วันเสาร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2560

1.ทำไมต้องลาออกล่วงหน้า ผอ.ชอบบอกว่าเป็นระเบียบ, 2.ขอหนังสือระเบียบการเทียบโอน นายทะเบียนให้หาระเบียบมาให้ดู, 3.การจะเรียน รด. ของ นศ.กศน., 4.วุฒิลูกเสือ (BTC ในระบบกับนอกระบบเหมือนกันไหม), 5.ค่ารายหัว นศ. กับค่าจ้างครู, 6.มีวุฒิ ม.1 สามารถจบ 1 ปีได้ไหม ผู้ปกครองเถียงว่าจบ ม.1 ต้องเทียบโอนได้ 21 นก, 7.เรียน กศน.กับสถาบันการศึกษาทางไกล ผ่อนผันเกณฑ์ทหารได้ไหม



1.ทำไมต้องลาออกล่วงหน้า ผอ.ชอบบอกว่าเป็นระเบียบ, 2.ขอหนังสือระเบียบการเทียบโอน นายทะเบียนให้หาระเบียบมาให้ดู, 3.การจะเรียน รด. ของ นศ.กศน., 4.วุฒิลูกเสือ (BTC ในระบบกับนอกระบบเหมือนกันไหม), 5.ค่ารายหัว นศ. กับค่าจ้างครู, 6.มีวุฒิ ม.1 สามารถจบ 1 ปีได้ไหม ผู้ปกครองเถียงว่าจบ ม.1 ต้องเทียบโอนได้ 21 นก, 7.เรียน กศน.กับสถาบันการศึกษาทางไกล ผ่อนผันเกณฑ์ทหารได้ไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. คืนวันอาทิตย์ที่ 16 ก.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  พนักงานราชการลาออกทำไมต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วัน ในเมื่อเขาจะออก สิทธิ์ต่างๆขึ้นกับประกันสังคม ขอความกระจ่าง ผู้บริหารชอบใช้คำว่า ระเบียบทางราชการ

             ผมตอบว่า   ก็เป็นระเบียบหลักเกณฑ์ ซึ่งระเบียบหลักเกณฑ์มักจะเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหา/เพื่อความเรียบร้อยไม่มีปัญหา   ทางราชการเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายในการฝึก/การสร้างพนักงานราชการแล้ว จะลาออกก็ควรมอบงาน/ฝึกงานให้คนอื่นให้เรียบร้อยก่อน มอบทั้งงานในสำนักงานและงานในพื้นที่ให้พนักงานคนอื่น เช่นนำผู้รับงานไปรู้จักกลุ่มต่าง ๆ มอบภาระในพื้นที่ให้ทำงานต่อกันได้โดยไม่มีปัญหา ตรวจเช็ค/คืนพัสดุ/เอกสาร/เงินยืม/ใบยืมหนังสือเรียน ต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้เวลา
              ( รวมทั้งเพื่อให้มีเวลาที่สามารถเรียกบรรจุคนใหม่ที่ขึ้นบัญชีไว้ ล่วงหน้า หรือดำเนินการสอบใหม่ ให้คนใหม่มารายงานตัวเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่คนเก่าออก ได้ทันที เพราะระเบียบการเรียกตัวมาบรรจุต้องให้เวลา จะเรียกวันนี้แล้วกำหนดให้รายงานตัวภายใน 3 วันไม่ได้ )
             ดูหลักเกณฑ์และแบบฟอร์มการลาออก ได้ที่
             
https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/PRGout.pdf
              ( ต้องยื่นขอลาออกล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ยกเว้นกรณีมีเหตุผลจำเป็น ) แต่ ไม่มีสัญญาให้เสียค่าปรับ
             ในกรณีที่ยื่นหนังสือขอลาออกล่วงหน้าน้อยกว่าสามสิบวัน หากผู้มีอำนาจเห็นว่ามีเหตุผลและความจำเป็น จะอนุญาตให้ลาออกจากราชการตามวันที่ขอลาออกก็ได้  แต่หากเห็นว่า ไม่มีเหตุผลความจำเป็น อาจอนุญาตให้ลาออกในวันถัดจากวันที่ยื่นไปสามสิบวัน ก็ได้
             เช่นต้องการขอลาออกตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. แต่เพิ่งยื่นหนังสือขอลาออกในวันที่ 1 เม.ย. ถ้ามีเหตุผลความจำเป็นอาจอนุญาตให้ลาออกตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย.ตามความประสงค์ก็ได้ ( พนักงานราชการไม่มีสัญญาให้ปรับกรณีลาออกล่วงหน้าน้อยกว่า 30 วัน ) หรือจะอนุญาตให้ลาออกวันที่ 1 พ.ค.ก็ได้

ผมตอบ และรีโพสต์(แชร์ความทรงจำ) เรื่องนี้ หลายครั้งแล้ว เช่นที่
- ข้อ 11 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/537318
- ข้อ 1 ที่ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10202709759945524

         2. ดึกวันที่ 18 ก.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  มีระเบียบเทียบโอนเล่มใหม่ล่าสุดบ้างไหม เนื่องจากตอนนี้อำเภอเปลี่ยนนายทะเบียนใหม่แล้วเขากำหนดให้เด็กมีการเทียบโอนเฉพาะเทอมแรกเท่านั้น เขาบอกถ้าอยากให้เปลี่ยนก็หาระเบียบมาให้ดูอะ เดิมอำเภอก็สามารถเทียบได้ทุกเทอมนะ

             ผมตอบว่า   หนังสือระเบียบการเทียบโอนมีหลายเล่ม เช่นเล่มการเทียบโอนจากกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เล่มการเทียบโอนจากหลักสูตร กศน.2544 เล่มแนวทางการเทียบโอนฯ(ภาพรวม เล่มแรก)
             ซึ่งเรื่องที่ว่าเทียบโอนเทอมอื่นก็ได้นี้ อยู่ใน แนวทางการเทียบโอน(ภาพรวม เล่มแรก)เลย
             เล่มนี้ อยู่ในชุดเอกสารหลักสูตรใหม่ 2551 ที่มี 9 เล่ม ซึ่งตอนอบรมหลักสูตรใหม่ในปี 52-53 แจก 9 เล่มนี้ให้ครู ทุกคนด้วย ไม่ใช่แจกให้แค่อำเภอละชุดเดียวนะ ซึ่งตอนนั้นครูทุกคนต้องเข้าอบรมหลักสูตรใหม่
             ( หลักสูตร 51 กำหนดเรื่องการเทียบโอนไว้แบบนี้มาตั้งแต่ต้น )
             ถ้าคุณเพิ่งมาสังกัด กศน.หลังปี 2553 คุณอาจจะไม่มีหนังสือนี้ แต่ กศน.อำเภอก็ควรเก็บไว้เพราะยังไม่ได้เปลี่ยนหลักสูตรอีก

             ผมตอบเรื่องนี้บ่อย และก็เพิ่งจะสแกนเฉพาะหน้าที่กล่าวถึงประเด็นนี้มาโพสต์อีกครั้งเมื่อค่ำวันที่ 19 มิ.ย.60 นี้เอง คุณคงไม่มีเวลาว่างจะสนใจอ่านที่ผมโพสต์
             ( อินเทอร์เน็ตสามารถเสิร์ชหาย้อนหลังได้ โพสต์นั้นดูย้อนหลังได้ในข้อ 2 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2017/07/3-n-net.html )
             แต่ถ้าดูเฉพาะหน้านั้นไม่พอใจ จะดูทั้งเล่ม และที่อำเภอหายหมดทุกคนแล้ว ดาวน์โหลดทั้งเล่มได้ที่
             https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/tiab_on.pdfhttps://dl.dropboxu

         3. เช้าวันที่ 21 ก.ค.60 ธเนศวร ผลประดิษฐานนท์ ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ไปสมัคร รด. เขาบอกว่า กศน.เรียนไม่ได้ ทำไมไม่มีความเท่าเทียมทางการศึกษาเลย คุณพ่ออยากได้เบอร์อาจารย์

             ผมตอบว่า   ตามหลักการแล้ว กระทรวงกลาโหมแจ้งว่า กศน.เรียน รด.ได้ แต่ในทางปฏิบัติผมไม่ทราบว่าใครต้องดำเนินการอย่างไร ผมเองก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะประสานงานให้ได้ คุณลองนำหนังสือ กศน. และหนังสือกระทรวงกลาโหม นี้ ไปให้หน่วยที่รับสมัครดู ถามว่าใครต้องดำเนินการอย่างไรจึงจะเรียนได้

             วันเสาร์ที่ 22 ก.ค.60 ว่าที่ร้อยตรีสามารถ ลำใยหวาน ช่วยให้ข้อมูลต่อท้ายที่ผมโพสต์ในเฟซบุ๊ก เรื่องนี้ ว่า
             นศ.กศน. เรียน รด.ตามหนังสือที่แจ้งได้  แต่ กศน.อำเภอต้องไปประสานขอสังกัดโรงเรียนที่เป็นสถานศึกษาวิชาทหาร เช่น นศ.กศน.อ.เสนา ก็ไปสังกัดสถานศึกษาวิชาทหารโรงเสนา เสนาประสิทธิ์แต่วิธีนี้จะมีปัญหาตอนจบทำเรื่องยุ่งยาก
             อีกวิธีหนึ่งคือ กศน.อำเภอ/เขต ขอเป็นสถานศึกษาวิชาทหารเองเลย นศ.ก็จะเรียน รด.ชั้นปี 1-3 ได้ ( ส่วนชั้นปีที่ 4-5 เรียนได้เฉพาะ นศ.ระดับ ปวส. หรืออนุปริญญา ) โดย กศน.อำเภอทำเรื่องไปที่ นรด. ( หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ) เพื่อขอเปิดเป็น สถานศึกษาวิชาทหาร กศน.อำเภอ.....
             ใช้เวลาขอเปิดประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี
             ว่าที่ร้อยตรีสามารถ ลำใยหวาน ได้ส่งระเบียบพร้อมแบบฟอร์มการขอเปิดสถานศึกษาวิชาทหาร และระเบียบการสมัครเป็น นศ.วิชาทหาร มาให้ด้วย  ดาวน์โหลด ( รวมอยู่ในไฟล์เดียวกัน ) ได้ที่  https://www.dropbox.com/s/ntw005wh0bclglf/RD.pdf?dl=1






         4. คืนวันเสาร์ที่ 22 ก.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊คผม ว่า  ผู้กำกับลูกเสือ วุฒิ Btc ในระบบ กับ นอกระบบเหมือนกันไหม

             ผมตอบว่า   คำว่า ในระบบ-นอกระบบ ที่ถามนี้หมายถึงอย่างไร หมายถึงในระบบกับ กศน. หรือหมายถึง ในโรงเรียนกับนอกโรงเรียน ( สถานศึกษา กศน. ก็ถือเป็น โรงเรียนเช่นเดียวกับ สถานศึกษาในระบบนะ )
             ทั้งสถานศึกษาในระบบและสถานศึกษา กศน. ต่างก็ตั้งกองลูกเสือได้ทั้งกองลูกเสือในโรงเรียนและกองลูกเสือนอกโรงเรียน ทั้งคู่

             กิจการลูกเสือ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
             1)  ลูกเสือภาคบังคับ (Compulsory) คือลูกเสือในโรงเรียน ประกอบด้วย ลูกเสือสำรอง ลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และ ลูกเสือวิสามัญ
             2)  ลูกเสืออาสาสมัคร (Voluntary) คือลูกเสือที่อยู่นอกโรงเรียน ประกอบด้วย ลูกเสืออาสาสมัครที่อยู่ในกองลูกเสือนอกโรงเรียน  สโมสรลูกเสือ และอาสาสมัครลูกเสือ  และลูกเสือชุมชน ได้แก่ ลูกเสือชาวบ้าน สมาคมสโมสรลูกเสือจังหวัด
             วุฒิทางลูกเสือ ไม่ได้แยกต่างกันระหว่าง ในระบบ-กศน.-นอกระบบ-ในโรงเรียน-นอกโรงเรียน แต่ แยกต่างกันระหว่าง ลูกเสือสำรอง-ลูกเสือสามัญ-ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่-ลูกเสือวิสามัญ
              ( “ลูกเสือในโรงเรียนของ กศน. จะมีแต่ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ กับ ลูกเสือวิสามัญ )
             B.T.C. ( ผู้กำกับลูกเสือขั้นความรู้เบื้องต้น ) ก็แยกต่างกันเป็น 4 ประเภทเช่นกัน
             ถ้าเป็น R.B.T.C. ( ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ ) ไม่ว่าจะเป็น R.B.T.C. ในระบบ หรือ R.B.T.C. ใน กศน. ก็เหมือนกัน
             แต่ถ้าเป็น R.B.T.C. ( ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ ) กับ S.B.T.C. ( ผู้กำกับลูกเสือสามัญ ) แม้จะอยู่ในโรงเรียนเดียวกันก็ต่างกัน
             ผู้ที่มี B.T.C.สามัญ หรือ B.T.C.สามัญรุ่นใหญ่ จะสมัครเข้าอบรม A.T.C.วิสามัญไม่ได้ เพราะเป็นคนละประเภท ไม่ว่าจะใน กศน. หรือในโรงเรียน ก็ไม่ได้ แม้แต่ผู้ที่ได้ A.T.C.สามัญแล้ว จะเข้าอบรม A.T.C.วิสามัญ โดยไม่ผ่าน B.T.C.วิสามัญก่อน ก็ไม่ได้ หรือแม้แต่จะอบรม A.T.C.สำรอง ซึ่งเป็นรุ่นเล็กกว่า โดยไม่ผ่าน B.T.C.สำรอง ก็ไม่ได้  เวลาประเมินขั้นที่ 5 จะต้องส่งวุฒิบัตร B.T.C.ของประเภทนั้น ๆ ประกอบด้วย
             เรื่องวุฒิทางลูกเสือนี้ ผมเคยตอบ และรีโพสต์ ( แชร์ความทรงจำ ) ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้งแล้ว ว่า
             วุฒิทางลูกเสือ ประกอบด้วยอักษรย่อประเภทของลูกเสือ 4 ประเภทคือ
             C = ลูกเสือสำรอง
             S = ลูกเสือสามัญ
             S.S = ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่
             R = ลูกเสือวิสามัญ
             โดยมีวุฒิทางลูกเสือ ที่ได้รับจากการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือ ดังนี้

             1)  ขั้นความรู้ทั่วไป (General Information Course)
                  ระยะเวลาอบรม 1 วัน ได้รับวุฒิบัตร ไม่แยกประเภท ไม่มีตัวอักษรย่อ
             2)  ขั้นความรู้เบื้องต้น
                  ระยะเวลาอบรม 3 วัน 2 คืน ได้รับวุฒิบัตร และห่วงกิลเวลล์ (Gillwell Woggle) หากอบรมก่อนปี พ.ศ.2522 ใช้ตัวอักษรย่อ P.T.C. แต่ในปัจจุบัน ใช้ตัวอักษรย่อ B.T.C. (Basic Unit Leader Training Course) แยกเป็น 4 ประเภท คือ
                  ผู้กำกับลูกเสือสำรอง C.B.T.C.
                  ผู้กำกับลูกเสือสามัญ S.B.T.C.
                  ผู้กำกับลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ S.S.B.T.C.
                  ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ R.B.T.C.
             3)  ขั้นความรู้ชั้นสูง
                  ระยะเวลาอบรม 7 วัน 6 คืน หรือ 8 วัน 7 คืน ได้รับวุฒิบัตร ใช้ตัวอักษรย่อ A.T.C. (Advance Unit Leader Training Course) แยกเป็น 4 ประเภท (ยังไม่ได้รับเครื่องหมายวูดแบดจ์ 2 ท่อน และผ้าผูกคอกิลเวลล์) คือ
                  ผู้กำกับลูกเสือสำรอง C.A.T.C.
                  ผู้กำกับลูกเสือสามัญ S.A.T.C.
                  ผู้กำกับลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ S.S.A.T.C.
                  ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ R.A.T.C.
             4)  ขั้นวูดแบดจ์ 2 ท่อน
                  ปฏิบัติงานในกองลูกเสือตามประเภทที่ผ่านการฝึกอบรมขั้นความรู้ชั้นสูง ไม่น้อยกว่า 4 เดือน ไม่เกิน 2 ปี และผ่านการตรวจขั้นที่ 5 ขั้นปฏิบัติการและประเมินผล จากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ก็จะได้รับวุฒิบัตรให้มีสิทธิ์ประดับเครื่องหมายวูดแบดจ์ 2 ท่อน มีสิทธิ์ใช้ผ้าผูกคอกิลเวลล์ ใช้ตัวอักษรย่อ W.B. แยกเป็น 4 ประเภท คือ
                  ผู้กำกับลูกเสือสำรอง C.W.B.
                  ผู้กำกับลูกเสือสามัญ S.W.B.
                  ผู้กำกับลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ S.S.W.B.
                  ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ R.W.B.
             5)  ขั้นผู้ช่วยผู้ให้การฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือ
                  ระยะเวลาอบรม 7 วัน 6 คืน ได้รับวุฒิบัตร ไม่แยกประเภท ใช้ตัวอักษรย่อ A.L.T.C. (Assistance Leader Trainers Course) (ยังไม่ได้รับเครื่องหมายวูดแบดจ์ 3 ท่อน)
             6)  ขั้นวูดแบดจ์ 3 ท่อน
                  มีผลงานเป็นวิทยากรฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือ 6 ครั้ง หลังจากฝึกอบรมขั้นผู้ช่วยผู้ให้การฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือ ไม่น้อยกว่า 1 ปี อนุโลมให้ใช้ผลงานการฝึกอบรมลูกเสือได้ 3 ครั้ง นำเสนอผลการปฏิบัติงาน ได้รับวุฒิบัตรให้มีสิทธิ์ประดับเครื่องหมายวูดแบดจ์ 3 ท่อน ใช้ตัวอักษรย่อ A.L.T.
                  หมายเหตุ  A.L.T.C./A.L.T.( สำเร็จการอบรมหลักสูตรผู้ช่วยผู้ให้การฝึกอบรม กรณีจะไปเป็นวิทยากร/ผู้อำนวยการฝึกขั้น B.T.C.)
             7)  ขั้นหัวหน้าผู้ให้การฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือ
                  อบรม 7 วัน 6 คืน ได้รับวุฒิบัตร ไม่แยกประเภท ใช้ตัวอักษรย่อ L.T.C. (Leader Trainers Course) (ยังไม่ได้รับเครื่องหมายวูดแบดจ์ 4 ท่อน)
             8)  ขั้นวูดแบดจ์ 4 ท่อน
                  มีผลงานเป็นผู้อำนวยการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือขั้นความรู้เบื้องต้น 2 ครั้ง และเป็นวิทยากรฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือขั้นความรู้ชั้นสูง 4 ครั้ง หลังจากฝึกอบรมขั้นหัวหน้าผู้ให้การฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือ ไม่น้อยกว่า 1 ปี นำเสนอผลการปฏิบัติงาน ได้รับวุฒิบัตรให้มีสิทธิ์ประดับเครื่องหมายวูดแบดจ์ 4 ท่อน ใช้ตัวอักษรย่อ L.T.
                  หมายเหตุ  L.T.C./L.T. (สำเร็จการอบรมหลักสูตรผู้ให้การฝึกอบรม กรณีจะไปเป็นวิทยากร/ ผู้อำนวยการฝึกอบรมทุกหลักสูตร)
             9)  สำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นผู้นำ สนใจและส่งเสริมกิจการลูกเสือ ผ่านหลักสูตรผู้นำ Adult Lesder Training Course ได้รับวุฒิบัตร ผ่านการสอบสัมถาษณ์ ได้รับเครื่องหมายวูดแบดจ์ 2 ท่อน ( W.B )
             วุฒิ ที่มีการอบรมมีเท่านี้ นอกนั้นจะเป็นวิชาพิเศษอื่น ๆ เช่น ระเบียบแถว บุกเบิก แผนที่-เข็มทิศ การจัดการค่าย การบันเทิง ซึ่งจะมี เข็ม แสดงวิทยฐานะตามประเภท

             เมื่อผมตอบไปแล้ว  ผู้ถามเขียนเพิ่มว่า
             คือตอนแรกฝึกสอน เขาก็ส่งไปอบรม btc แล้ว แล้วเป็นครูอัตราจ้างในระบบ ปัจจุบันเป็นพนักงานราชการครู กศน.ตำบล ที่นี่จะถูกส่งไปอบรมฝึกขั้น Btc ใหม่ เลยงงว่าเรามีแล้วจะต้องไปอีกทำไม มันไม่เหมือนกันหลอ
             ผมตอบว่า B.T.C. ก็มี 4 ประเภท อ่านที่ผมเสียเวลาพิมพ์ตอบหรือยัง เดิมคุณอบรม B.T.C.ประเภทไหนแล้วล่ะ และที่เขาจะส่งไปอบรมใหม่นี้เป็น B.T.C.ประเภทไหน ถ้าเป็นคนละประเภทก็อบรมอีก
             เช่น เดิมอบรม B.T.C.ลูกเสือสำรอง หรือ B.T.C.ลูกเสือสามัญ จะนำมาใช้กับ กศน.ไม่ได้ ผมตอบแล้วว่าลูกเสือในโรงเรียนของ กศน.มีแต่ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ กับลูกเสือวิสามัญ
             ถ้าตอนอยู่โรงเรียนเดิมคุณอบรม B.T.C.ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่แล้ว ก็ไม่ต้องส่งไปอบรม B.T.C.ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่อีก ( นำวุฒิบัตรมาแสดง )






         5. คืนวันที่ 26 ก.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  อยากทราบรายหัวนักเรียน กศน. ประถม ม.ต้น ม.ปลาย
             ตอนนี้มีครู ศรช ทั้งหมด
8 คน มีนักเรียน 80 เท่ากันทุกคน ผอ.อำเภอบอกว่าพวกฉันมาเกาะกินเงินอำเภอ และต้องการลดครู ศรช เพราะมากเกิน
             ฉันเลยอยากรู้ว่า ฉันกับเพื่อนครู ศรช เกาะเงินอำเภอจิงไม อีกอย่างหนึ่ง ผอ.บอกว่าครู ศรช. เงินเดือนจะได้อยู่
10 เดือน ถ้าคิดเป็นรายปี แล้วอีก 2 เดือนต้องหาเงินอำเภอช่วย จริงไหม

             ผมตอบว่า   เงินอุดหนุนต่อหัวอัตราปัจจุบันนี้ เมื่อวันที่ 29 พ.ย.54 ครม.มีมติเห็นชอบปรับค่าใช้จ่ายต่อหัว ต่อปี ในการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนี้
            
- ระดับประถมศึกษา  ปรับจาก 1,100 บาท เป็น 1,900 บาท
            
- ม.ต้น และ ม.ปลาย  2,300 บาทเท่าเดิม
            
- ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)  ปรับจาก 4,240 บาท เป็น สายพาณิชยกรรม 4,900 บาท, สายเกษตรกรรม 5,500 บาท

             อัตรานี้เป็นอัตราต่อปี ( 12 เดือน ) ครู ศรช.จึงได้ค่าจ้างเหมาบริการทั้ง 12 เดือน ไม่ใช่ 10 เดือน
             แต่อัตรานี้ส่วนกลางจะหักไว้เป็นค่าพิมพ์แบบทดสอบปลายภาคส่วนหนึ่ง และ สนง.กศน.จังหวัดก็หักไว้บริหารจัดการระดับจังหวัดอีกส่วนหนึ่ง ( แต่ละจังหวัดหักไว้ไม่เท่ากัน ) ไม่ได้ใช้เป็นค่าจ้างครูเท่านั้น แต่ใช้เป็นค่าดำเนินงาน กศ.ขั้นพื้นฐานทั้งหมดรวมทั้งค่าดำเนินการสอบ-คุมสอบ ฯลฯ ด้วย

         6. คืนวันอาทิตย์ที่ 30 ก.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  มีวุฒิ ม.1 สามารถจบ 1 ปีได้ไหม ตอนนี้ก็เทียบโอนไปแล้วเรียนเทอมแรกอยู่

             ผมตอบว่า   ผมไม่รู้ว่าคุณเทียบโอนได้เท่าไร แต่ละคนเทียบโอนได้ไม่เท่ากัน ม.1 แต่ละที่เรียนวิชาเลือกไม่เหมือนกัน แต่ละคนสอบผ่านไม่เท่ากัน ( วิชาไหนได้เกรดต่ำกว่า 1 ก็เทียบโอนไม่ได้ ) และ กศน.แต่ละแห่งก็มีวิชาเลือกไม่เหมือนกันด้วย จึงเทียบโอนได้ไม่เหมือนกัน
             วิชาที่เทียบโอนได้ก็ไม่ต้องเรียนอีก ถ้าเทียบโอนได้มากก็อาจเรียนปีเดียวจบ แต่ปกติเรียนแค่ ม.1 จะเทียบโอนได้น้อย
             เมื่อคุณเทียบโอนไปแล้ว ครูก็บอกได้แล้วละว่าเรียนอย่างน้อยกี่เทอมจบ ถามครูนะ

             หลังจากที่ผมตอบผู้ปกครอง นศ. ในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊กว่า เรียน ม.1 เหมือนกัน ก็เทียบโอนได้ไม่เท่ากัน แล้ว  เย็นวันที่ 31 ก.ค.60 ผู้ปกครองได้ถ่ายภาพตารางที่ 1 ในหน้า 10 ของ แนวทางการเทียบโอนผลการเรียน หลักสูตร กศน.51” มาเถียงว่า นี่ไง ม.1 โอนได้ 21 นก บังคับ 9 เลือก 12  ม.2 โอนได้ 42 นก
             ผมตอบว่า  ข้อความในตารางนั้นอาจไม่ชัดเจนสำหรับหลายคน ทำให้เข้าใจผิด

             ให้วิเคราะห์ข้อ 1-3 ในคอลัมน์ที่ 2 ของตาราง จะเห็นว่าแม้ชั้น ม.1 เท่ากัน แต่ละคนก็เทียบโอนได้ไม่เท่ากัน ( ไม่เกิน 21 หน่วยกิต )
             ผมยืนยันว่า  วิชาไหนติด ร, มส. หรือได้เกรด 0 ก็เทียบโอนไม่ได้ วิชาไหนไม่ตรงกับวิชาของ กศน.อำเภอนั้น ก็เทียบโอนไม่ได้  ม.1 แต่ละที่เรียนไม่เหมือนกัน แต่ละคนสอบได้ไม่เท่ากัน และ กศน.แต่ละแห่งก็มีวิชาเลือกไม่เหมือนกัน จึงเทียบโอนได้ไม่เหมือนกัน
             โดยเฉพาะในปีหลัง ๆ นี้ แต่ละสถานศึกษามีวิชาเลือกแตกต่างกันมากขึ้น เทียบโอนได้น้อยลง

         7. วันที่ 31 ก.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เรียน กศน กับสถาบันการศึกษาทางไกล สามารถทำเรื่องผ่อนผันเกณฑ์ทหารได้ไหม

             ผมตอบว่า   ได้  ถ้าเรียน ม.ปลาย และอายุอยู่ในช่วงที่จะขอผ่อนผัน
              ( เคยโพสต์เรื่องขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหารหลายครั้ง เช่น ใน
             - ข้อ 2 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/11/etv.html
             - ข้อ 2 ที่  https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10200561944051469
             สถาบัน กศ.ทางไกล ส่งเรื่องไปที่ต้นสังกัด และต้นสังกัดส่งต่อไปที่ ผวจ.ที่เป็นภูมิลำเนาทหารของ นศ.แต่ละราย )


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย