วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

1.การจัด กศ.ขั้นพื้นฐาน ของ ครู กศน. ตอนที่ 1 กฎหมายครอบคลุม กศน. แต่คน กศน.ไม่ค่อยสนใจ, 2.ตอนที่ 2 ครู กศน.ไม่ต้องสอนเองจริงหรือ ?, 3.หลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมประชาชน ใหม่, 4.บัญชีลงเวลาทำงาน พิมพ์ชื่อตัวบรรจงไว้ล่วงหน้า ถูกหรือไม่, 5.ขอแนวทางการทำ กพช.สำหรับพระ, 6.เทียบวุฒิทางธรรม, 7.ผอ.ไม่ให้สอบแก้ตัวได้ไหม


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. ตอนที่ 1 :  กฎหมายครอบคลุม กศน. แต่คน กศน.ไม่ค่อยสนใจ

             ทำไมจะเป็นพนักงานราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ หรือสอบบรรจุเป็นบรรณารักษ์ ต้องมีวุฒิทางบรรณารักษศาสตร์หรือสารนิเทศศาสตร์ ?

             แต่ละคนมักจะคิดต่างกัน ตามความเข้าใจ/ความรู้สึก ในมุมมองของตัวเอง
             มีผู้บอกว่า
             “บางคนไม่ได้จบทางครู แต่เป็นครูได้ดีกว่าคนที่จบครูมา บางคนไม่จบทางบรรณารักษ์ แต่ทำหน้าที่บรรณารักษ์ได้ดีกว่าคนที่จบบรรณารักษ์มา บางคนบอกว่าทุกคนทำหน้าที่นางพยาบาลได้ ป้าเช็งบอกว่าน้ำหมักมหาบำบัดของแกรักษาได้ทุกโรค หยอดตาก็ได้ ไม่ควรกีดกันการเป็นหมอของแก”
             คนที่ไม่ได้จบทางครูมักจะคิดว่า ไม่จำเป็นต้องจบทางครูก็เป็นครูที่ดีได้ แต่คนที่จบทางครูก็คิดอีกอย่าง
             คนที่ไม่ได้จบทางแพทย์ก็คิดว่า คนที่ไม่เรียนหมอแต่รักษาคนได้ดีก็มี เช่น หมอแสงที่โด่งดัง หรือ ป้าเช็ง  แต่คนที่จบทางแพทย์ก็คิดอีกอย่าง
             จริงอยู่ มีคนที่ไม่ได้จบทางครูแต่เป็นครูที่เก่งกว่า ไม่ได้จบทางแพทย์แต่เป็นแพทย์ที่เก่งกว่า
             แต่ลักษณะนี้มีน้อย ถือเป็นข้อยกเว้นที่จะไม่นำมาอ้างอิง แม้จะมีตัวอย่าง ลักษณะเดียวกับที่เราไม่พูดว่าคนเรามีนิ้วมือ 11 นิ้ว ทั้ง ๆ ที่ เราสามารถหาตัวอย่างคนที่มีนิ้วมือ 11 นิ้วได้
             ถ้าจบอะไรก็ทำได้ดีพอ ๆ กันทุกอย่าง แล้วมหาวิทยาลัยเขาจะแยกสาขาวิชาเอกเพื่ออะไร ?
             แต่ละคนคิดต่างกัน มีมุมมองต่างกัน คนที่ถนัดวิทยาศาสตร์ก็เห็นประโยชน์ของวิทยาศาสตร์ แต่คนที่ไม่ถนัดวิทยาศาสตร์ก็บอกว่าวิทยาศาสตร์ไม่มีประโยชน์กับชาวบ้าน
             คนที่ไม่ถนัดคณิตศาสตร์ก็บอกว่าคณิตศาสตร์ไม่มีประโยชน์กับชาวบ้าน  ตอนที่ผมทำเอกสารเพื่อเลื่อนเป็นอาจารย์ 3 โดยทำผลงานวิชาการเรื่อง คู่มือการวัดผลและประเมินผลหมวดวิชาคณิตศาสตร์ ที่หน้าปกเอกสารของผมมีประโยคว่า “คณิตศาสตร์เป็นสิ่งที่อยู่กับธรรมชาติและชีวิตประจำวัน” 
             คนที่มีความคิดต่างขั้วกัน ยากที่จะยอมรับเหตุผลกันได้

             ผู้ประกอบวิชาชีพหลายสาขาอาชีพ ต้องมีคุณสมบัติ มีทักษะเฉพาะ ต้องผ่านการฝึกฝนเรียนรู้ถึงจะเข้าใจดี
             จึงมีการตรวจสอบก่อนออกใบอนุญาต เช่น
             • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ออกโดย แพทยสภา
             • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ( ครู ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ) ออกโดย คุรุสภา
             • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความ ออกโดย สภาทนายความ
             • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ออกโดย สภาวิศวกร
             • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม ออกโดย สภาสถาปนิก
             • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพบัญชี ออกโดยสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์
             • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรม ออกโดย ทันตแพทยสภา
             • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ออกโดย สัตวแพทยสภา
             • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ออกโดย สภาเภสัชกรรม
             • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ออกโดย สภาการพยาบาล
             • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ออกโดย สภาเทคนิคการแพทย์
             • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด ออกโดยสภากายภาพบำบัด
             • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม ออกโดย สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

             การศึกษาขั้นพื้นที่ ที่ได้ “วุฒิการศึกษา” เป็นการศึกษาในระดับสำคัญที่จะช่วยให้บุคคลมีความพร้อมในด้านต่าง ๆ รวมทั้งพร้อมที่จะศึกษาเรียนรู้ต่อเนื่องด้วยตนเองได้
             ( ส่วนการศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้น ผู้เรียนสามารถศึกษาด้วยตนเองได้ เพราะผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานแล้ว การเรียนในมหาวิทยาลัยจึงเริ่มต้นชั่วโมงแรกด้วยการแจ้งหนังสืออ้างอิง/แหล่งศึกษาค้นคว้า เพื่อการศึกษาเรียนรู้ในวิชานั้น ๆ ด้วยตนเอง
             แต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน ยากที่จะศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะผู้เรียนยังไม่พร้อม โดยเฉพาะระดับประถม แม้แต่สถาบันการศึกษาทางไกลของ กศน.ก็ไม่เปิดรับระดับประถม เพราะยังอ่านเขียนไม่คล่อง ยากที่จะเรียนโดยวิธีเรียนทางไกล  แม้แต่การเรียนแบบโฮมสคูลก็ไม่ไช่เรียนด้วยตนเอง )

             ครูที่จะสอน กศ.ขั้นพื้นฐาน ต้องมีมาตมาตรฐานความรู้ของผู้ประกอบวิชาชีพครู 11 ข้อ คือ
             1)  ความเป็นครู
             2)  ปรัชญาการศึกษา
             3)  ภาษาและวัฒนธรรม
             4)  จิตวิทยาสำหรับครู
             5)  หลักสูตร
             6)  การจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน
             7)  การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้
             8)  นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา
             9)  การวัดผลและการประเมินผลการเรียนรู้
             10)  การประกันคุณภาพการศึกษา
             11)  คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ 
             แต่ครูที่สอน กศ.ต่อเนื่อง และ กศ.ตามอัธยาศัย ไม่ต้องมีความรู้ครบทั้ง 11 ข้อนี้  คุรุสภากำหนดเฉพาะครูที่สอน กศ.ขั้นพื้นฐานเท่านั้นที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
             ผู้สอน กศ.ต่อเนื่อง ไม่จำเป็นต้องเป็นครู แต่เป็นผู้รู้/ภูมิปัญญา เป็นข้าราชการพลเรือน เป็นพัฒนาชุมชน ฯลฯ ก็ได้
             ถ้า กศน.เลิกจัด กศ.ขั้นพื้นฐานเมื่อใด หรือ กศ.ขั้นพื้นฐานของ กศน.ไม่มีศักดิ์และสิทธิเท่าในระบบเมื่อใด  หน่วยงานภายนอก เช่น สมศ.ก็จะไม่มาประเมินคุณภาพ กศน., บุคลากร กศน.ก็จะไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งก็จะไม่มีสิทธิสมัครสอบเป็นข้าราชการครู ตำแหน่งอาจจะเปลี่ยนเป็น วิทยากร/พัฒนาชุมชน/ข้าราชการพลเรือน ที่ไม่มีวิทยฐานะ
             ( หลายตำแหน่ง เช่น ข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ แพทย์ ผู้ตรวจสอบบัญชี วิศวกร สถาปนิก ทนายความ พยาบาล ไม่เปิดโอกาสให้ผู้จบเอกอื่นพัฒนาเข้าสู่ต่ำแหน่งด้วยวิธีอื่นเลย นอกจากเรียนในมหาวิทยาลัยโดยตรง ไม่ต่ำกว่า 4-6 ปี  แต่ตำแหน่งครูเปิดโอกาสให้ผู้จบเอกอื่นมาเข้าสู่ตำแหน่งด้วยการเรียน ป.บัณฑิต ได้ )
             ครูสอนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ผู้เรียนได้วุฒิ ประถม ม.ต้น ม.ปลาย ระดับต่ำกว่าปริญญา ไม่ว่าจะในสถานศึกษารัฐบาลหรือเอกชน ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เพราะเป็นระดับที่สำคัญ ต้องพัฒนาให้ผู้เรียนมีความพร้อมในทุกด้านเนื่องจากยังสามารถเปลี่ยนเส้นทางดำเนินชีวิต จึงต้องพร้อมสำหรับการศึกษาเรียนรู้ต่อเนื่องด้วยตนเองเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข
             ( อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เพราะผู้เรียนผ่าน กศ.ขั้น “พื้นฐาน” แล้ว มีความพร้อมที่จะศึกษาวิเคราะห์ค้นคว้าด้วยตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว )

             การศึกษาทั้ง 3 ประเภท คือ กศ.ขั้นพื้นฐาน กศ.ต่อเนื่อง กศ.ตามอัธยาศัย  มีความแตกต่างกัน
             เมื่อรวม 3 ประเภทนี้ จะมีทางเลือกมากพอสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม
             โดยเฉพาะการศึกษาต่อเนื่องกับการศึกษาตามอัธยาศัย สามารถพัฒนาหลักสูตร หรือเนื้อหา ที่สอดคล้องกับสภาพความต้องการและปัญหาของประชาชนได้มากมาย ไม่จำกัด
             แต่หลักสูตร กศ.ขั้นพื้นฐาน มีลักษณะเฉพาะที่มีความจำกัดอยู่บ้าง เพราะเป็น กศ.ขั้น “พื้นฐาน” สำหรับ การดำเนินชีวิต+ประกอบสัมมาอาชีพ+ศึกษาเรียนรู้ต่อเนื่อง ซึ่งจะได้วุฒิการศึกษาตาม “จุดหมาย” ของหลักสูตรแต่ละระดับ
             บางคนเข้าใจผิด คิดว่า กศ.ขั้นพื้นฐานในระบบเน้นการศึกษาต่อ แต่ กศ.ขั้นพื้นฐาน กศน.เน้นการดำเนินชีวิต
             ที่ถูกต้อง กศ.ขั้นพื้นฐานในระบบเขาก็เน้นทั้งเพื่อการดำเนินชีวิต+ประกอบสัมมาอาชีพ+ศึกษาเรียนรู้ต่อเนื่อง ด้วย จะได้มีทางเลือกในเส้นทางชีวิตที่เปลี่ยนแปลงได้
             กศ.ขั้น “พื้นฐาน” ต้องสร้างความพร้อมไว้ทุกด้าน
             และแต่ละวิชาไม่ได้มีประโยชน์เพียงด้านเดียว ไม่ใช่ว่าวิชาคณิตศาสตร์/วิทยาศาสตร์ไม่มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตหรือต่อการประกอบอาชีพ
             กศ.ขั้นพื้นฐานทุกสังกัดจึงต้องใกล้เคียงกัน มีศักดิ์และสิทธิเท่ากัน
             ต้องมีวิชาบังคับเป็นแกนหลักให้มีความใกล้เคียงกัน มีศักดิ์และสิทธิเท่ากันเพราะมีวิชาบังคับเป็นแกนให้เท่ากัน
             วิชาบังคับนี้ เลือกไม่ได้ บางคนอาจจะไม่ชอบไม่อยากเรียน แต่เลือกได้เฉพาะวิชาเลือกเสรี
             ที่เลือกได้อีกอย่างคือ เลือกที่จะไม่เรียน กศ.ขั้นพื้นฐาน
             เพราะ กศ.ต่อเนื่อง กศ.ตามอัธยาศัย มีวิชาให้เลือกมากมายไม่จำกัดอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเรียน กศ.ขั้นพื้นฐาน
             บางคนบอกว่า ไม่ต้องการเรียนวิชาบังคับ แต่ต้องการเพียงวุฒิการศึกษาเพื่อจะเป็นนายก อบต. เท่านั้น ไม่ต้องการศึกษาต่อเกินระดับ ม.ปลาย
             ต้องเข้าใจว่า ไม่ว่าการเรียนต่อ หรือการทำงาน ที่เขากำหนดวุฒิการศึกษาขั้นต่ำ เขาไม่ได้กำหนดว่า ขอเพียงมีใบวุฒิ จะได้ใบวุฒิมาอย่างไรก็ได้ แต่ เขาต้องการให้มี “ความรู้ความสามารถและคุณธรรม” ตาม “จุดหมาย” ของหลักสูตรระดับนั้น ๆ จึงต้องเรียนตามที่กำหนด
             สถานศึกษาทุกสังกัด มีหน้าที่พัฒนาผู้เรียนให้บรรลุจุดหมายของหลักสูตร ไม่ใช่ปล่อยตามความสามารถของผู้เรียนแต่ละคนอย่างเดียว ต้องช่วยให้เขาเรียนจบในเวลาอันสมควร
             ก่อนจบก็ต้องบรรลุตามจุดหมายของหลักสูตร
             จุดหมาย ของหลักสูตร กศน.ขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 มี 7 ข้อ คือ
             1. มีคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข
             2. มีความรู้พื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
             3. มีความสามารถในการประกอบสัมมาอาชีพ ให้สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัด และ ตามทันความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง
             4. มีทักษะการดำเนินชีวิตที่ดี สามารถจัดการกับชีวิต-ชุมชน-สังคม ได้อย่างมีความสุขตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
             5. มีความเข้าใจประวัติศาสตร์ชาติไทย ภูมิใจในความเป็นไทย โดยเฉพาะภาษา-ศิลปวัฒนธรรม-ประเพณี-กีฬา-ภูมิปัญญาไทย เป็นพลเมืองดี ปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนา ยึดมั่นในวิถีชีวิตและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
             6. มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
             7. เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ มีทักษะในการแสวงหาความรู้ สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และบูรณาการความรู้มาใช้ในการ พัฒนาตนเอง-ครอบครัว-ชุมชน-สังคม-ประเทศชาติ )

             ด้วยเหตุต่าง ๆ นี้ กฎหมายจึงกำหนดให้ครูผู้สอน กศ.ขั้นพื้นฐาน ต้องมีใบอนุญาตฯ หรือมีหนังสืออนุญาตชั่วคราว โดย พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ได้กำหนดความผิดและบทลงโทษผู้สอนและสถานศึกษา ที่สอนโดยไม่มีใบอนุญาต ไว้ดังนี้
             1)  ความผิดของผูัสอน
                  1.1)  มาตรา 43+78 ผู้สอนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต :  จำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                  1.2)  มาตรา 46+79 ผู้แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนมีสิทธิสอนโดยไม่มีใบอนุญาต :  จำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                  1.3)  มาตรา 56+79 ผู้สอนทั้ง ๆ ที่ถูกสั่งพักหรือถอนใบอนุญาต :  จำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             2)  ความผิดของสถานศึกษา ( ผอ.)
                  มาตรา 46+79 รับผู้ไม่มีใบอนุญาตเข้าสอน โดยไม่ขอหนังสืออนุญาตชั่วคราว :  จำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             ดาวน์โหลด พรบ.นี้ได้ที่  https://www.dropbox.com/s/rjx58a2bsz25qas/PRBteacher.PDF?dl=1  
             กฎหมายนี้ครอบคลุม กศ.ขั้นพื้นฐาน กศน.ด้วย แต่คน กศน.ไม่ค่อยสนใจ เพราะถ้าไม่มีการร้องเรียนไปถึงคุรุสภาก็ไม่มีอะไร
             ขอเสนอให้ กศน.ให้ความสำคัญในกฎหมายนี้ เพื่อคุณภาพ กศน. โดยถ้าครู กศน.รายใด ไม่มีใบอนุญาตฯหรือหนังสืออนุญาตชั่วคราว ก็ไม่ให้เป็นครู กศ.ขั้นพื้นฐาน

             ข้อสอบบรรจุครูผู้ช่วย ภาค ก.
             Q. สอน กศ.ขั้นพื้นฐานโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และไม่มีหนังสืออนุญาตชั่วคราว มีโทษอย่างไร
                 ก.  จำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท
                 ข.  จำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท
                 ค.  จำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                 ง.  จำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         2. การจัด กศ.ขั้นพื้นฐาน ของ ครู กศน. ตอนที่ 2 : ครู กศน.ไม่ต้องสอนเองจริงหรือ ?

             ครู กศน.จำนวนไม่น้อยที่สอนไม่เป็น จึงถือโอกาสยึดคำที่มีผู้กล่าวว่า “การเรียน กศน.เน้นการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง” เป็น สรณะ
            ที่ว่า การเรียน กศน.เน้นการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ได้แปลว่าครูไม่ได้สอน แต่เพราะ แม้ว่านักศึกษาจะเรียนภาคเรียนละเป็นสิบวิชา เนื้อหามากมาย แต่ นักศึกษาก็มาพบกลุ่ม ( นศ.มาเรียน ครูสอน ) เพียงสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง เท่านั้นเอง
            ( ท่านอดีต ผอ.สำนักงาน กศน. นายประเสริฐ บุญเรือง เคยเน้นย้ำ ไม่อยากให้ใช้คำว่า “พบกลุ่ม” เพราะทำให้คนเข้าใจผิด คิดว่าการพบกลุ่มไม่ใช่การเรียนการสอน )
            ครู กศน. ไม่ต้องสอนเองได้ไหม ?
            คำว่า “สอน” เป็นคำเก่า ปัจจุบันคำนี้ทำให้นึกถึงการสอนแบบบรรยาย จึงเปลี่ยนมาใช้คำที่ดูดี คือคำว่า “จัดกิจกรรมการเรียนรู้” แต่ยาวไปหน่อยไม่สะดวกปาก บางครั้งจึงใช้ว่า “จัดการเรียนรู้” แต่ส่วนมากก็ยังใช้คำว่า สอน เพราะสั้น พูดง่ายดี ที่จริงก็หมายถึงอย่างเดียวกันได้
            โรงเรียนในระบบ เขาก็ใช้คำว่า จัดกิจกรรมการเรียนรู้ หรือจัดการเรียนรู้ ในเอกสารที่เป็นทางการเหมือนกันนะ ไม่ใช่อย่างที่บางคนบอกว่าครูในระบบสอน ครู กศน.จัดการเรียนรู้
            ตำแหน่งครูในสถานศึกษาต้องสอน เพราะมีสาเหตุมาจาก 3 แหล่งคือ
            1)  บทบาทหน้าที่ ที่กำหนดตามมาตรฐานตำแหน่ง
            2)  บทบาทหน้าที่รับผิดชอบ ที่กำหนดโดยต้นสังกัด
            3)  ความต้องการเพิ่มทางเลือก เพื่อความก้าวหน้าในอนาคตของครูเอง

            ขออฺธิบายแต่ละข้อดังนี้
            1)  บทบาทหน้าที่ ที่กำหนดตามมาตรฐานตำแหน่ง
                 1.1  ถ้าเป็นพนักงานราชการ จะกำหนดบทบาทหน้าที่แต่ละตำแหน่งไว้กับ ก.พ.ร. โดยถ้าเป็นตำแหน่งครูต่าง ๆ ก็จะมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบผู้เรียน/นักศึกษา ในลักษณะครูประจำกลุ่ม คล้ายครูประจำชั้น คือ
                       - ตำแหน่งครูอาสาสมัครฯ จะมีบทบาทหน้าที่ในการสอนผู้ไม่รู้หนังสือ ซึ่งต้องสอนเองปีละ 2 รุ่น ๆ ละ 35 คน ( กรณีไม่มีผู้ไม่รู้หนังสือ ให้รับผิดชอบ กศ.ขั้นพื้นฐานระดับประถม หรืออาจจะเป็น ม.ต้น-ปลาย แทน )
                       - ตำแหน่งครู กศน.ตำบล จะมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบกลุ่ม นศ. กศ.ขั้นพื้นฐาน
                 1.2  ครูที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ/พนักงานราชการ เช่น ครู ศรช. เคยกำหนดบทบาทหน้าที่ไว้กับกรมบัญชีกลาง ซึ่งต้องรับผิดชอบกลุ่ม นศ. กศ.ขั้นพื้นฐาน
                 บทบาทหน้าที่ ที่กำหนดไว้กับ ก.พ.ร. ถ้าเราจะขอเปลี่ยนแปลงเป็นไม่ต้องรับผิดชอบ นศ.
                 ก.พ.ร.ก็อาจมองว่าโครงการของตำแหน่งนี้สิ้นสุดลงแล้ว ( การจ้างพนักงานราชการให้จ้างตามโครงการ ไม่ใช่จ้างตลอดไป )
                 โดย ก.พ.ร.อาจให้ยุบโครงการ เลิกจ้างตำแหน่งนั้นเลย ซึ่ง ก.พ.ร.เคยทำกับพนักงานราชการบางตำแหน่งของกระทรวงวัฒนธรรมและกรมป่าไม้มาแล้ว
            จึงเปลี่ยนบทบาทตำแหน่งครูให้ไม่ต้องสอน ไม่ได้
            จะเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ได้ ก็โดยการเปลี่ยนตำแหน่งไปเลย
            แต่การเปลี่ยนตำแหน่งพนักงานราชการ เปลี่ยนได้เฉพาะตำแหน่งว่าง เช่นเมื่อมีตำแหน่งครูอาสาฯว่างลง ( เสียชีวิต อายุครบ 60 ปี ลาออก เลิกจ้าง ) ก็เปลี่ยนตำแหน่งนั้นเป็นตำแหน่งอื่นที่ไม่ต้องรับผิดชอบ นศ. เช่นตำแหน่งบรรณารักษ์ นักวิชาการศึกษา นักจัดการงานทั่วไป
            ( บางจังหวัดขอเปลี่ยนตำแหน่งครูอาสาฯที่ว่างเพื่อบรรจุตำแหน่งอื่นแล้ว แต่บางจังหวัดเมื่อตำแหน่งครูอาสาฯว่างลงก็ยังบรรจุคนใหม่ในตำแหน่งครูอาสาฯเหมือนเดิม แล้วก็ถามว่าครูอาสาไม่ต้องรับผิดชอบกลุ่มผู้เรียนได้ไหม.. ?! )

            2)  บทบาทหน้าที่รับผิดชอบ ที่กำหนดโดยต้นสังกัด
                 มีการกำหนดไว้ เช่น ครู กศน.ตำบล ให้รับผิดชอบ 1 กลุ่ม ๆ ละไม่เกิน 40 คน ถ้าจะรับผิดชอบเกิน 1 กลุ่ม ให้ขอความเห็นชอบ ผอ.สนง.กศน.จังหวัด, ครู ศรช.รับผิดชอบกลุ่มละไม่เกิน 40 คน โดยรับผิดชอบได้หลายกลุ่ม เป็นต้น

            3)  ความต้องการเพิ่มทางเลือก เพื่อความก้าวหน้าในอนาคตของครูเอง
                 ครูบางคนต้องการมีทางเลือกในอนาคต ให้สามารถสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูได้ ก็ต้องเรียน ป.บัณฑิตเพื่อให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยการจะมีสิทธิสมัครเรียน ป.บัณฑิต ก็ต้องมี “หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ” ซึ่งการขอหนังสือนี้ต่อคุรุสภา ต้องแนบตารางสอนที่มีชั่วโมงสอนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 10 ชั่วโมง
                 ซึ่งชัดเจนว่า ครูจะต้อง “สอนตามแผนการสอนของตนเองอย่างน้อยสัปดาห์ละ 10 ชั่วโมง”
                 ( ในระหว่างการเรียน ป.บัณฑิตวิชาชีพครู ตามข้อ 3) นี้ จะมีการปฏิบัติการสอนจริงในสถานศึกษา โดยจะมีอาจารย์มานิเทศการสอนตามตารางสอนและแผนการสอน
                 ซึ่งเราเรียกร้องให้สามารถปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา กศน.เราได้
                 คุรุสภาให้ความสำคัญกับการนิเทศการสอนมาก โดยกำหนดโควตาให้มหาวิทยาลัยรับผู้เรียน ป.บัณฑิตได้ตามจำนวนอาจารย์นิเทศ คือถ้ามหาวิทยาลัยไหนมีอาจารย์นิเทศ 1 คน ก็ให้รับผู้เรียน ป.บัณฑิตได้ครั้งละ 10 คน ถ้ามีอาจารย์นิเทศ 10 คน ก็รับได้ครั้งละ 100 คน
                 เมื่ออาจารย์มานิเทศการสอนที่ กศน.แล้วไม่พบการสอนตามตารางสอน เราก็ว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่รู้เรื่อง/ไม่เข้าใจว่า ครู กศน.ไม่ต้องสอน !?.. ขัดกันไป ขัดกันมา... เราจะเลือกเฉพาะส่วนที่ถูกใจเรา )

            แม้ครูไม่ต้องการข้อ 3) นี้ เช่นบางคนมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแล้ว บางคนไม่คิดจะสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูในอนาคตอย่างแน่นอน
            แต่เฉพาะข้อ 1) กับข้อ 2) ครูก็ต้องสอน โดยถ้าครูรับผิดชอบ นศ.กลุ่มเดียว ก็สอนตามแผนการสอนของตนเพียงสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง และถ้าเป็นครูอาสาฯที่สอนผู้ไม่รู้หนังสือครบตามเกณฑ์ ก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ นศ.กศ.ขั้นพื้นฐานเลย ( การสอนผู้ไม่รู้หนังสือ ไม่จำเป็นต้องทำแผนการสอน )
            จะไม่ต้องสอนได้เฉพาะ ถ้าครูคนใด มีแต่ นศ.ที่เรียนโดยวิธีเรียน “ทางไกล” อย่างเดียว และครูคนนั้นไม่ต้องการข้อ 3) ครูคนนั้นก็ไม่ต้องสอน ไม่ต้องทำแผนการสอนรายครั้งรายสัปดาห์ ทำเฉพาะแผนรายภาค

            ในส่วนของการสอน นั้น ถ้าครู กศน.ใช้วิธี เชิญผู้รู้/ภูมิปัญญา มาให้ความรู้ หรือจัดให้มีการสอนเสริม จะถือว่าครูสอนตามบทบาทหน้าที่แล้วหรือไม่ ?
            - ถ้าในแผนการสอนนั้นระบุว่ามีการเชิญผู้รู้/ภูมิปัญญามาให้ความรู้ โดยครูดำเนินการเฉพาะในขั้นต้นกับขั้นปลายของวิธีสอน เช่น ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน กับขั้นสรุปวัดผลประเมินผล ส่วนขั้นกลาง ๆ ครูนั่งดูผู้รู้/ภูมิปัญญา เฉย ๆ ก็ยังถือว่าเป็นการสอนของครู ถ้าอยู่ในแผนการสอน
            - แต่ถ้าสถานศึกษาเป็นผู้เชิญอาจารย์ภายนอกมาสอนเสริม โดยเบิกจ่ายค่าสอนเสริมเป็นชั่วโมง และไม่ปรากฏอยู่ในแผนการสอนของครู กรณีนี้จะไม่ถือว่าเป็นการสอนของครูตามบทบาทหน้าที่ข้อ 1) และ 2) ซึ่งปกติการจัดสอนเสริมกรณีนี้ให้จัดแยกต่างหากนอกเวลาพบกลุ่ม

            สรุป ตำแหน่งครูในสถานศึกษา ถ้าไม่ได้มีเฉพาะ นศ.ที่เรียนวิธีเรียนแบบทางไกล ต้องจัดกิจกรรมการเรียนรู้ คือต้องสอน ( การสอน กศ.ขั้นพื้นฐานต้องทำแผนการสอน การสอนผู้ไม่รู้หนังสือไม่จำเป็นต้องทำแผนการสอน )
            แต่การจัดการเรียนรู้หรือสอนไม่ได้แปลว่าสอนแบบบรรยายเท่านั้น
            วิธีสอนมีหลากหลายวิธี เช่น วิธีสอนแบบ ONIE ของ กศน. ( การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนสู่ความเป็นคนคิดเป็น), วิธีสอนแบบโครงงาน ฯลฯ

         3. หลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายการจัดฝึกอบรมประชาชนของสถานศึกษา กศน. ฉบับใหม่ 26 เม.ย.61 ( ยกเลิกฉบับ 15 มี.ค.59 )

            มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้
            1)  ระยะเวลา / กลุ่มเป้าหมาย
                 - เดิม ระยะเวลา 1-3 วัน เปลี่ยนเป็น ระยะเวลาตามความเหมาะสม
                 - เดิม กลุ่มเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 15 คน เปลี่ยนเป็น ไม่ต่ำกว่า 10 คน
            2)  ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม
                 เพิ่มคำว่า “ให้ใช้ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมการจัดงานและการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ.2549 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 (9) ข้อ 14 และ ข้อ 15 โดยมีข้อกำหนดเพิ่มเติม ดังนี้”
                 - ค่าอาหาร ใช้คำว่า ค่าอาหาร “กลางวัน” ไม่เกินมื้อละ 120 บาท/คน ( เดิมใช้คำว่าค่าอาหารเฉย ๆ ไม่เกินมื้อละ 70 บาท/คน คงหมายความว่า ไม่ให้เบิกจ่ายค่าอาหารเช้า อาหารเย็น )
                 - ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม ไม่เกินมื้อละ 35 บาท/คน ( เดิมไม่เกินมื้อละ 25 บาท/คน )
                 - เดิมใช้คำว่า “ค่าจ้างเหมา”ยานพาหนะในการศึกษาดูงาน ตามที่ผู้ให้บริการเรียกเก็บโดยประหยัด”
                    เปลี่ยนเป็น “ค่าเช่า”ยานพาหนะ ตามที่สถานบริการเรียกเก็บโดยประหยัด ( คำว่า “สถานบริการ” คงจะพิมพ์ผิด )
                 - ค่าตอบแทนวิทยากร ไม่เกินชั่วโมงละ 400 บาท ( เดิมไม่เกินชั่วโมงละ 200 บาท )
                 - ค่าเช่าสถานที่อบรม ตัดคำว่า “ทั้งนี้ให้พิจารณาสถานที่ที่ไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเป็นอันดับแรก” ออก
                 - บรรทัดสุดท้าย “ให้เบิกจ่ายเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเหมาะสมและประหยัดภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร” เพิ่มต่อท้ายอีกว่า “และตามเป้าหมายที่ได้รับการจัดสรรด้วย”
                    คงหมายความว่า ค่าใช้จ่ายแต่ละรายการลดลงได้เพราะใช้คำว่า “ไม่เกิน” แต่จะลดจำนวนคนกลุ่มเป้าหมายให้ต่ำกว่าที่กำหนดไม่ได้
            หลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายการจัดฝึกอบรมประชาชนของสถานศึกษา กศน. ฉบับใหม่ 26 เม.ย.61 ( ยกเลิกฉบับ 15 มี.ค.59 )ดูหนังสือแจ้งที่  https://www.dropbox.com/s/oa7c5itybg2mshx/train61.pdf?dl=1 

         4. มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  การลงชื่อมาปฏิบัติงานประจำวัน โดยที่ในช่องชื่อ-สกุลตัวบรรจง พิมพ์ชื่อบุคลากรไว้ให้เลย ( ชื่อผู้บริหารอยู่อันดับที่ 1 ) นั้น มีระเบียบให้ปฏิบัติแบบนี้หรือไม่ เพราะบางวันก็ไปราชการ และโกงเวลาได้   ถ้าให้ลงชื่อตัวบรรจงกันเองด้วย คนที่มาลงชื่อในบรรทัดถัดไปจะต้องไม่เขียน เวลาที่มาถึง ก่อนคนที่อยู่บรรทัดบน

             เรื่องนี้  ดูจากเอกสารในภาพประกอบ เกี่ยวข้องเทียบเคียงถึง บัญชีลงเวลาปฏิบัติงานประจำวัน ได้ว่า การพิมพ์ชื่อ-สกุล ตัวบรรจง ไว้ล่วงหน้า ไม่ได้ลงชื่อเรียงตามลำดับเวลาของการมาเริ่มปฏิบัติราชการ นี้ ไม่ถูกต้อง ไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์รองรับ






         5. วันที่ 26 เม.ย.61 มีผู้ถามในไลน์กลุ่ม ITw NFE ว่า  สอบถามแนวทางการทำ กพช.ระดับ ม.ปลาย สำหรับพระภิกษุสงฆ์ มีแนวทางอย่างไรได้บ้างค่ะ เพราะท่านไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมกับฆราวาสได้ค่ะ

             ผมตอบว่า  จริง ๆ แล้ว นศ.ไม่จำเป็นต้องทำ กพช.ตามที่สถานศึกษาเป็นผู้กำหนด/เป็นผู้คิดให้ทำเป็นกลุ่ม  ( ที่ถูกต้องตามหลักการคือ นักศึกษาเป็นผู้เสนอโครงการ กพช.โดยมีครูเป็นที่ปรึกษา  การกำหนดโครงการ กพช.โดยสถานศึกษานั้นผิดหลักการ )
             ทำ กพช.ช่วงปิดเทอมก็ได้ ทำ กพช.เทอมเดียว 200 ชม. ก็ได้
             นศ.สามารถคิดเสนอทำโครงการ กพช.คนเดียวก็ได้ เช่นโครงการจิตอาสาช่วยพัฒนาห้องสมุด ( มาเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ทุกวัน ได้ กพช.วันละ 7 ชม.) เป็นต้น
             การทำบัญชีรายรับรายจ่าย ถ้าเมื่อสิ้นเดือนมีการสรุปวิเคราะห์รายรับรายจ่ายว่าควรลดรายจ่ายเพิ่มรายได้อย่างไร ก็ให้เป็น กพช.ได้ ถ้าใช้เวลาทำบัญชีวันละ 1.5 ชม. ก็ให้ กพช.วันละ 1.5 ชม.
             พระก็ทำบัญชีวัดได้
             การปลูกต้นไม้-ไม้ดอกไม้ประดับ ในที่สาธารณะ ในวัด ก็เป็น กพช.ได้
             การดูแลที่อ่านหนังสือ-บ้านหนังสือชุมชน-ห้องสมุด ก็เป็น กพช.ได้
             ลองอ่านกรอบการทำ กพช.ให้จบ จะเกิดแนวคิดการทำ กพช.ของพระได้
             ดูกรอบ กพช.ที่  https://www.dropbox.com/s/hzestdvs908yg0m/QualityOfLife.pdf?dl=1  

         6. วันอาทิตย์ที่ 6 พ.ค.61 มีผู้ถามในกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า  เปรียญธรรม 3 ประโยค ( ตามภาพประกอบ ) เทียบวุฒิพื้นฐานได้ไหม ระดับใด

             ผมตอบว่า   ใน "คู่มือการดำเนินงานหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราชการ 2551" ก็มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เทียบวุฒิให้เปรียญธรรม 3 ประโยคเทียบเท่า ม.ต้น
             รวมทั้งในเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัคร ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็ระบุไว้แล้วว่าต้องสอบได้ ... หรือ ม.3 หรือ ... หรือ เปรียญธรรม 3 ประโยค
             ( ถ้าเป็นคู่มือฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2555 ปกสีเลือดหมู จะอยู่ในหน้า 64 กับ 123 )

             ดูข้อมูลต่าง ๆ เรื่อง เทียบวุฒิทางธรรม ได้ในข้อ 5 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2015/07/mba.html






         7. วันที่ 7 พ.ค.61 มีผู้ถามผมในกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า  ผอ.มีอำนาจไม่ให้สอบแก้ตัวได้รึเปล่าในกรณีนักศึกษาสอบไม่ผ่านวิชาบัวคับ คะแนนสอบปลายภาคไม่ถึง12 คะแนน ผอ.ให้ลงทะเบียนเรียนใหม่ในเทอมถัดไปแม้ว่านักศึกษาจะจบในภาคเรียนนี้ก็ตาม ผอ.ไม่มีนโยบายสอบแก้ตัว

             ผมตอบว่า   การสอบซ่อม ( ประเมินซ่อม ) วิชาบังคับ ที่มีผู้ไม่ผ่านตั้งแต่ 2 อำเภอขึ้นไป ต้องใช้วิธีเดียวกันทั้งจังหวัด ถ้าใช้วิธีสอบซ่อมก็ใช้ข้อสอบเดียวกันทั้งจังหวัด จังหวัดนี้ไม่มีการดำเนินการสอบซ่อมหรือไง ให้แต่ละอำเภอดำเนินการเองทั้งหมดหรือไง
             ใน “คู่มือการดำเนินงานหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2555)” ปกสีเลือดหมู ที่ส่งให้ กศน.อำเภอทุกแห่ง เมื่อต้นเดือน ธ.ค.55  หน้า 37 ข้อ 1.4 กำหนดว่า
             สถานศึกษา "ต้อง" จัดให้ผู้เรียนที่ไม่ผ่านการประเมินรายวิชา เข้ารับการประเมินซ่อม

             เมื่อใช้คำว่า "ต้อง" จึงไม่สามารถจะมีนโยบายไม่ให้ประเมินซ่อม
             อ่านเรื่องการสอบซ่อม ในข้อ 1 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/10/58.html

             ( ผอ.อาจมีนโยบายไม่ให้สอบแก้ตัว เพราะ การสอบแก้ตัวถ้าผ่านก็ได้เกรดแค่ 1 ส่งผลให้เกรดเฉลี่ยต่ำ
                ซึ่งที่จริง นโยบายอย่างนี้ก็ไม่ถูกต้อง )


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย