วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2561

1.การใช้แพรแถบย่อเครื่องราชฯ, 2.ตกหล่น N-NET จะไม่มีสิทธิสอบ E-Exam ด้วย จะเกิดผลกระทบ, 3.คู่มือการออกเอกสารหลักฐาน กศ.ขั้นพื้นฐาน เป็นภาษาอังกฤษ เช่นประกาศนียบัตร, 4.ระเบียบที่แท้ ทุกคนมีสิทธิประดับแพรแถบย่อ แม้เพิ่งบรรจุใหม่, 5.เรื่องน่าสนใจของเครื่องราชฯ และการประดับแพรแถบย่อของผู้รับจ้างเหมาบริการ, 6.รองประธานฯประจำสนามสอบ เป็นใครได้บ้าง, 7.ปัญหาของ กศน.ขั้นพื้นฐาน กลับมาอีกแล้ว

สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้


         1. คืนวันที่ 28 ส.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  แฟนเขาเคยได้เครื่องราช บ.ช. แถบสีใช้แบบไหน ( ตามภาพประกอบโพสต์นี้ ) ใช่ที่เป็นช้างเผือกอันเดียว บนขวามือ ใช่หรือเปล่า

             ผมตอบว่า   อยากให้คุณเข้าใจหลักการ ( ถ้าเข้าใจหลักการก็จะรู้และประยุกต์ใช้ได้โดยไม่ต้องท่องจำ )
             ขอให้คุณอ่านหลักการต่อไปนี้ช้า ๆ ให้เข้าใจ แล้วบอกผมว่า ต้องใช้แบบไหน
             - การประดับเครื่องราชฯ ให้ประดับไม่เกิน 2 เหรียญสูงสุดที่ได้รับ ( ตระกูลละ 1 เหรียญ ) ถ้าเคยได้รับเหรียญตราเกิน 2 เหรียญ ต้องส่งคืนส่วนที่เกิน เหลือไว้ประดับเฉพาะ 2 เหรียญสูงสุด
             - เครื่องราชฯมี 2 ตระกูล คือตระกูลช้างเผือก เป็นรูปช้าง ใช้อักษรย่อว่า ช. กับตระกูลมงกุฎไทย เป็นรูปมงกฎ ใช้อักษรย่อว่า ม.
             - ส่วนเหรียญที่ระลึกต่าง ๆ จะไม่มีช้างไม่มีมงกุฎ ใครเกิดทันการออกเหรียญไหนก็ประดับเหรียญที่ระลึกนั้นได้หมด
             - การประดับเครื่องราชฯ+เหรียญที่ระลึก ให้ประดับเรียงลำดับโดยให้เครื่องราชฯชั้นสูงสุดอยู่มุมซ้ายบน ไม่เกิน 2 เหรียญ ตามด้วยเหรียญที่ระลึกจากเหรียญที่ออกล่าสุดเรียงไปทางขวา ถ้ามีมากก็ต่อแถวล่างลงไป
             - แพรแถบย่อ ก็จะเรียงตามการประดับเหรียญตราจริงเช่นเดียวกัน ( แพรแถบย่อใช้ประดับแทนเหรียญตราจริงกรณีแต่งเครื่องแบบสีกากีหรือเครื่องแบบปกติขาว )
             - แต่ละแผงของแพรแถบย่อ ประกอบด้วยหลายท่อนมาเรียงต่อกัน แต่ละท่อนจะแทนเครื่องราชฯหรือเหรียญที่ระลึก ท่อนละ 1 เหรียญ โดยสีและลายของแต่ละท่อน จะเหมือนกับสีและลายของสายเครื่องราชฯหรือสายเหรียญที่ระลึกนั้น ๆ ( สายของเหรียญตราเครื่องราชฯและสายของเหรียญที่ระลึก จะมีสีและลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ซ้ำกัน )
             - เครื่องราชฯ จ.ม. สูงกว่า บ.ช. และ บ.ช. สูงกว่า บ.ม. ถ้าใครเคยได้ทั้ง 3 เหรียญนี้ ก็ประดับแค่ 2 เหรียญคือ จ.ม. กับ บ.ช. โดยให้ จ.ม. อยู่มุมซ้ายบนสุด ต่อด้วย บ.ช.และเหรียญที่ระลึก
             - ถ้าใครเคยได้ จ.ม. อย่างเดียว ไม่เคยได้ บ.ช. ก็ให้ จ.ม.อยู่มุมซ้ายบนสุด แล้วต่อด้วยเหรียญที่ระลึกเลย
             - ถ้าใครเคยได้ทั้ง บ.ช. และ บ.ม. ยังไม่ได้ จ.ม. ก็ให้ บ.ช.อยู่มุมซ้ายบนสุด ต่อด้วย บ.ม.และเหรียญที่ระลึก,
                ถ้าใครเคยได้ บ.ช. อย่างเดียว ไม่เคยได้ บ.ม. ก็ให้ บ.ช.อยู่มุมซ้ายบนสุดแล้วต่อด้วยเหรียญที่ระลึกเลย

             ถ้าคุณเข้าใจหลักการนี้แล้ว คุณตอบผมหน่อยว่ากรณีของแฟนคุณ จะใช้แบบไหน
             ปรากฏว่า ผู้ถาม ตอบถูกว่า “ได้แต่ บ.ช.ไม่เคยได้ บ.ม.ให้ บ.ช.อยู่มุมซ้ายบนสุด ( ตามรูปด้านบนขวามือ )

         2. วันที่ 29 ส.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  นักเรียนที่จะจบตกหล่นในการส่งชื่อสอบ N-net เห็นน้องที่เข้าไปอบรมแจ้งว่า จะไม่มีสิทธิสอบ E-exam ด้วย ให้ลงสอบN-net ใหม่ในภาคเรียนหน้า มีทางที่จะแก้ไขได้มั้ย เชื่อว่าไม่ได้มีแค่ฉันแน่นอน ซึ่งผลกระทบก็จะเกิดขึ้นทั้งนักเรียนและครูอย่างลีกเลี่ยงไม่ได้

             ผมตอบว่า   การตกหล่นในการส่งชื่อเข้าสอบ N-NET เป็นความบกพร่องของบุคลากร คงมีไม่มาก
             ผมเคยโพสต์ประเด็นนี้แล้วว่า
             1)  กรณียังไม่เคยส่งชื่อเข้าสอบ N-NET ไปให้ สทศ. ก็ยังสามารถส่งชื่อเข้าสอบ N-NET ในภาคเรียนหน้าได้
                  ( ถ้าเป็นความบกพร่องของ นศ. อาจให้รอส่งชื่อเข้าสอบ N-NET ในภาคเรียนต่อไป แต่ถ้าเป็นความบกพร่องของบุคลากร และนักศึกษามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องจบการศึกษาในภาคเรียนนี้ ควรมีการลงโทษบุคลากร ถ้าเป็นความบกพร่องครั้งแรกอาจแค่ว่ากล่าวตักเตือน ถ้าบกพร่องครั้งที่ 2 ควรมากกว่าว่ากล่าวตักเตือน มิฉะนั้นจะไม่ตระหนักในการปฏิบัติงานต่อไป )
                  ถ้าจะขอสอบ E-Exam แทนในภาคเรียนนี้ ให้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติข้อ 3 ที่  https://www.dropbox.com/s/usui2v99ptao3kp/ManualE-Exam.pdf?dl=0  
                  ซึ่ง ต้องขออนุมัติต่อ สำนักงาน กศน. ก่อน โดย กศน.อำเภอ ทำเรื่องขอส่งรายชื่อเข้าสอบ E-Exam ไปยัง สนง.กศน.จังหวัด แล้ว สนง.กศน.จังหวัด ทำเรื่องขออนุมัติต่อไปยัง เลขาธิการ กศน.
                  จากนั้น สถานศึกษาลงทะเบียนขอสอบ E-Exam ภายในกำหนด ( ภาคเรียน 1/61 นี้เคยเห็นแจ้งกำหนดวันลงทะเบียนว่า 16-31 ส.ค.61 )

             2)  กรณีส่งชื่อเข้าสอบ N-NET แล้ว แต่ นศ.ขาดสอบเอง กรณีนี้ต้องขอเข้าสอบ E-Exam ในภาคเรียนหน้า ตามแนวปฏิบัติข้อ 2 ซึ่งก็ต้องขออนุมัติต่อสำนักงาน กศน.ก่อนเช่นกัน

