วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

1.ครูไม่ส่งชื่อเข้าสอบ N-NET, 2.การขอย้ายของข้าราชการ, 3.ทำไมแต่ละจังหวัดปฏิบัติไม่เหมือนกัน (N-NET/e-Exam), 4.สอบครูผู้ช่วย ได้บรรจุ 4 ปีจึงจะขอย้ายได้, 5.จบ ปวช.แล้ว ไม่ให้สมัครเรียน ม.ปลาย, 6.มหาวิทยาลัยขอใบ ปพ.1, 7.สมัครครูผู้ช่วย การนับเวลา 3 ปี นับยังไง



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. ตีสองครึ่งคืนวันที่ 18 ม.ค.60 Arin Parinya นักศึกษา กศน. ถามในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊คผม ว่า  ไม่มีรายชื่อสอบ n-net เราจะจบเทอมนี้ได้ป่าว เพราะ กพช ได้ 100 แต่จะทำเทอมนี้ให้ครบ สามารถจบการศึกษาเทอมนี้ใช่ป่าว

             ผมตอบว่า   ทำไมครูไม่ส่งชื่อเราเข้าสอบ N-NET จะมีชื่อหรือไม่อยู่ที่นายทะเบียน ว่าส่งชื่อให้หรือไม่  ปกติถ้าลงวิชาเรียนครบในเทอมนี้ ครูต้องส่งชื่อเลยแม้ว่า กพช.จะเหลือมากก็ตาม
             ถ้ายังไม่สอบ
N-NET ก็ยังจบไม่ได้ แต่ถ้าจะจบก็ขอสอบ e-Exam แทนได้ อาจจบช้ากว่าคนอื่นนิดหน่อยเพราะการสอบ e-Exam จะสอบหลังวันสอบ N-NET  ( แม้ไม่ได้ส่งชื่อเข้าสอบ N-NET ก็ขอสอบ e-Exam ได้ถ้าต้องรีบจบ )

         2. ตามระเบียบ การขอย้ายกรณีปกติ ( เช่น กลับภูมิลำเนา, ไปอยู่ร่วมกับคู่สมรส, ดูแลบิดามารดา ) สำหรับข้าราชการที่ไม่ใช่ผู้บริหาร ให้ยื่นขอย้ายได้ปีละ 2 ช่วง คือ 1-15 ก.พ. กับ 1-15 ส.ค. ( ดูหลักเกณฑ์และวิธีการขอย้ายได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/chengeOFM.pdf  หลักเกณฑ์นี้ถือเป็นกำหนดการที่เป็นที่รู้กันแล้ว เมื่อถึงเวลา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ยื่นขอย้ายโดยไม่จำเป็นต้องมีหนังสือแจ้ง แต่ถ้ารอบไหนมีอัตราว่างหลายอัตรา กจ.กศน.ก็จะมีหนังสือแจ้งมาพร้อมแจ้งอัตราว่าง รอบไหนมีอัตราว่างน้อยก็จะไม่แจ้งมา แต่ถึงไม่แจ้งก็ยื่นขอย้ายได้ โดยเฉพาะการขอย้ายสับเปลี่ยนไม่ต้องมีอัตราว่างอยู่ก่อน )
             คำร้องขอย้ายใช้ได้รอบเดียว ถ้ายังไม่ได้ย้ายตามคำขอ เมื่อถึงช่วงขอย้ายใหม่ต้องยื่นใหม่
             คำสั่งย้ายจะออกเมื่อไร ไม่แน่ ปกติยื่นขอย้ายในช่วง 1-15 ก.พ. ถ้าได้ย้าย คำสั่งย้ายจะออกประมาณ เม.ย.-พ.ค. ถ้าขอย้ายในช่วง 1-15 ส.ค. คำสั่งย้ายจะออกประมาณ ต.ค.-พ.ย.

         3. คืนวันที่ 20 ม.ค.60 Surapee Maneena เขียนต่อท้ายโพสต์ผมในเฟซบุ๊ค ว่า  “ทุกทีส่งชื่อช้าก็ให้เข้าสอบ e~exam ได้ ทำไมแต่ละจังหวัดปฏิบัติไม่เหมือนกัน ได้แจ้งนักศึกษาว่า เข้าสอบ eexam ได้ ถูกนักศึกษาต่อว่า เรียบร้อย ไม่ยอมมาเรียน

             ผมตอบว่า ผมไม่ค่อยเข้าใจครับ พิมพ์ให้ละเอียดชัดเจนหน่อยได้ไหม เช่น
             - "ทุกทีส่งชื่อช้าก็ให้เข้าสอบ e~exam ได้".. แล้ว ที นี้ ไม่ได้หรืออย่างไร
             - "ทำไมแต่ละจังหวัดปฏิบัติไม่เหมือนกัน".. ไม่เหมือนกันอย่างไร ( ที่ถูกต้อง ทุกจังหวัดต้องปฏิบัติเหมือนกัน ) ยกตัวอย่างจังหวัดไหนปฏิบัติอย่างไรได้ไหม
             - "ได้แจ้งนักศึกษาว่า เข้าสอบ eexam ได้ ถูกนักศึกษาต่อว่า เรียบร้อย".. นักศึกษาต่อว่า ว่าอย่างไร

              ( การส่งชื่อช้า-ไม่ได้ส่งชื่อผู้มีสิทธิจบเพื่อเข้าสอบ N-NET แม้จะเข้าสอบ e-Exam ได้ แต่ก็เป็นความบกพร่องของสถานศึกษานะ ต้องมีผู้รับผิดชอบ อย่างน้อยครั้งแรกต้องว่ากล่าวตักเตือน เพราะสร้างปัญหาเป็นภาระให้การสอบ e-Exam และอาจเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงการสอบ N-NET )

         4. การสอบบรรจุครูผู้ช่วยของ กศน. กรณีมีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ก.ค.ศ. ที่ ว16/57 (ทั่วประเทศ) และ ว17/57 (ชายแดนใต้)
             ดูหนังสือ ว16 ว17 นี้ พร้อมหนังสือซักซ้อมความเข้าใจ ได้ที่ 
https://www.dropbox.com/s/pxaufaesskk8wpv/V12testTeacher.pdf?dl=1  

             ซึ่งมีข้อที่น่าสนใจ เช่น

             - หลักเกณฑ์ ข้อ 2.6 ใน ว16 และข้อ 2.1 ใน ว17 :  พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ครูสอนศาสนาอิสลามหรือวิทยากรอิสลามศึกษา พนักงานจ้างเหมาบริการ ครูอัตราจ้างหรือลูกจ้างชั่วคราวจากเงินงบประมาณหรือเงินรายได้ของสถานศึกษา  ที่จะเข้ารับการคัดเลือก ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกตามระบบคุณธรรมที่ยึดความรู้ความสามารถของบุคคล ความเสมอภาค ความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และประโยชน์ของทางราชการ ตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะหรือตามที่ส่วนราชการกำหนด จึงจะถือว่าเป็นการจ้างที่ถูกต้อง (ยกเว้นเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2557)  และต้องได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สอน ตามคำสั่งหรือสัญญาจ้างอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่า 3 ปี นับถึงวันรับสมัครคัดเลือกวันสุดท้าย และปัจจุบันยังคงปฏิบัติงานอยู่

             - หลักเกณฑ์ ข้อ 11 :  ให้บรรจุแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกตามจำนวนตำแหน่งว่างที่ประกาศไว้ โดยไม่มีการขึ้นบัญชี

             - ซ้อมความเข้าใจ ข้อ 3 :  การกำหนดวิชาเอกเพื่อใช้ในการคัดเลือก ให้ผู้ดำเนินการคัดเลือกพิจารณาตามความจำเป็นและความต้องการของสถานศึกษา เฉพาะเจาะจง เช่น ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นต้น มิใช่กำหนดเป็นวิชาเอกทั่วไป  สำหรับการออกข้อสอบภาค ข ข้อ 2 ความรู้ความสามารถเกี่ยวกับวิชาเอก ออกข้อสอบตามกลุ่มวิชาหรือทางหรือสาขาวิชาเอกที่ประกาศไว้

             - วิธีการ ข้อ 4 ว16 :  ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกและได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วยแล้ว ต้องปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษาที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งไม่น้อยกว่า 4 ปี  ( ข้อ 6 ว17 สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 ปี ) จึงจะขอย้ายได้  
               ครูผู้ช่วยที่สอบเข้ามาด้วย ว16 ( สอบกรณีพิเศษคือคนในสังกัด ประกาศรับสมัครสอบหลัง พ.ย.57 ) ก็เข้าเกณฑ์นี้แล้วครับ ( ของ กศน. เมื่อครั้งล่าสุดประกาศรับสมัคร ส.ค.56 ยังไม่ได้ใช้ ว16 )

             - หลักสูตรแนบท้าย :  กำหนดว่า ภาค ก ภาค ข ภาค ค สอบเรื่องอะไรบ้าง คะแนนเท่าไร

         5. เนื่องจาก กศน.จัดเพื่อผู้ด้อย-ขาด-พลาดโอกาส และรัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวให้เรียน กศ.ขั้นพื้นฐาน คนละรอบเดียว จึงไม่ให้ผู้ที่เรียนจบแล้วมาเรียนในระดับเดียวกันอีกรอบ และในระดับ ม.ปลาย เมื่อจบ สถานศึกษาต้องส่งเกรดเฉลี่ยเข้ากระทรวงเพื่อใช้ประกอบการแอดมินชั่น ถ้าจบ 2 แห่ง เกรดเฉลี่ยจะไปชนกัน เป็นโมฆะ
             แต่ผมเห็นว่า ปัจจุบันมีโครงการทวิศึกษา ผู้เรียนได้ 2 วุฒิ จึงคิดว่า เมื่อได้ 2 วุฒิได้ ผู้ที่จบ ปวช.แล้ว ก็น่าจะมาเรียนให้จบ ม.ปลายอีกได้ 

             วันที่ 23 ม.ค.60 ผมจึงถาม อ.กิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน.ในเรื่องนี้  ได้รับคำตอบว่ายังเรียนซ้ำระดับเดียวกันไม่ได้ ( ปวช. กับ ม.ปลาย เป็น กศ.ขั้นพื้นฐานระดับเดียวกัน )  เรียนเพิ่มได้เฉพาะบางวิชาที่ยังไม่เคยเรียน  ด้วยเหตุผลเดียวกับที่จบ ม.ปลายแล้วเรียนหลักสูตรเดิมไม่ได้ ตามหนังสือกรมการศึกษานอกโรงเรียน ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0405/2645 ลงวันที่ 26 มิ.ย.43  ซึ่งกำหนดว่า

              “ในกรณีที่มีผู้จบหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว มาขอขึ้นทะเบียนและลงทะเบียนเรียนใหม่ในหลักสูตรเดิม เพื่อให้มีผลการเรียนเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าเดิม ... ขอเรียนชี้แจงว่า การจัดการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญ สามารถลงทะเบียนเรียนเพิ่มเติมในหมวดวิชาต่าง ๆ เพื่อให้ครบตามคุณสมบัติที่สถาบันอุดมศึกษากำหนด หรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่น ... ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อผู้เรียนแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะให้ผู้เรียนกลับมาขึ้นทะเบียนและลงทะเบียนเรียนหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายใหม่ ... เป็นการได้รับการศึกษาที่ซ้ำซ้อน เป็นการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษาที่สิ้นเปลือง ... เป็นการให้โอกาสกับบุคคลที่ได้รับโอกาสไปแล้ว  ควรให้โอกาสกับบุคคลที่ยังไม่มีโอกาส ตามหลักการและปรัชญาของการจัดการศึกษานอกโรงเรียน  จึงไม่สามารถให้นักศึกษาที่จบหลักสูตรแล้วมาขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาใหม่และลงทะเบียนเรียนจนจบหลักสูตรอีกครั้ง
              จึงขอให้สถานศึกษาทุกแห่งถือปฏิบัติ ... อย่างเคร่งครัด ถ้าสถานศึกษาใดมิได้ปฏิบัติ หากมีความผิดพลาดใด ๆ เกิดขึ้น ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติจะต้องรับผิดชอบ และถือเป็นความบกพร่องในการปฏิบัติงาน


        
6. Too Tassanawalai ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ( คงถามตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค.60 แต่ผมเพิ่งเห็นคำถามและตอบเช้าวันที่ 2 ก.พ.) ว่า  นศ.ต้องการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย และทางมหาวิทยาลัยขอใบ ปพ.1  5 เทอม  กรณีนี้ กศน.อำเภอจะออกเอกสารแบบใดให้ นศ.

             ผมตอบว่า   ใบ ปพ.1 ของในระบบ ก็คือใบ รบ.ของเรา  ถ้ายังไม่จบ ยังไม่ลาออก ให้ใช้กระดาษ A4 ธรรมดา ออกเป็นใบแสดงผลการเรียน ออกด้วยโปรแกรม ITw เมนู 1-A-1-6 ( ขั้นตอนการดำเนินงาน-รายงาน-รายงานผลการเรียน-พิมพ์ใบแสดงผลการเรียน )

        
7. วันที่ 3 ก.พ.60 เรวัฒน์ พลเดช ถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ค ว่า  การสอบครูผู้ช่วย กศน. นับระยะเวลา 3 ปี นับยังไง นับแบบปี พ.ศ. หรือ ปีการศึกษา

             ผมตอบว่า นับวันชนวันเลย
            
"ไม่น้อยกว่า 3 ปี นับถึงวันรับสมัครคัดเลือกวันสุดท้าย และปัจจุบันยังคงปฏิบัติงานอยู่"
             เช่น ถ้า รับสมัคร 17-25 ก.ค.60 ก็นับถึงวันที่ 25 ก.ค.60 คือต้องเป็นพนักงานราชการ-ลูกจ้าง สังกัด กศน. ไม่หลังวันที่ 25 ก.ค.57 ( ขาดวันเดียวก็ไม่ได้ )


2 ความคิดเห็น:

  1. ทำไมสอบ๔ภาคเรียนแล้วหน่วยกิตถึงยังไม่ครบ ไม่มีชื่อสอบ n-net ต้องได้ไปสอบปลายภาคต่ออีกเป็นครั้งที่๕

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ผมไม่รู้ข้อมูล ต้องถามครู ให้ครูหาข้อมูลจากนายทะเบียน กศน.อำเภอที่เรียน

      ลบ

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย