลุ่มโดยไม่มีค่าตอบแทน จะต้องรับผิดชอบ นศ.กี่คน/เทอม ถึงจะมีสิทธิ์โอนเป็นครู เมื่อสอนครบ 2 ปี

             ผมตอบว่า   ก็สอนอย่างน้อย 1 กลุ่มนั่นแหละ ไม่ได้กำหนดจำนวน นศ. แต่ก็พิจารณาจำนวนชั่วโมงสอนต่อสัปดาห์ด้วย
              ( สอดคล้องกับการจะทำชำนาญการหลังจากโอนเป็นครูแล้ว คือก่อนโอนถ้าสอนไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 10 ชั่วโมงหรือคาบ จะนำประสบการณ์การสอนนี้มาลดเวลาในคุณสมบัติการขอมีวิทยฐานะครูชำนาญการได้เต็มเวลา เช่นก่อนโอนเคยสอนสัปดาห์ละ 10 ชั่วโมง อยู่ 2 ปี ก็ลดเวลาได้ 2 ปี ถ้าสอนไม่ถึงสัปดาห์ละ 10 ชั่วโมง ต้องสอนมากกว่า 2 ปี จึงจะขอโอนได้ )

             คุณสมบัติของข้าราชการพลเรือนหรือบุคลากรทางการศึกษาอื่น เช่น ข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ ข้าราชการใน สนง.กศน.จังหวัด/กทม. ที่มีสิทธิ์ขอโอนเป็นข้าราชการครู คือ
             1)  จบปริญญาสาขาวิชาที่ ก.ค.ศ.รับรองและกำหนดเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งข้าราชการครู ( ปกติข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ จะมีคุณสมบัติข้อนี้อยู่แล้ว )
             2)  มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
             3)  มีประสบการณ์การสอน 2 ปี
             ยื่นคำร้องขอโอนเป็นข้าราชการครู โดยใช้แบบฟอร์มคำร้องขอโอนแบบเดียวกับคำร้องขอย้าย  ส่วนใหญ่จะยื่นคำร้องขอโอนในช่วงการขอย้าย/โอนกรณีปกติ ปีละ 2 ครั้ง คือช่วงวันที่ 1-15 ก.พ. กับ 1-15 ส.ค.  หรือยื่นในช่วงที่ส่วนกลางแจ้งเรื่องนี้มา คือ 3-4 ปีหลัง ส่วนกลางจะกันอัตราข้าราชการครูไว้รับโอนกรณีนี้ปีละ 10 อัตรา ซึ่งจะแจ้งอัตรามาให้ขอโอนกัน

             เอกสารหลักฐานที่ใช้ประกอบการขอโอนเป็นข้าราชการครู ก็เป็นเอกสารหลักฐานที่แสดงคุณสมบัติตามข้อ 1.- 3.
             โดยเอกสารหลักฐานที่แสดงคุณสมบัติตามข้อ 3. ( ประสบการณ์การสอน ) ค่อนข้างจะจัดหา/จัดทำยากสักหน่อย เท่าที่ทราบ ก.ค.ศ.เคยขอเอกสารหลักฐานตามข้อ 3. คือ
             - หนังสือรับรองประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ในการสอน ระบุช่วงเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ และรายงานว่าทำการสอนวิชาใดบ้าง จำนวนสัปดาห์ละกี่ชั่วโมงหรือกี่คาบ รวมทั้งรายชื่อนักเรียน/นักศึกษาที่ทำการสอนในแต่ละภาคเรียน โดยให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้รับรองข้อมูลดังกล่าวด้วย
             - ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน/นักศึกษา จากการเรียนการสอนในแต่ละภาคเรียน โดยให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้รับรองข้อมูลดังกล่าวด้วย
              ( เคยเขียนเรื่องนี้ ในข้อ 3 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2013/11/asean.html )

             ส่วนเมื่อโอนเป็น ขรก.ครูแล้ว จะยื่นขอมีวิทยฐานะครูชำนาญการ ได้ ต้องเป็นครูแล้ว 6 ปี สำหรับผู้มีวุฒิ ป.ตรี, 4 ปีสำหรับ ป.โท, 2 ปีสำหรับ ป.เอก ( ชายแดนใต้ ลดเวลาลงครึ่งหนึ่ง )  แต่ถ้ามีประสบการณ์การสอนก่อนโอน จะลดเวลาลงได้อีก แต่ถึงลดได้ ก็ลดได้ไม่หมด ต้องมาเป็นครูอย่างน้อย 2 ปี จึงจะยื่นขอชำนาญการได้   ประสบการณ์การสอนนี้ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
             1)  ประสบการณ์ในการสอนโดยตรง
                  จำนวนชั่วโมงสอนอย่างต่ำ กำหนดในแต่ละสังกัดไม่เท่ากัน เช่น อาชีวศึกษาจะกำหนดไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมง/สัปดาห์ ส่วนการสอนในสถานศึกษา กศน. กำหนดไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง/สัปดาห์
                  ถ้าเคยสอนไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ กีปี ก็ลดได้เท่านั้นปี
                  ถ้าเคยสอนสัปดาห์ละไม่ถึง 10 ชั่วโมง แต่ถึงครึ่ง คือสอนสัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง แต่ไม่ถึง 10 ชั่วโมง ก็ลดเวลาได้ครึ่งหนึ่ง เช่นเคยสอนสัปดาห์ละ 9 ชั่วโมง อยู่ 2 ปี ก็ลดเวลาได้ 1 ปี
                  ถ้าเคยสอนสัปดาห์ละไม่ถึงครึ่ง เช่นสอนสัปดาหล์ละ 4 ชั่วโมง จะลดเวลาได้ 1 ใน 4   เช่น นาย ก. วุฒิ ป.ตรี อยู่จังหวัดอื่นที่ไม่ใช่ชายแดนใต้ โอนมาเป็น ขรก.ครู โดยก่อนโอน เป็น ขรก.ตำแหน่งบรรณารักษ์ ซึ่งในช่วงที่เป็นบรรณารักษ์นั้นได้เป็นครูประจำกลุ่มด้วย สอนสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง อยู่ 4 ปี กรณีนี้จะลดเวลาได้เพียง 1 ปี คือต้องโอนเป็น ขรก.ครูแล้ว 5 ปี จึงจะยื่นขอชำนาญการได้

             2)  เคยปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ไม่ใช่การสอนโดยตรง เช่น งานบริหารจัดการศึกษา กรณีนี้ถ้าเคยปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ในกระทรวงศึกษาธิการ ลดเวลาได้ครึ่งหนึ่งของเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

             ดูรายละเอียดเรื่องการใช้ประสบการณ์สอน ลดเวลาขอชำนาญการ ในระเบียบหลักเกณฑ์ได้ที่
             https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/experience.pdf



         6. วันที่ 18 พ.ค.58 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  กิจกรรมการศึกษาต่อเนื่อง โครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ทักษะชีวิต พัฒนาสังคมและชุมชน และเศรษฐกิจพอเพียง สามารถไปดูงานได้หรือไม่ ถ้าไปได้ สามารถเบิกค่าใช้จ่ายอะไรได้บ้าง   รับผิดชอบงานการศึกษาต่อเนื่องอยู่ที่ กศน.จังหวัด หลายๆ อำเภอเขียนโครงการจะไปศึกษาดูงานกันมาก พยายามหาระเบียบแล้วก็ไม่ได้กล่าวถึงการไปดูงานเลย

             ผมตอบว่า   การศึกษาต่อเนื่อง ที่ใช้งบดำเนินงาน ( จัดการศึกษาฯ ) ซึ่งเป็นงบปกติ จะเบิกจ่ายเป็นค่าฝึกอบรมและค่าเดินทางไปศึกษาดูงานไม่ได้ แต่มีบางปีได้รับงบศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนมาเป็นเงินหมวดรายจ่ายอื่น จึงจะเบิกจ่ายเป็นค่าไปราชการศึกษาดูงานได้
             ผมเคยตอบเรื่องนี้ เช่นในข้อ 4 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/497236
             การจัดการศึกษาต่อเนื่อง ( หลักสูตรระยะสั้น ) ที่ใช้งบดำเนินงานปกติ จ่ายได้เฉพาะตามหนังสือสำนักงาน กศน.ที่ ศธ 0210.117/1255 ลงวันที่ 30 มี.ค.55 เรื่องการเบิกเงินค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษานอกโรงเรียนหลักสูตรระยะสั้น ( ดูหนังสือฉบับนี้ได้ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/costs_study.pdf ) ซึ่งระบุว่าเบิกได้เฉพาะค่าตอบแทนวิทยากร กับค่าวัสดุฝึก  หนังสือฉบับนี้ระบุในย่อหน้าสุดท้ายว่า ถ้าเป็นการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของคนภายในองค์กร จึงจะเบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง-ที่พัก-พาหนะ-ค่าวิทยากร ได้ตามระเบียบการฝึกอบรม
             อย่างไรก็ตาม การศึกษาต่อเนื่อง ( หลักสูตรระยะสั้น ) สามารถไปศึกษาดูงานในแหล่งประกอบการได้โดยไม่เบิกค่าเบี้ยเลี้ยง-ที่พัก-พาหนะ เช่นไปศึกษาดูงานที่แหล่งประกอบการในพื้นที่ โดยจ่ายค่าตอบแทนผู้ให้ความรู้ในแหล่งประกอบการได้
              ( ไม่เชื่อก็ถามหน่วยตรวจสอบภายใน กศน. )

         7. ดึกวันอาทิตย์ที่ 17 พ.ค.58 นาย บิ๊ก ถามในไทม์ไลน์เฟซบุ๊คผม ว่า ขอความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติและเกณฑ์การสอบและวิชาที่จะสอบรองผอ.กศน.จังหวัด

             ผมตอบว่า   ดูในประกาศรับสมัครครั้งล่าสุดเลย จะมีข้อมูลเหล่านี้  ( ดูประกาศที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/rongPOj.pdf )


วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

1.พนักงานราชการหญิงลาบวช, 2.เรียนแค่ ป.6 ในหลักสูตรที่ถึง ป.7 ให้เรียน ม.ต้นเลย, 3.เงินเดือนครู ศรช.ออกวันไหน, 4.ครูประจำกลุ่มที่สังกัดอื่นเช่น ทหาร เรือนจำ สอนในเวลาราชการ เบิกได้ไหม, 5.ให้เรียนต่อเนื่องจนจบ ม.ต้น โดยยังไม่ออกวุฒิประถม, 6.ซื้อเสื้อแจกผู้เข้าอบรมได้ไหม, 7.พ้นสภาพ-หมดอายุ เทียบโอนอะไรได้



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 1 พ.ค.58 พัชรีย์ ศรีตะปัญญะ ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  พนักงานราชการหญิงลาบวชได้มั้ย ( บวชชีพราห์ม )

             ผมตอบว่า   มีมติ ครม.เกี่ยวกับเรื่องนี้  ศึกษาแนวทางและขั้นตอนได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/womanbouch.pdf  

         2. วันเดียวกัน ( 1 พ.ค.) บุคลากร กศน.อ.ตะพานหิน โทร.มาถามผม ว่า  มีผู้นำหลักฐานการเรียนผ่านชั้น ป.6 นานมากแล้ว มาสมัครเรียน ยังไม่รู้ว่าเรียนตั้งแต่หลักสูตรที่มีถึงชั้น ป.7 หรือเปล่า  จะให้สมัครเรียนประถม หรือ ม.ต้น

             ผมตอบว่า   ถ้าผ่านชั้น ป.6 แล้ว ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรใด เก่าแค่ไหน เป็นหลักสูตรที่มีถึงชั้น ป.7 หรือไม่ ก็ให้สมัครเรียน ม.ต้นได้เลย
             เรื่องนี้มีอยู่ในคู่มือฯ  ดูข้อมูลได้ในคำตอบเก่าเช่นในข้อ 1 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/439987


         3. วันเดียวกัน ( 1 พ.ค.) X-Ray Kantiwong ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ปกติเงินเดือนครู ศรช.จะต้องออกวันที่เท่าไหร่ มีวันที่ที่ออกแน่นอนมั้ย  เคยเห็นโพสในเฟส ตารางการออกเงินเดือน แต่ทำไมไม่เป็นตามนั้น เงินเดือนครู ศรช.แต่ละจังหวัดต้องแล้วแต่จังหวัดนั้นๆใช่มั้ย

             ผมตอบว่า   ตารางกำหนดจ่ายเงินเดือนของกรมบัญชีกลางนั้น เป็นของเงินเดือนกับค่าจ้างประจำและเงินบำนาญ ที่จ่ายจากเงินงบประมาณ งบบุคลากร ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการที่ชัดเจนแน่นอน  แต่ครู ศรช. ไม่ได้เบิกจ่ายจากงบบุคลากร ( ของครู ศรช.ไม่ใช่เงินเดือน แต่เป็นค่าตอบแทนรายเดือน )  จึงแล้วแต่จังหวัดนั้นๆ

         4. วันเดียวกัน ( 1 พ.ค.) Somporn Tatthong กศน.อ.เมืองเชียงใหม่ ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ระเบียบการเบิกเงินของข้าราชการที่เป็นครูประจำกลุ่มของ กศน. เช่น หน่วยทหาร ราชฑัณฑ์  เรื่องเวลาปฏิบัติงาน ซ้ำซ้อนกับเวลาปฏิบัติงานหลักหรือไม่

             ผมตอบว่า   ถ้าเป็นบุคลากรสังกัด กศน. สอนในเวลาราชการ จะไม่สามารถเบิกค่าตอบแทนได้  ส่วนข้าราชการสังกัดหน่วยงานอื่น ถ้าผู้บังคับบัญชาระดับสูงของเขาให้สอนในเวลาราชการ ก็สามารถเบิกค่าตอบแทนได้
             ดูหนังสือที่สำนักงาน กศน.แจ้งเรื่องนี้ เช่นในข้อ 3 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/445618


         5. วันอาทิตย์ที่ 3 พ.ค.58 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ในกรนีที่นักศึกษาเรียนไม่จบประถม แต่ครูที่รับผิดชอบยกชั้นขึ้นมาเรียนต่อระดับ ม.ต้น  พอจบ ม.ต้น จะทำเรื่องขอจบ แต่ไม่มีเอกสารจบประถม  จะดำเนินการยังไง

             ผมตอบว่า   การเรียน ม.ต้น ก็เป็นโมฆะ  ( ถ้าเขาฟ้องร้อง ก็เป็นความผิดของผู้บริหารกับนายทะเบียน )
              ( ดูคำตอบเก่าที่เกี่ยวข้อง ใน
             - ข้อ 1 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/04/60.html
             - ย่อหน้าที่ 5 ที่  http://www.gotoknow.org/posts/378026
             - ข้อ 2 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/537318 )


         6. วันเดียวกัน ( วันอาทิตย์ที่ 3 พ.ค.) Pannee Pui ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  การจัดอบรมโครงการ  สามารถซื้อเสื้อแจกให้กับผู้เข้าอบรมได้มั้ย

             ผมตอบว่า   ไม่ได้  ( ใช้เงินงบราชการซื้อไม่ได้ ถ้าจะซื้อต้องใช้เงินอื่น หรือขอสปอนเซอร์ )

         7. วันที่ 7 พ.ค.58 อัคแบ๊ว หะยะตี กศน.อ.รามัน ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  การโอนผลการเรียนในกรณี นศ.หมดสภาพการเป็น นศ. สามารถเทียบโอนผลการเรียนได้ทั้งหมดไหม ที่เรียนในระยะเวลา 10 ภาคเรียน  เพราะอาจารย์บางท่านว่าโอนไม่ได้

             ผมตอบว่า   การหมดอายุวิชาที่เรียนผ่านแล้ว กับ การพ้นสภาพการเป็นนักศึกษา คนละอย่างกัน  ถ้าพ้นสภาพการเป็นนักศึกษา จะออกใบ รบ.ใด ๆ ไม่ได้เลย แล้วจะเอาอะไรมาเป็นหลักฐานการเทียบโอน  เทียบโอนอะไรไม่ได้ทั้งนั้น  ดูคำตอบเก่า ๆ เช่นในข้อ 3 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/05/26.html