         3. วันที่ 29 ส.ค.61 มีผู้ถามในกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า  ท่านใดเคยทำใบประกาศนีบัตรเป็นภาษาอังกฤษบ้าง ขอคำแนะนำหน่อย หรือถ้ามีตัวอย่างรบกวนช่วยส่งให้ดูหน่อย

             ปรากฏว่า  คุณธวนิต พรมมา นำไฟล์ คู่มือการออกเอกสารหลักฐาน กศ.ขั้นพื้นฐาน เป็นภาษาอังกฤษ เช่นประกาศนียบัตร มาโพสต์ให้
             ( ดาวน์โหลดได้ที่  https://www.dropbox.com/s/2h2qxecsl6z07nq/EnglishDocEd.pdf?dl=0 )

             เรื่องนี้  ผมเคยนำฟอร์มการออกประกาศนียบัตร กศ.ขั้นพื้นฐาน เป็นภาษาอังกฤษ มาเผยแพร่ในข้อ 21.5 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2013/10/blog-post_8783.html  ก็สแกนมาจากหน้า 40 กับหน้า 55 ของหนังสือเล่มที่คุณธวนิต พรมมา นำมาโพสต์นี่แหละ แต่ผมมีเฉพาะเล่มหนังสือจริง ไม่มีเป็นไฟล์ วันนี้คุณธวนิตนำไฟล์มาโพสต์ให้ ขอบคุณมาก

         4. มี 2-3 คน ถามผมตรงกัน ว่า “มีคนบอกว่าแต่งเครื่องแบบถ่ายรูป ใช้ไปรายงานตัวบรรจุครูผู้ช่วย ถ้าติดแพรแถบย่อจะผิด จริงหรือไม่”

             เรื่องนี้  ผู้ที่บอกอย่างนั้นคงไม่รู้ระเบียบที่แท้
             ระเบียบที่แท้คือ 1.ทุกคนมีสิทธิประดับ แพรแถบย่อเหรียญที่ระลึก และ 2.บางคนมีสิทธิประดับ แพรแถบย่อเครื่องราชฯ แม้บรรจุใหม่
             ( ผู้มีสิทธิประดับเหรียญตราเครื่องราชฯ+เหรียญที่ระลึก ก็มีสิทธิประดับแพรแถบย่อแทนเหรียญตราเครื่องราชฯ+เหรียญที่ระลึก ) ดังนี้
             1)  ข้าราชการและพนักงานราชการบรรจุใหม่ สามารถประดับแพรแถบย่อเหรียญที่ระลึกได้  ( แพรแถบย่อเหรียญที่ระลึก ก็ดูเหมือน ๆ กับแพรแถบย่อเครื่องราชฯ เพียงแต่แพรแถบย่อเหรียญที่ระลึกจะไม่มีช้างไม่มีมงกุฎ )
             ใครเกิดทันปีที่ออกเหรียญที่ระลึกใด ก็มีสิทธิ์ประดับเหรียญนั้นทุกคน  ประดับกี่เหรียญก็ได้ตามที่มีสิทธิ์ ขึ้นอยู่กับความพอใจและความสวยงาม เช่นเดียวกับแพรแถบย่อ สามารถสั่งทำโดยระบุได้ว่าต้องการแบบไหน ผู้ที่แผงอกไม่กว้าง การติดเหรียญเยอะ ๆ หรือแพรแถบย่อที่มากเกินไปก็ทำให้ดูเทอะทะ ไม่สวย
             2)  กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี บอกว่า  ผู้ที่เคยเป็นพนักงานราชการนานจนได้เครื่องราชฯแล้ว เมื่อลาออกมาเป็นข้าราชการ ไม่ต้องคืนเหรียญเครื่องราชฯ ประดับต่อไปได้  ( การลาออก การเกษียณ ไม่ต้องคืนเหรียญเครื่องราชฯ )
                  ถ้าไม่ใช่การเรียกคืนเพราะมีความผิด จะคืนเหรียญเครื่องราชฯที่ได้รับจัดสรร ( ไม่ได้จัดซื้อจัดหาเอง ) ใน 2 กรณี คือ กรณีได้เครื่องราชฯชั้นสูงขึ้นในตระกูลเดียวกัน คือตระกูลช้างเผือกหรือตระกูลมงกุฎไทย ให้คืนเหรียญชั้นรอง เก็บไว้ได้เพียง 2 เหรียญ ( ตระกูลละ 1 เหรียญ )
                  และ กรณีเสียชีวิต ( อาจนำไปประดับในพิธีศพ เสร็จแล้วญาติต้องส่งคืนหรือซื้อไว้ )
             ผู้ที่เคยเป็นพนักงานราชการนานจนได้เครื่องราชฯแล้ว เมื่อลาออกมาเป็นข้าราชการ ให้แจ้งฝ่ายทะเบียนประวัติของอำเภอ/จังหวัด/ส่วนกลาง ว่าเคยได้รับเครื่องราชฯใดแล้ว เพื่อไม่ขอให้ซ้ำอีก







         5. คืนวันเสาร์ที่ 1 ก.ย.61 มีผู้เขียนต่อท้ายโพสต์ผมในไทม์ไลน์เฟซบุ๊ก ว่า  เจ้าหน้าที่ กจ. เขาไม่ลง กพ.7 ให้ฉัน ฉันได้ บช. มา ตอนเป็นพนักงานราชการ เขาบอกว่า ข้าราชการจะขอชั้น3ขึ้นไป

             ผมตอบว่า   ก็ถูกครับ ( เพียงแต่จริง ๆ แล้วไม่ได้เรียกชั้น 3 โดยเครื่องราชฯนั้น ลำดับยิ่งสูง เลขชั้นยิ่งน้อย คือ ชั้น 1 สูงกว่าชั้น 2 )  พนักงานราชการกลุ่มงานบริหารทั่วไป จะเริ่มขอที่ บ.ช. แล้วต่อด้วย จ.ม., จ.ช., ต.ม. ตามลำดับ ส่วนข้าราชการครู จะเริ่มขอที่ จ.ม. ฉะนั้น ถ้าใครยังไม่ได้ จ.ม. เมื่อมาเป็นข้าราชการครูก็จะไม่มีโอกาสเผลอขอซ้ำอีก

             ลำดับชั้นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เรียงลำดับการขอพระราชทาน จากชั้นตราเริ่มต้นคือชั้นที่ 7 ลงไปจนถึงชั้นตราสูงสุด รวม 16 ชั้นตรา คือ
             ระดับชั้นต่ำกว่าสายสะพาย  ได้แก่
             - ชั้นที่ ๗ : เหรียญเงินมงกุฏไทย (ร.ง.ม.)
             - ชั้นที่ ๗ : เหรียญเงินช้างเผือก (ร.ง.ช.)
             - ชั้นที่ ๖ : เหรียญทองมงกุฏไทย (ร.ท.ม.)
             - ชั้นที่ ๖ : เหรียญทองช้างเผือก (ร.ท.ช.)
             - ชั้นที่ ๕ : เบญจมาภรณ์มงกุฏไทย (บ.ม.)
             - ชั้นที่ ๕ : เบญจมาภรณ์ช้างเผือก (บ.ช.)
             - ชั้นที่ ๔ : จัตุรถาภรณ์มงกุฏไทย (จ.ม.)
             - ชั้นที่ ๔ : จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)
             - ชั้นที่ ๓ : ตริตาภรณ์มงกุฏไทย (ต.ม.)
             - ชั้นที่ ๓ : ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)
             - ชั้นที่ ๒ : ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)
             - ชั้นที่ ๒ : ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)
             ระดับชั้นสายสะพาย  ได้แก่
             - ชั้นที่ ๑ : ประถมาภรณ์มงกุฏไทย (ป.ม.)
             - ชั้นที่ ๑ : ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
             - ชั้นสูงสุด : มหาวชิรมงกุฏไทย (ม.ว.ม.)
             - ชั้นสูงสุด : มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)





             ประชาชนทั่วไป พ่อค้าคหบดี ผู้รับจ้างเหมาบริการ ที่ไม่ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯก็ประดับเหรียญที่ระลึกได้ ใครเกิดทันวันที่ออกเหรียญที่ระลึกใด ก็มีสิทธิ์ประดับเหรียญนั้นทุกคน ( ถ้าเป็นแพรแถบย่อของเหรียญที่ระลึกล้วน ๆ จะไม่มีช้างไม่มีมงกุฎอยู่ในนั้น )
             แต่ ก็ต้องประดับให้ถูกกับ งาน และใส่ชุดให้ถูก เช่น ประดับร่วมงานพิธีวันปิยมหาราชใช้แพรแถบย่อ ส่วนงานพิธีวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระเจ้าอยู่หัวใช้เหรียญจริง
             ชุด ที่ประดับได้ของ ประชาชนทั่วไป พ่อค้าคหบดี ผู้รับจ้างเหมาบริการ
             - บุรุษ ประดับกับเครื่องแบบขอเฝ้า ( ชุดขาวราชประแตน เช่นเดียวกับชุดชาวข้าราชการทั่วไป แต่ที่ปกคอเสื้อใช้แผ่นทาบคอ กิ่งชัยพฤกษ์ประกอบด้วยใบข้างละ ๕ ใบ แทนเครื่องหมายส่วนราชการ และไม่มีอินทรธนูที่บ่า กระดุมเสื้อเป็นกระดุมเกลี้ยงสีทอง )
             - สตรี จะไม่มีเครื่องแบบขอเฝ้าที่เป็นชุดขาวเหมือนบุรุษ ให้ประดับกับ ชุดไทย คือชุดไทยจิตรลดา ไทยอมรินทร์ ไทยบรมพิมาน สีพื้น สวมถุงน่องไม่ให้เห็นผิวเนื้อเท้า

         6. เย็นวันที่ 4 ก.ย.61 มีผู้ถามผมในกลุ่มไลน์ ITw NFE เรื่องกรรมการดำเนินการสอบปลายภาค ว่า
             - รองประธานฯประจำสนามสอบ เป็นใครได้บ้าง
             - ระเบียบกรรมการคุมสอบยังใช้ตาม "คู่มือดำเนินการจัดสอบเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาฯ" หรือมีการปรับเปลี่ยนนอกเหนือจากนี้มั้ย

             ผมตอบว่า
             - รองประธานฯประจำสนามสอบ ให้แต่งตั้งตามที่เหมาะสม ไม่มีข้อกำหนดว่าเป็นใครได้บ้าง แต่อย่างน้อยต้องมีคุณสมบัติในการเป็นกรรมการกลาง ซึ่งผมเคยโพสต์ไป 3 ครั้งแล้วนะว่าใครเป็นกรรมการกลางได้ ใครเป็นกรรมการกำกับห้องสอบได้ )
             - ในส่วนที่ยังไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์ใหม่ ก็ยังใช้ระเบียบหลักเกณฑ์ตามคู่มือเดิมต่อไป
                โดยในเรื่องกรรมการดำเนินการสอบนี้ ผมก็เคยโพสต์ 3 ครั้งแล้วเช่นกันว่า ถึงแม้อัตราค่าคุมสอบและอื่น ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ยกเลิกหนังสือฉบับเก่าปี 36 แล้ว แต่เฉพาะในส่วนของ “จำนวนเจ้าหน้าที่และกรรมการดำเนินการสอบ” ยังไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์ใหม่ออกมา จึงยังอนุโลมใช้ตามหนังสือฉบับเก่า ( หนังสือกรมการศึกษานอกโรงเรียน ที่ ศธ 1106/5409 ลงวันที่ 16 ส.ค.36 )

         7. ช่วงนี้มีคำถามเกี่ยวกับ กศน.ขั้นพื้นฐาน มาก เช่น

             1)  วันที่ 5 ก.ย.61 มีผู้ถามผมในกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า นักศึกษา (วิธีเรียนพบกลุุ่ม) ถูกขังในสถานพินิจกลางเทอมที่ผ่านมา ตอนนี้สถานพินิจขอให้ กศน.อำเภอ ทำเรื่องขอฝากสอบปลายภาคสนามสอบสถานพินิจ กศน.อำเภอ ทำได้หรือไม่ เพราะไม่ได้ฝากเรียนตั้งแต่ต้นเทอม (ถูกขังมาประมาณ 2 เดือน) มีระเบียบกฎเกณฑ์อะไรหรือไม่ สถานพินิจ บอกใช้ข้อสอบของ กศน.อำเภอที่ตั้งของสถานพินิจ  กศน.จังหวัดบอกทำได้ เป็นหน้าที่ที่เราต้องส่งตัวไปเรียนที่นั้น แต่ฉันไม่เคยเห็นหนังสือสั่งการนี้
             2)  คืนวันเดียวกัน ( 5 ก.ย.) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า ถ้านักศึกษาในกลุ่่มมาสอบปลายภาคไม่ได้ จำเป็นไหมที่ครูต้องนำข้อสอบไปให้นักศึกษาสอบที่ต่างจังหวัด

             ผมตอบว่า
             1)  ที่ว่าสถานพินิจเขาจะใช้ข้อสอบของ กศน.อำเภอที่ตั้งของสถานพินิจนั้น วิชาที่เปิดในแต่ละอำเภอแต่ละเทอมไม่ตรงกัน โดยเฉพาะวิชาเลือกเสรียิ่งไม่ค่อยตรงกัน แม้แต่วิชาบังคับ+เลือกบังคับ ก็ไม่ใช่ว่าทุกอำเภอมีข้อสอบครบทั้ง 14+6 วิชาทั้ง 3 ระดับ
                  ถ้าสถานพินิจอยู่อำเภอเดียวกับสถานศึกษาเดิม ก็อาจอนุเคราะห์ยืดหยุ่น(ไม่มีระเบียบรองรับ)โดยนำข้อสอบของเราไปให้เขาสอบให้
                  การส่งตัว ทำได้ ก็คือการฝากเรียน แต่ต้องทำตั้งแต่ต้นเทอม
                  ถ้าเพิ่งเข้าสถานพินิจกลางเทอม ก็คงต้องรอต้นเทอมหน้า ส่วนเทอมนี้เวลาเรียนไม่ครบไม่มีสิทธิสอบ
                  หลังจากผมตอบไป ก็มีสมาชิกกลุ่มคนหนึ่ง ตอบเพิ่มว่า สำนักงาน กศน.จังหวัดมีข้อสอบสำรองนะ(ทุกวิชาที่สั่ง) ถ้าจะใช้จริง ๆ ควรใช้ข้อสอบสำรอง ดีกว่าจะแกะของอำเภอซึ่งเป็นชุดจริง เพราะก่อนสอบต้องให้นักศึกษา 2 คนตรวจความเรียบร้อยก่อนแกะซองในห้องสอบ
                  ผมตอบเพิ่มเติมว่า ข้อสอบสำรอง วิชาบังคับ+วิชาเลือกบังคับ+วิชาเลือกเสรี คงมีครบทุกวิชาที่เปิดในเทอมนั้นในจังหวัดนั้น ๆ ( กระดาษคำตอบใครจะเอาไปตรวจอย่างไร ฯลฯ )  แต่ถ้าคนละจังหวัด(สถานศึกษาเดิมกับสถานพินิจอยู่คนละจังหวัด) อาจจะไม่ครบ โดยเฉพาะวิชาเลือกเสรีแต่ละจังหวัดไม่ค่อยตรงกัน

             2)  ไม่จำเป็นต้องนำข้อสอบไปให้นักศึกษาสอบที่ต่างจังหวัด ไม่มีระเบียบรองรับ
                  ตอนรับลงทะเบียน ต้องบอกนักศึกษาว่า ถ้าสามารถเรียนและสอบที่อำเภอใด ก็ให้ไปลงทะเบียนเรียนที่อำเภอนั้น
             การเรียนแบบพบกลุ่ม ต้องมีเวลาพบกลุ่มและเวลาสอบที่สถานศึกษาที่ลงทะเบียนเรียน
             การฝากเรียน/ฝากสอบ ต้องทำตั้งแต่ต้นเทอม
             นักศึกษาทำงานอยู่ที่อำเภอใด ก็ฝากเรียน/ฝากสอบที่อำเภอนั้น นักศึกษาต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชาที่อำเภอที่รับฝากสอบ โดยอำเภอที่รับฝากสอบเป็นผู้นับนักศึกษาคนนั้นเป็นจำนวนนักศึกษาของเขาในเทอมนั้น และเป็นผู้ได้เงินอุดหนุนรายหัวของรายนั้นด้วย
             ไม่ใช่ว่า ให้ลงทะเบียนเรียนที่อำเภอตัวเอง เสร็จแล้วนักศึกษาไปทำงานที่อำเภออื่น ฝากสอบที่อำเภออื่น แต่ตัวเองได้นับเป็นจำนวนนักศึกษาของตัวเอง ได้เงินอุดหนุนรายหัว อย่างนี้ก็เป็นนักศึกษาผีประเภทหนึ่ง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย