วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2561

1.ควรทำเช่นไร อำเภอหักเงินอบรมไว้บริหาร, 2.ทำไม ชพค.-ชพส. เงินสงเคราะห์ที่ญาติจะได้ ลดลงทุกเดือน, 3.คำว่า เนื่องใน “วโรกาส” วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพฯ ไม่ถูกต้อง, 4.หาหนังสือที่ให้ขึ้นบัญชีพนักงานราชการกี่ปี, 5.พนง.จ้างเหมาบริการ อยู่เวรได้ไหม, 6.หา เรื่องที่ให้จ่ายครู ศรช.เป็นรายหัว ถ้า นศ.ไม่ครบ, 7.จะจบ ม.ต้น ต้องอายุ 15 ใช่ไหม – เรียนครบแต่ไม่เรียนวิชาบังคับเลือก จบไหม


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. ค่ำวันที่ 28 มี.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  โครงการ smart farmer ที่ทางจังหวัดสรรให้มาคือ 15200 โดยหลักสูตรอบรม 3 วัน แต่ของอำเภอนี้ได้รับจากที่อำเภอจัดสรรให้เพียง 3000 บาท และให้ดำเนินการจัดอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักสูตรคือ 3 วัน ควรจะทำเช่นไร
             ทุกคนลำบากใจที่จะดำเนินการมาก เพราะงบประมาณถูกอำเภอหักไปเป็นจำนวนมาก ให้ กศน.ตำบลไปดำเนินการตัดกิจกรรมเพียง 3000 บาท เบิกจากจังหวัดตำบลละ 15200 บาท กลุ่มเป้าหมายคือ 10 คน ฉันอยู่ชัยภูมิ พวกฉันโดยหักเงินทุกโครงการโดยที่ผู้บริหารแจ้งว่านำเงินกันไว้บริหาร ทุกคนไม่กล้าพูดอะไร เพราะกลัวจะกระทบกับการประเมินงาน ผอ.อยู่มาจะเข้าปีที่ 9 แล้ว ผู้บริหารไม่มีการโยกย้ายบ้างหรือ

             ผมตอบว่า   ที่ถามว่า "ควรจะทำเช่นไร" นี้
             - ถ้าหมายถึง "ควรจะอบรมอย่างไร" ขอแนะนำให้ถาม ผอ.กศน.อำเภอ ว่าจะให้จัดอบรมอย่างไร
             - แต่ถ้าหมายถึง "ควรจะทำอย่างไรเมื่อถูกอำเภอหักเงินทุกโครงการ" ขอแนะนำว่า ปรึกษารอง ผอ. หรือ ผอ.สนง.กศน.จ.ชัยภูมิ
             ( สงสัยว่า เวลาทำเรื่องเบิกเงินจากจังหวัด 15,200 บาท เบิกเป็นค่าอะไร อย่างไร )


         2. วันเดียวกัน ( 28 มี.ค.) มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ของผมในเฟซบุ๊กกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  ทำไมเงินค่าสงเคราะห์ที่ญาติจะได้ลดลงทุกเดือนละ งง

             ผมตอบว่า   เงินสงเคราะห์ที่ทายาทจะได้รับ จะขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิก
             ( คือได้รับ 96 % ของจำนวนสมาชิก เช่นถ้ามีสมาชิก 100,000 คน ทายากจะได้รับเงิน 96,000 บาท
             ซึ่ง เมื่อ 20 มิ.ย.57 ชพค.มีสมาชิก 1,002,064 คน แต่ ณ 20 มี.ค.61 สมาชิกเหลือ 947,860 คน )

             จำนวนสมาชิกลดลงทุกเดือน
             เพราะในแต่ละเดือน สมาชิกถึงแก่กรรม มากกว่าสมัครใหม่ เนื่องจากในอดีตมีการบรรจุครูใหม่มาก สมัครเป็นสมาชิกมาก สมาชิกรุ่นในอดีตถึงวันนี้ก็ชราภาพแล้ว และปัจจุบันมีการบรรจุครูใหม่น้อยจึงสมัครเป็นสมาชิกใหม่น้อย )

         3. ประโยคที่หลายคนใช้ว่า “เนื่องใน วโรกาส วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” นั้น ไม่ถูกต้อง

             ที่ถูก ต้องใช้ “เนื่องใน โอกาส วันคล้ายวันพระราชสมภพฯ”
             ข้อมูลจากทางสำนักราชเลขาธิการ ว่า  คำว่า “วโรกาส” ปัจจุบันมีธรรมเนียมการใช้เฉพาะเมื่อ “ขอโอกาส” หรือ “ให้โอกาส” จากพระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์ เช่น “ขอพระราชทานพระราชวโรกาส” “พระราชทานพระราชวโรกาสให้”
             แต่ถ้าจะใช้ในความหมายว่า “ในโอกาส” ไม่ว่าจะเป็นในโอกาสพิเศษหรือโอกาสอันยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายพระองค์ใด ก็ให้ใช้ว่า “ในโอกาส”

             ซึ่ง ราชบัณฑิตยสถาน ได้ใช้แบบแผนของสำนักราชเลขาธิการนี้ ตั้งแต่ปี 2547
             ดูอ้างอิงที่  http://www.royin.go.th/?knowledges=โอกาส-วโรกาส-๒๐-มิถุนายน
             ผมเคยโพสต์เรื่องนี้ ในข้อ 7 (2) ที่  http://nfeph.blogspot.com/2015/03/5000.html

         4. คืนวันที่ 29 มี.ค.61 มีท่านรอง ผอ.สนง.กศน.จ. ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  หาหนังสือราชการจาก สนง.กศน.ที่มีข้อความว่า การขึ้นบัญชีพนักงานราชการ .. กี่ปี  ถ้าจำไม่ผิด สนง.กศน.มีหนังสือแจ้ง พอจะมีหนังสือฉบับที่ว่ามั้ย อยากได้

             ผมตอบว่า   เห็นอยู่ในข้อ 13 ของเอกสาร "สาระสำคัญการสรรหาและเลือกสรรพนักงานราชการ" ที่ส่งมากับหนังสือ สป.ศธ. ที่ 0210.118/1663 ลว.14 มิ.ย.54 ซึ่งให้ขึ้นบัญชี 1 ปี  ( ดูหนังสือนี้ได้ที่  https://www.dropbox.com/s/uyazgovvhoa60ey/PRGtest.pdf?dl=1 )
             ใครเห็นอยู่ในหนังสือฉบับอื่นบ้าง

         5. วันที่ 5 เม.ย.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  พนักงานจ้างเหมาบริการตำแหน่งครู ห้องสมุด อยู่เวรยามรักการณ์ในโรงเรียนตอนกลางคืนและเวรวันหยุดนักขัตฤกษ์ได้หรือไม่ มีระเบียบหนังสือสั่งการไหม หรือว่าอยู่ที่ข้อตกลงของสัญญาจ้าง

             ผมตอบว่า   เรื่องนี้ผมเคยโพสต์ในเฟซบุ๊ก ว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค.59 ผมได้นั่งคุยกับท่านวรวิทย์ หัวหน้ากลุ่มงานวินัยและนิติกร กจ.กศน. ( ปัจจุบันท่านเป็น ผอ.กจ.) ท่านบอกว่า ให้ผู้รับจ้างเหมาบริการอยู่เวรได้

             ในหลักเกณฑ์การอยู่เวรรักษาการณ์ ( ดูได้ที่ https://www.dropbox.com/s/21kyzth24j4ft03/vene.pdf?dl=1 ) ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรไว้ แต่กำหนดในข้อ 5 ว่าให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชา

         6. วันเดียวกัน ( 5 เม.ย.) มี ผอ.กศน.อ. ถามผมทางไลน์ ว่า  ขอรบกวนหน่อย ขอหลักเกณฑ์การจ้างครู ศรช หากไม่ถึง 80 คน ให้จ่ายตามรายหัวละ 150 บาท น่ะ หาไม่เจอ กำลังถกประเด็นในเรื่องนี้กันอยู่

             ผมตอบว่า   ที่เคยให้จ่ายตามรายหัวนั้น เป็นหลักเกณฑ์เก่าตั้งแต่ยังไม่เปลี่ยนครู ศรช.เป็นผู้รับจ้างเหมาบริการ   ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นผู้รับจ้างเหมาบริการ ประกอบกับหลักเกณฑ์ส่วนกลางที่เกี่ยวกับจำนวน นศ.ของครู ศรช.ไม่พูดถึงรายหัว ( แต่ของครูประจำกลุ่มมีพูดถึงรายหัว )
             ฉะนั้น ให้แต่ละจังหวัดกำหนดจำนวน นศ.ขั้นต่ำของครู ศรช. และถ้าครู ศรช.คนใดมี นศ.ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำก็ควรเปลี่ยนไปจ้างเป็นครูประจำกลุ่มแทน

             ลองดูคำตอบใน
             - ข้อ 5 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2017/12/9h.html
             - ข้อ 4 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2017/12/thai.html

             อนึ่ง จังหวัดจะกำหนดเกณฑ์จำนวน นศ.ขั้นต่ำของครู ศรช. ต่ำกว่า 40 คนไม่ได้ ดูประเด็นนี้ในข้อ 7 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2016/11/timework.html

             ( ถ้าจะดูตัวอย่างหนังสือที่เคยแจ้งให้จ่ายครู ศรช.เป็นรายหัว ดูในข้อ 1 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/506532  กับหนังสือแจ้งอีกฉบับในข้อ 8 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/550293  แต่ตอนนี้ไม่ใช้หนังสือนี้แล้ว )

         7. วันที่ 9 เม.ย.61 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ของผมในเฟซบุ๊ก ว่า  ขอถามดังนี้
             1)  การจบการศึกษา ม.ต้น ต้องอายุไม่น้อยกว่า 15 ปีใช่ไหม
                  (นศ. เกิด 15 ต.ค. 2546 เรียน 2/60 ครบโครงสร้างแล้ว แสดงว่าต่องให้จบ ต.ค. 61 หรือ เม.ษ. 62)
             2)  การลงทะเบียนในรายวิชาเลือกตามโครงสร้าง มี นศ. ลงทะเบียนครบตามโครงสร้างแล้ว แต่ขาดในรายวิชาบังคับเลือก สามารถจบได้ไหม)

             ผมตอบว่า
             1)  ใช่แล้ว ม.ต้น นอกจากจะครบ 4 เงื่อนไขการจบแล้ว ยังต้องอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์อีกด้วย จึงจะให้จบได้
                  ( ถ้าเกิด 15 ต.ค.46 ก็ให้จบก่อน 15 ต.ค.61 ไม่ได้ แต่จบได้ตั้งแต่ 15 ต.ค.61 ไม่ต้องจบพร้อมรุ่น )

             2)  โปรแกรม ITw เคยกำหนดบังคับไว้ว่า นศ.รหัส 591....... เป็นต้นมา ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับจึงจะจบ แต่ถ้ามีการเทียบโอน  โดย ม.ต้น-ปลาย ถ้าหลังเทียบโอนแล้วเหลือวิชาเลือกที่ต้องเรียนไม่ถึง 6 นก. ก็จบได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียนวิชาเลือกบังคับเลย  ถ้าเหลือวิชาเลือก 6 หน่วยกิตขึ้นไป ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับ 2 วิชาจึงจะจบ


2 ความคิดเห็น:

  1. ) โปรแกรม ITw เคยกำหนดบังคับไว้ว่า นศ.รหัส 591....... เป็นต้นมา ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับจึงจะจบ แต่ถ้ามีการเทียบโอน โดย ม.ต้น-ปลาย ถ้าหลังเทียบโอนแล้วเหลือวิชาเลือกที่ต้องเรียนไม่ถึง 6 นก. ก็จบได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียนวิชาเลือกบังคับเลย ถ้าเหลือวิชาเลือก 6 หน่วยกิตขึ้นไป ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับ 2 วิชาจึงจะจบ

    ขอถามต่อหน่อยครับว่า มีหนังสือแจ้งหรือสั่งการในเรื่องนี้บ้างไหมครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ดูหนังสือแจ้งที่
      https://www.dropbox.com/s/6offmu9522x5rwv/selectfixT.pdf?dl=1

      ลบ

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย