วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2560

1.โปรแกรม ITw ไม่ยอมให้จบเพราะเรียนวิชาเลือกบังคับไม่ครบ 2 วิชา, 2.การออกเลขที่ใบสำคัญวิชาชีพ, 3.เงินอุดหนุนรายหัว เบิกค่าอะไรได้บ้าง, 4.ส่งไปไหนแน่ ตรวจสอบวุฒิ รร.เอกชนที่ยุบเลิกแล้ว, 5.ใช้ตรานูนประทับใบ รบ. ?, 6.พิมพ์ชื่อในใบ รบ.ผิด ออกใบใหม่อย่างไร, 7.หาต้นขั้วใบ รบ. ไม่พบ



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. มีผู้ถามผมตรงกัน ทั้งทางไลน์ ทางหน้าเฟซ ทางอินบ็อกซ์ ว่า  นศ.เทียบโอนแล้วปกติจะเรียนเพียง 1 หรือ 2 ภาคเรียนจบ แต่โปรแกรม ITw ไม่ยอมให้จบ เพราะวิชาเลือกบังคับไม่ครบ 2 วิชา

             เรื่องนี้   ผมถามคุณกิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน. เมื่อเย็นวันหยุดชดเชย 17 เม.ย.60 ได้รับคำตอบว่า
             นศ.รหัส 591..... เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็น นศ.ใหม่ หรือ นศ.เก่าที่ย้ายแล้วได้รหัสใหม่  ถ้าเทียบโอนหรือโอนย้ายวิชาเลือกแล้ววิชาเลือกยังไม่ครบ ก็ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับ จึงจะจบ
             แต่ถ้า เทียบโอนหรือโอนย้ายวิชาเลือกแล้วได้วิชาเลือกครบตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนด แล้ว แม้วิชาเลือกเหล่านั้นจะไม่ใช่วิชาเลือกบังคับเลย หรือเป็นวิชาเลือกบังคับไม่ครบ 2 วิชา ก็ให้จบได้ โดยกรณีนี้ถ้าโปรแกรม ITw ไม่ยอมให้จบ ก็ใช้วิธีในข้อ 3 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2017/03/38k-2.html

             บางคนบอกว่า ไม่รู้มาก่อนว่าถ้าไม่ลงวิชาเลือกบังคับ 2 วิชา จะไม่จบ ไม่มีหนังสือแจ้งมา ถามอำเภออื่นก็ไม่รู้เหมือนกัน
             เรื่องนี้ ผมเคยโพสต์ 3-4 ครั้ง อยู่ในแนวทางการปรับปรุงและเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การดำเนินงานตามหลักสูตรการศึกษา นอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ( ปรับปรุง พ.ศ.2559 )" ซึ่งมีการประชุมชี้แจงในระดับต่าง ๆ พร้อมกับเรื่องวิชาเลือกเสรี/โปรแกรมการเรียนรู้ และชี้แจงผ่านรายการสายใย กศน. เมื่อวันที่ 17 มี.ค.59 ( แจ้งตามหนังสือ สนง.กศน. ที่ ศธ 0210.03/1453 ลงวันที่ 16 มี.ค.59 )
             แต่อำเภอ/จังหวัด ก็มีกิจกรรมมาก มักจะจัดกิจกรรมทับซ้อนกับช่วงเวลาของรายการสายใย กศน. และแต่ละคนก็ไม่ว่างที่จะดูรายการสายใย กศน.ย้อนหลัง จึงมีหลายเรื่องที่หลายคนไม่รู้ เช่นเรื่องการจัดการศึกษาทางไกลแบบใหม่ที่ให้นับเป็นจำนวน นศ.ของครู และ กศน.อำเภอได้เงินอุดหนุนรายหัวของ นศ.ที่เรียนทางไกล

         2. วันที่ 18 เม.ย.60 ผอ.กศน.อำเภอใน จ.พระนครศรีอยุธยา ท่านหนึ่ง โทร.มาถามผม ว่า  การออกเลขที่ใบสำคัญวิชาชีพ ใช้เลขที่หนังสือราชการ หรือใช้เลขที่ทับปี พ.ศ. เมื่อขึ้นเดือน ม.ค.ก็เริ่มเลขที่ 1 ใหม่

             ผมตอบว่า   ใช้เลขที่ ทับ ปี พ.ศ. เมื่อขึ้นเดือน ม.ค.ก็เริ่มเลขที่ 1 ใหม่
             โดยทั่วไป การออกเลขที่ใบสำคัญ/วุฒิบัตร ต่าง ๆ ให้เป็นไปตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่กำหนดของใบสำคัญ/วุฒิบัตร นั้น ๆ
             ถ้าใบสำคัญ/วุฒิบัตร ใด ไม่ได้กำหนดระเบียบหลักเกณฑ์ในการออกเลขที่ไว้ ( ปัจจุบัน ระเบียบเกี่ยวกับใบสำคัญการจบหลักสูตรระยะสั้น ได้ยกเลิกไปแล้ว ระเบียบปัจจุบันคือ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดการศึกษาต่อเนื่อง พ.ศ.2554 ซึ่งกำหนดไว้ในข้อ 13 แต่เพียงว่า "ให้สถานศึกษาออกวุฒิบัตรที่แสดงการจบหลักสูตร โดยให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นผู้ลงนาม" เท่านั้น ไม่ได้กำหนดวิธีออกเลขที่ไว้ )  ก็ให้หน่วยงานกำหนดวิธีออกเลขที่เอง  ให้มีการเรียงลำดับที่สามารถค้นหาเพื่อการตรวจสอบได้ง่าย คือ ใช้เลขที่ ทับ ปี พ.ศ.
             โดยเฉพาะเอกสารของทางราชการจะมีการออกเลขที่เพื่อสะดวกในการตรวจสอบ

             แต่ทั้งนี้ เมื่อมีการออกเลขที่ ก็ต้องมีสมุดทะเบียนในการออกเลขที่ ว่าใบสำคัญ/วุฒิบัตร เลขที่นั้นออกให้ในรายการใด แก่ใคร เมื่อไร ฯลฯ เมื่อมีการตรวจสอบในภายหลังว่าใบสำคัญ/วุฒิบัตรนั้น เป็นของจริงหรือไม่ ( ปัจจุบันใบสำคัญ/วุฒิบัตร ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ใช้ในการเทียบโอนความรู้ ใช้เป็นหลักฐานประกอบข้อมูลการเทียบระดับการศึกษา เป็นต้น จึงอาจมีการปลอมแปลงได้ ) ก็สามารถตรวจสอบจากสมุดทะเบียนได้โดยง่าย
             ถ้าออกเลขที่แต่ไม่มีทะเบียน ก็ลักษณะคล้ายการทำหนังสือมีเลขหน้าในแต่ละหน้า แต่ไม่มีเลขหน้าในสารบัญ หรือมีเลขหน้าในสารบัญ แต่ไม่มีเลขหน้าในแต่ละหน้า ซึ่งแทบจะไม่มีประโยชน์


         3. เย็นวันที่ 19 เม.ย.60 แดง พัฒนสิน กศน.พิชัย ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค เกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนรายหัว 3 ข้อ ดังนี้

             1)  เงินอุดหนุน(ไม่ใช่งบ กพร.)จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนเช่นเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาอาชีพ สามารถซื้อวัสดุเกี่ยวกับการทำกิจกรรม เช่น ต้นไม้ วัสดุที่เกี่ยวกับการทำปุ๋ยหมัก วัสดุการฝึกอาชีพของนักศึกษา ซึ่งจัดกิจกรรมไม่ใช่วันพบกลุ่ม ได้หรือเปล่า
                  ผมตอบว่า  เงินอุดหนุนรายหัว ( ที่ไม่ใช่งบพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ) ซื้อสื่อ/วัสดุอุปกรณ์การศึกษา ได้ ( ตามข้อ 11 ของคำสั่ง สนง.ปลัดฯ ที่ 605/59 ) แม้จะจัดกิจกรรมเรียนรู้เสริมหลักสูตรในวันที่ไม่ได้พบกลุ่ม แต่เป็นสื่อ/วัสดุอุปกรณ์การศึกษาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับ นศ.กศ.ขั้นพื้นฐาน ก็ซื้อได้
                   ( แต่การซื้อสิ่งมีชีวิตต้องระวัง ถ้ายกผลผลิตให้ผู้เรียนก็ผิดระเบียบ.. ดูในข้อ 2 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/06/51.html )

             2)  กิจกรรมที่เป็นฐานการเรียนรู้เช่นส่งเสริมการอ่าน อาชีพ ไม่มีวิทยากรบรรยาย สามารถเบิกค่าอาหาร ค่าอาหารว่างฯ ค่าวัสดุเกี่ยวกับกิจกรรมที่จัดเสริมหลักสูตรได้หรือเปล่า
                  ผมตอบว่า  จะเบิกค่าอาหาร ค่าอาหารว่าง ตามข้อ 8 ของคำสั่ง สนง.ปลัดฯ ที่ 605/59 ต้องเป็นการจัดกิจกรรมเรียนรู้เสริมหลักสูตรในลักษณะการเข้าค่าย การฝึกอบรม ในสถานที่ของเอกชนหรือส่วนราชการอื่น โดยจ่ายให้แก่เอกชนหรือส่วนราชการอื่น ( จ่ายได้ตามอัตราแนบท้ายคำสั่ง สนง.ปลัดฯ ที่ 605/59 แม้จะไม่ได้จ่ายค่าวิทยากรบรรยายด้วย เช่นครูเป็นวิทยากรเอง )

             3)  ค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้องฯ(ข้อ15 ตามคำสั่งสำนักปลัด)เบิกอะไรได้บ้าง
                  ผมตอบว่า  ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องฯ ( ตามข้อ 15 ของคำสั่ง สนง.ปลัดฯ ที่ 605/59 ) ก็เหมือนกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องฯ ตามข้อ 14 ของคำสั่งฉบับเดิม คือ หมายถึง ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัด กศ.ขั้นพื้นฐาน นอกเหนือจากข้อ 1-14  ซึ่งต้องขออนุมัติปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นรายกรณี” ( ดูที่คำตอบเดิมในข้อ 7 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2015/07/30.html )

         4. คืนวันที่ 20 เม.ย.60 มี ผอ.กศน.เขต โทร.มาถามผม ว่า  การตรวจสอบวุฒิที่จบจากโรงเรียนเอกชนที่ยุบเลิกแล้ว ต้องส่งไปตรวจสอบที่ไหน

             ครั้งแรก ผมตอบว่า ส่งไปตรวจสอบที่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แต่หลังจากนั้นผมเปิดดูเรื่อง การตรวจสอบวุฒิการศึกษา ในหนังสือ "คู่มือการดำเนินงานหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2555)" หน้า 81 ปกสีเลือดหมู ที่ส่งให้ กศน.อำเภอ/เขตทุกแห่ง เมื่อ ธ.ค.55 ระบุว่าผู้จบการศึกษาจากโรงเรียนเอกชนที่ยุบเลิกแล้ว ให้ตรวจสอบไปที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน” ( สช.)
             เพื่อความชัดเจน ผมจึงถามกรณีโรงเรียนเอกชนเลิกกิจการแล้วนี้ จาก สช. ได้รับคำตอบว่า
             1)  ถ้าจบการศึกษาจากโรงเรียนสามัญศึกษาของเอกชนในเขต กทม. ให้ส่งไปตรวจสอบวุฒิที่ สช.
             2)  ถ้าจบจากโรงเรียนในต่างจังหวัด ต้องดูว่าจบนานก่อนตั้ง สนง.เขตพื้นที่การศึกษา หรือไม่ โดย
                  - ถ้าจบก่อนปีการศึกษา 2546 ให้ส่งไปตรวจสอบที่ สช.
                  - ถ้าจบตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 เป็นต้นมา ให้ส่งไปตรวจสอบที่ สนง.เขตพื้นที่การศึกษา



         5. วันที่ 25 เม.ย.60 มีนายทะเบียน กศน.อำเภอ โทร.มาถามผม ว่า  ใบ รบ. ใช้ตรานูนประทับ ส่วนในใบประกาศนียบัตร จะใช้ตรานูน หรือจะใช้ตราที่ประทับด้วยหมึก และใช้หมึกสีอะไร

             ผมตอบว่า  ที่ถูกต้อง ทั้งในใบ รบ. และใบประกาศนียบัตร ให้ประทับตราด้วยหมึกสีแดงชาด  ไม่มีระเบียบให้ใช้ตรานูน
             - ตามคำอธิบายการกรอกระเบียนแสดงผลการเรียน ข้อ 5.7 กำหนดว่า ประทับตราประจำสถานศึกษาด้วยหมึกสีแดงชาดและ

             - ตามคำอธิบายการออกและกรอกรายการประกาศนียบัตร กำหนดไว้ในข้อ 2.4.7 ว่า ประกาศนียบัตรทุกฉบับ ทุกประเภท ต้องใช้ตราส่วนราชการหรือตราประจำสถานศึกษา ประทับบนลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามไว้เป็นสำคัญ โดยใช้สีแดงชาด

         6. วันเดียวกัน ( 25 เม.ย.) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  ได้ออกใบ รบ.ให้ นศ.ไปเมื่อภาคเรียนที่ 2/58 แล้ว นศ.มาแจ้งว่าชื่อเขาผิด (เราทำผิดจริง) จะแก้ไขใหม่ต้องยกเลิกฉบับเดิมและออกใหม่ใช่หรือเปล่า และออกเป็นปัจจุบัน ณ วันนี้ใช่เปล่า บังเอิญว่า กศน.เปลี่ยน ผอ.ใหม่ด้วย และถ้าเราแก้ไขข้อมูล จะต้องทำรายงานผู้จบใหม่หรือเปล่า

             ผมตอบว่า   ให้นายทะเบียน และ ผอ.คนปัจจุบันลงนาม วันที่ใต้ลายเซ็น ผอ. ก็เป็นวันที่ปัจจุบัน แต่วันที่ของส่วนอื่น ๆ เหมือนเดิม
             ออกใบใหม่ให้เขา ส่วนใบเก่าไม่ต้องประกาศยกเลิกก็ได้ แต่ต้องนำใบเก่าทั้ง 2 ฉบับ ( ต้นขั้ว-คู่ฉบับ ) มาเก็บติดกันไว้ตลอดอย่าให้สูญหาย และขีดยกเลิกไม่ให้ใครนำไปใช้ได้อีก โดยเขียนระบุไว้ด้วยว่า พิมพ์ชื่อผิด ออกใบใหม่ให้แล้วเลขที่ .......
             และถ้าชื่อในรายงานผู้จบหลักสูตรผิดด้วย ก็ต้องทำรายงานผู้จบหลักสูตรใหม่

         7. เช้าวันที่ 27 เม.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  หลานเพื่อนจบโรงเรียนผู้ใหญ่ กศน. ไปสมัครเรียนต่อ ม.ปลาย แต่ทำใบ รบ.กศน.ม.ต้น ตัวจริงหาย ไปแจ้งหายที่ สน.ตำรวจ และไปที่ กศน. เพื่อขอใบแทน แต่ กศน.หาไม่พบ  กรณีนี้ต้องถามหน่วยงานไหน และจะต้องทำอย่างไรต่อไป

             ผมตอบว่า   ถ้าจบจากโรงเรียนผู้ใหญ่ ปัจจุบันจะเก็บหลักฐานเก่าไว้ที่ สนง.กศน.จังหวัด
             ถ้าหาต้นขั้วใบระเบียบไม่พบ ก็ต้องดูจากเอกสารหลักฐานอื่น ๆ  ถ้ามีเอกสารหลักฐานอื่น ๆ ที่เชื่อได้ว่า เรียนจบ/เป็นสำเนาใบ รบ.ที่สำเนาจากต้นฉบับ จริง ก็ออกหนังสือรับรองให้ได้ ตามวิธีที่ผมเคยตอบในข้อ 2 (5) ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/11/ep.html
             แต่ถ้าเอกสารหลักฐานอื่นก็สูญหายหมดแล้ว ต้องดำเนินการตาม ระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยเรื่องใบสุทธิของสถานศึกษาและหนังสือรับรองความรู้ของสถานศึกษา พ.ศ.2547คือไต่สวนก่อนออกหนังสือรับรอง ตามวิธีที่ผมเคยตอบในข้อ 4 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/534315 
             ถ้า จนท.สนง.กศน.จ. ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ควรสอบถามจากกลุ่มพัฒนา กศน.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย