วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

1.สรุป ให้ออกรหัส นศ.ที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรฯ ขึ้นต้นด้วย G ไม่ใช่เลข 0, 2.ผู้รับจ้างเหมาบริการ มีสิทธิ์ลาได้ไหม, 3.การออกหนังสือรับรองแทนใบ รบ.หลักสูตร 30, 4.คนตรวจเอกสารบอกว่า ใบรับรองแพทย์แบบนี้ใช้ไม่ได้, 5.จังหวัดให้แก้รหัสประจำตัว นศ.ต่างด้าว, 6.สงสัย ครู กศน. ต้องมี ชม. สอน กี่ ชม. ต่อสัปดาห์, 7.วิชาทยอยหมดอายุ ถ้าลาออก สมัครใหม่ที่เดิม โอนวิชาที่ยังไม่หมดอายุเพื่อเรียนต่อ ได้ไหม


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเรื่องการรับนักเรียนนักศึกษาที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ลงวันที่ 19 ม.ค.61
             ต่อมา กอง/กลุ่มงาน ส่วนกลาง กศน. 3 กอง คือ กป. กผ. และ ศกพ. ต่างก็ส่งเรื่องนี้มาให้จังหวัด แต่บางฉบับมีแนวปฏิบัติที่ไม่ค่อยเหมือนกัน ดังนี้

             - ฉบับแรก ออกโดย กป. ( หนังสือสำนักงาน กศน.ที่ ศธ 0210.04/ว710 ) ลงวันที่ 7 ก.พ.61  ฉบับนี้แค่ส่งประกาศ ศธ.นี้ มาให้ถือปฏิบัติ
             - ฉบับต่อมา ออกโดย กผ. ( หนังสือสำนักงาน กศน.ที่ ศธ 0210.04/ว1183 ) ลงวันที่ 28 ก.พ.61  แจ้งการรับเด็กเข้าเรียนให้เป็นไปตามประกาศ ศธ.นี้ โดยให้สถานศึกษากำหนดรหัสประจำตัว นศ.ที่ไม่หลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ทางเว็บไซต์ระบบกลางกำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียน ( รหัสขึ้นต้นด้วย G )
             - ฉบับที่สาม ออกโดย ศกพ. ( หนังสือสำนักงาน กศน. ด่วนมาก ที่ ศธ 0210.121/2350 ) ลงวันที่ 30 เม.ย.61  ส่งประกาศ ศธ.นี้ มาให้ถือปฏิบัติ แต่ระบุว่าการกำหนดรหัสประจำตัว สำนักงาน กศน.กำหนดเป็นเลข 0

             ( กผ.ให้กำหนดรหัสทางเว็บไซต์ ซึ่งขึ้นต้นด้วย G แต่ ศกพ.ให้กำหนดรหัสเป็นเลข 0 ตามโปรแกรมสำนักงาน กศน. )

             ปกติสถานศึกษาต้องปฏิบัติตามหนังสือแจ้งฉบับล่าสุด คือฉบับของ ศกพ. แต่ผมสงสัยว่า ประกาศ ศธ.ฉบับเดียวกัน ทำไมแนวปฏิบัติไม่เหมือนกัน จึงถามเรื่องนี้กับ ศกพ. ( อ.ฐิตาพร ) เมื่อวันที่ 15 พ.ค.
             อ.ฐิตาพร ได้ไปคุยกับ กผ. และบอกผมในวันที่ 16 พ.ค. โดยสรุปว่า ให้ดำเนินการกำหนดรหัสประจำตัวของ นศ.ที่ไม่มีหลักฐานทางทะบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ( ที่ยังไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก เพราะยังไม่ไปขึ้นทะเบียนและจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวกับหน่วยงานกระทรวงมหาดไทย ) ทางเว็บไซต์ระบบกลางกำหนดรหัส ขึ้นต้นด้วย G ไม่ใช่เลข 0

             ดูหนังสือแจ้งฉบับของ กผ. ได้ที่  https://www.dropbox.com/s/2mp4qr6r8f7lepv/NoThaiStudent.pdf?dl=
             ซึ่งหนังสือฉบับนี้ ส่งคู่มือการใช้งานระบบกำหนดรหัสมาด้วย ( แต่ตอนนี้ เว็บไซต์ระบบกำหนดรหัส นศ. เปลี่ยนเป็น  http://www.gcode.moe.go.th  แล้วนะ ขอให้แก้ในคู่มือด้วย )






         2. เช้าวันที่ 17 พ.ค.61 มี ผอ.กศน.อำเภอ ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ลูกจ้างเหมา ด้วยวิธีพัสดุ มีสิทธิ์ลาได้ไหม เช่น ครู ศรช ปวช ครูผู้สอนคนพิการ

             ผมตอบว่า   คำถามนี้มีผู้ถามซ้ำให้ผมตอบเป็นระยะ ๆ
             “ผู้รับจ้าง”เหมาบริการตามระเบียบพัสดุ ถือเป็นบุคคลภายนอกหรือเอกชน ไม่ใช่ลูกจ้าง ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่ลูกจ้างชั่วคราว จึงไม่มีระเบียบให้ลา  ( ผู้บริหารบางท่านยังบอกว่าเป็นลูกจ้างชั่วคราว ถ้าเป็นลูกจ้างชั่วคราวก็จะมีระเบียบการลาของลูกจ้างชั่วคราว แต่ผู้รับจ้างเหมาบริการไม่ใช่ลูกจ้างชั่วคราว  ที่ถูกต้องในใบสั่งจ้าง/สัญญาจ้างต้องใช้คำว่า ผู้จ้าง/ผู้รับจ้าง ไม่ใช่ นายจ้าง/ลูกจ้าง )
             เมื่อไม่มีระเบียบให้ลาโดยได้รับค่าตอบแทน ก็ต้องให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา
             เรื่องนี้ สำนักฯ กศน. เคยซ้อมความเข้าใจแล้ว ตามหนังสือสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0210.117/1150 ลงวันที่ 24 ก.พ.2548 เรื่องซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการเบิกค่าใช้จ่ายในการจ้างเอกชนดำเนินงานของส่วนราชการ
             ในหนังสือนี้ ระบุในข้อ 3. ว่า "กรณีไม่มาทำงานอาจหาผู้อื่นมาทำงานแทนหรือบอกกล่าวล่วงหน้าหากเกิดความเสียหายแก่ทางราชการเนื่องจากการไม่มาทำงานนั้นอาจกำหนดค่าปรับสำหรับความเสียหายดังกล่าวได้ รายละเอียดปรากฏตามหนังสือกรมบัญชีกลางที่จัดส่งมาพร้อมหนังสือฉบับนี้"
             เมื่อเปิดไปอ่านหนังสือกรมบัญชีกลางที่แนบมา ระบุในข้อ 3. ว่า
             "เนื่องจากการจ้างเอกชนดำเนินงานของส่วนราชการมุ่งผลสำเร็จของงานที่ว่าจ้าง ...ผู้ว่าจ้างมีเพียงอำนาจในการตรวจตรางานและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขเมื่องานผิดพลาดบกพร่อง ... ผู้รับจ้างไม่ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับอื่น ๆ เช่นการลาหยุด ... การลงลายมือชื่อในบัญชีลงเวลาปฏิบัติราชการ ... การปฏิบัติงานอาจใช้วิธีบันทึกเวลาการมาทำงานว่ามาทำงานตามที่ตกลงไว้ก็ได้ กรณีไม่มาทำงานอาจหาผู้อื่นมาทำงานแทนหรือบอกกล่าวล่วงหน้า หากเกิดความเสียหายแก่ทางราชการเนื่องจากการไม่มาทำงานนั้นอาจกำหนดค่าปรับสำหรับความเสียหายดังกล่าวได้ ..."
             ( ดูหนังสือนี้ ได้ในข้อ 3 ที่  http://www.gotoknow.org/blogs/posts/478002
               แต่ ในหนังสือ “สาระน่ารู้...คู่งานคลัง ปี 2551” ของกลุ่มงานคลัง กศน. บอกว่า กระทรวงการคลังได้นำข้อกำหนดในหนังสือนี้ ไปรวมไว้ในระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของส่วนราชการ พ.ศ.2549 ข้อ 11 แล้ว )

             สรุป คือ ให้เป็นไปตามที่ตกลง โดยสามารถกำหนดไว้ในข้อตกลงหรือสัญญาจ้างหรือเอกสารแนบท้ายสัญญา เช่นกำหนดว่าให้มาทำงานสัปดาห์ละกี่วัน
             ซึ่ง ตามแบบฟอร์มสัญญาจ้างของเรา กำหนดไว้ในผนวก 3 เรื่องการปรับ ( หักค่าจ้างเหมาจ่ายรายวัน ) กรณีไม่มาทำงาน  ดูแบบฟอร์มสัญญจ้างนี้ได้ที่  https://www.dropbox.com/s/0yevos15vb5ixx6/teacherJang.pdf?dl=1

             ในทางปฏิบัติ เรามักจะเห็นใจ คือถ้าหยุดเพียงไม่กี่วันโดยบอกกล่าวล่วงหน้า ผู้จ้างและคณะกรรมการตรวจรับการจ้างเห็นว่าเดือนนั้นมีผลงานตามปกติ ไม่มีอะไรผิดพลาดบกพร่องเสียหาย ก็อาจเซ็นตรวจรับการจ้างให้เบิกค่าตอบแทนเต็มโดยไม่ต้องมีคนทำงานแทนก็ได้ ถ้าหยุดหลายวันจึงให้หาผู้อื่นมาทำงานแทน
             กรณีหยุดตลอดทั้งเดือน เช่นคลอดบุตร ปกติต้องงดเบิกค่าจ้าง  ผู้บริหารบางท่านอาจให้เขาหาคนมาทำงานแทน โดยอนุโลมเป็นการภายใน ถ้าไม่มีคนร้องก็คงไม่เป็นไร
             ซึ่งการอนุโลมให้หยุดทั้งเดือนโดยได้รับค่าตอบแทน เป็นการภายในนี้ จริง ๆ แล้วไม่ถูกระเบียบ อาจมีปัญหาตามในข้อ 6 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/04/altc.html

         3. วันที่ 21 พ.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  นศ. มาขอคัดสำเนารบ. หลักสูตร 30 จบปี 39 เพื่อศึกษาต่อ งานทะเบียนตรวจค้นมีรายชืี่อจบจริง ไม่พบต้นฉบับ มีแต่ขั้วเลขที่รบ. ได้ออกหนังสือรับรองการจบแล้วแต่ทางวิทยาลัยไม่ยอม ทางกศน. ต้องทำอย่างไรคะ ขอคำแนะนำหน่อยคะ

             ผมถามว่า  ออกหนังสือรับรองการจบแบบไหนให้เขา
             ผู้ถามบอกว่า  ใช้แบบหนังสือรับรองทั่วไปตามโปรแกรม it คะ

             ผมตอบว่า  ดูในคำตอบเก่า ๆ นะ ให้ออกหนังสือรับรองตามแบบฟอร์มที่เคยตอบ  ( เคยลงไว้ทั้งแบบฟอร์มหนังสือรับรอง และหนังสือแจ้งเรื่องนี้ )  ควรสำเนาหนังสือแจ้งเรื่องนี้แนบหนังสือรับรองให้เขาไปด้วย ถ้าทางวิทยาลัยไม่ยอมอีกเราก็ทำอะไรอีกไม่ได้ นศ.เราก็คงศึกษาต่อวิทยาลัยนี้ไม่ได้
             ดูคำตอบเก่า ๆ เช่นใน
             - https://www.gotoknow.org/posts/442192
             - ข้อ 2 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/535023
             - ข้อ 4 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/472755

         4. ถาม : ได้ใบรับรองแพทย์แบบนี้มาค่ะ ( ตามภาพประกอบ ) แต่ คนตรวจเอกสารบอกว่าไม่ใช่ รพ ออก

            ตอบ
            1)  คำว่าสถานพยาบาลของรัฐ ไม่ได้แปลว่าโรงพยาบาลของรัฐอย่างเดียว แต่หมายความรวมถึง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ( รพสต.) และ “คลินิกในเครือข่ายประกันสังคมที่อยู่ในเครือข่ายโรงพยาบาลของรัฐ” ด้วย
            2)  ตามกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยโรค พ.ศ.2549 ไม่ได้กำหนดว่า แบบฟอร์มใบรับรองแพทย์ต้องออกแบบโดยใคร อย่างไร ประเด็นอยู่ที่ ต้องไม่ป่วย 5 โรค
                 แบบฟอร์มนี้รับรองไว้ทั้ง 5 โรค โดยระบุเรื่อง ไม่ติดสุราเรื้อรัง กับ ไม่ติดยาเสพติด ไว้ใน 3 บรรทัดก่อนขึ้นชื่อโรคที่ 1
                 ฉะนั้นจึงใช้ได้ เพราะระบุครบทั้ง 5 โรค
            ที่จริงแบบฟอร์มนี้แหละเป็นแบบที่ถูกต้อง โดยแพทยสภากำหนดให้เปลี่ยนมาใช้แบบนี้ตั้งแต่ปี 2551 แล้ว แต่สถานพยาบาลทั่วประเทศยังรู้กันไม่ทั่วถึง ( คงคล้ายกับ กศน.เรา มีระเบียบหลักเกณฑ์ออกมาใหม่ก็รู้กันไม่ทั่วถึง บางคนรู้แต่เห็นว่าไม่สำคัญ แบบฟอร์มเก่ายังเหลืออยู่ )






         5. วันที่ 24 พ.ค.61 มีครูชำนาญการพิเศษ นายทะเบียน กศน.อำเภอ โทร.มาถามผม ว่า จังหวัดให้แก้รหัสประจำตัว นศ.ที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ให้ขึ้นต้นด้วย G โดยออกรหัสทางเว็บไซต์ระบบกำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียน ทั้ง ๆ ที่ นศ.รายนี้ มีเลขประจำตัว 13 หลักซึ่งได้จากการขึ้นทะเบียนที่หน่วยงานมหาดไทยมาแล้ว
             ถามว่า ต้องแก้ให้ขึ้นต้นด้วย G ทุกคนหรือ

             ผมตอบว่า   ให้แก้รหัสประจำตัว นศ.เฉพาะที่เราออกรหัสประชาชนเองด้วยโปรแกรม ITw  ( โปรแกรม ITw รุ่นก่อน 9 เม.ย.61 จะมีปุ่มรูปไม้กายสิทธิ์ อยู่ข้างที่กรอกรหัสประจำตัวประชาชน เมื่อเรากดปุ่มนี้ โปรแกรมจะออกรหัสประจำตัวให้คนต่างด้าวที่ยังไม่มีเลขประจำตัวประชาชน ขึ้นต้นด้วย 0 ) แต่โปรแกรมรุ่น 9 เม.ย.61 จะไม่มีปุ่มนี้แล้ว ห้ามออกรหัสเองด้วยโปรแกรม ITw แบบนี้แล้ว ถ้าใครออกรหัสเองแบบนี้ไปแล้วต้องแก้ใหม่ โดยใช้รหัสใหม่ที่ออกทางเว็บไซต์ระบบกลางกำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ขึ้นต้นด้วย G
             แต่ถ้าคนต่างด้าวรายใดไปขึ้นทะเบียนได้รหัส 13 หลักมาจากหน่วยงานมหาดไทยเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องใช้รหัสของเขา
             ถ้าอ่านในประกาศ ศธ.ตามภาพประกอบโพสตฺนี้ เรื่องนี้ จะเข้าใจ คือ
             1)  หากมีเลขประจำตัว 13 หลัก ให้ดำเนินการตามขั้นตอนตามปกติของสถานศึกษา
                  หากไม่มี ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการกำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียนตามที่หน่วยงานต้นสังกัดกำหนด ( G ) ไปจนกว่า นศ.จะได้เลขประจำตัว 13 หลักตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
             2)  เมื่อขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา รหัส G แล้ว สถานศึกษาต้องประสานผู้เรียน/ผู้ปกครอง ให้เขาไปขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เขาพักอาศัยอยู่ในท้องที่ใด ก็ไปขึ้นทะเบียนที่ฝ่ายทะเบียนของหน่วยงานมหาดไทยท้องที่นั้น
             3)  ถ้า นศ.ไปขึ้นทะเบียน ได้รับรหัสประจำตัว 13 หลัก จากหน่วยงานมหาดไทยมาแจ้งเราก่อนเรียนจบ เราต้องแก้รหัสประจำตัว 13 หลักในทะเบียน ตามรหัสของมหาดไทย แทนรหัสที่ขึ้นต้นด้วย G





         6. ค่ำวันเสาร์ที่ 26 พ.ค.61 มีผู้ถามในกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า  สงสัยว่า... ครู กศน. ต้องมี ชม. สอน กี่ ชม. ต่อสัปดา

             ผมตอบว่า   มันมีหลายเกณฑ์ เช่นเกณฑ์สำหรับข้าราชการครู กศน., เกณฑ์สำหรับผู้ที่จะมีสิทธิขอหนังสืออนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ+เรียน ป.บัณฑิต ( อย่างน้อย 10 ชม.), เป็นต้น
             ส่วนเกณฑ์สำหรับครู กศน.ทั่วไป กำหนดเกณฑ์ด้วยจำนวน นศ. ไม่ได้กำหนดเกณฑ์จำนวน ชม.ต่อสัปดาห์
             แต่ เกณฑ์สำหรับ นักศึกษา กศ.ขั้นพื้นฐาน วิธีเรียนแบบพบกลุ่ม ต้องมาพบกลุ่มสัปดาห์ละ 6 ชม. ฉะนั้น ถ้าครูคนใดมี นศ.แบบพบกลุ่ม เพียงระดับเดียว กลุ่มเดียว ก็สอนสัปดาห์ละเพียง 6 ชม.ได้ ( ถ้าไม่ขอหนังสืออนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาฯ+เรียน ป.บัณฑิต, ไม่ทำวิทยฐานะ นะ )  ถ้าเขามี นศ. 2 กลุ่ม หรือ 2 ระดับ ก็ต้องเป็นสัปดาห์ 12 ชม., 3 ระดับ 18 ชม.

             ผู้ถาม ๆ ต่ออีกว่า กรต.อีก 3 ขม.?
             ผมตอบว่า  ที่รวม กรต.อีก 3 ชม. เป็น 9 ชม.นั้น คือสมัยท่านประเสริฐ บุญเรือง เป็น เลขาฯ ตอนนี้กลับไปเหลือ 6 ชม.แล้ว

         7. วันที่ 25 พ.ค.61 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  นศ.บางคน วิชาที่เรียนผ่านแล้ว ทยอยหมดอายุเป็นงูกินหาง ถ้าเขาใช้วิธีลาออก สมัครใหม่ที่เดิม แล้วโอนวิชาที่ยังไม่หมดอายุ เพื่อเรียนต่อ ทำแบบนี้ถูกหรือผิด  วิธีนี้บางคนบอกว่าทำไม่ได้ ห้ามโอนในสถานศึกษาเดียวกัน

             เรื่องนี้  ผมไม่เห็นมีระเบียบหลักเกณฑ์ห้าม  โปรแกรม ITw ก็ทำได้  แต่เพื่อความแน่ใจผมจึงถามเรื่องนี้กับ อ.กิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน.
             อ.กิตติพงษ์ บอกว่า  ไม่ได้ห้าม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย