วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2561

1.ความหมายของ เข็มเชิดชูเกียรติครู กศน., 2.ปีนี้จะให้พนักงานราชการย้ายข้ามจังหวัดไหม, 3.ควรสอบแบบอัตนัย, 4.MOU มากเกินไป, 5.คำถามที่แสดงความคิดของครู กศน.ทั่วไปและคนรุ่นใหม่ ที่คิดต่าง, 6.ผอ.กศน.อำเภอ ถามว่าคำสั่งตั้งกรรมการสอบปลายภาค อ้างระเบียบอันไหน, 7.ความสำเร็จของนักศึกษาคือ...


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. ความหมายของ เข็มเชิดชูเกียรติครู กศน.

             - พื้นหลัง สีฟ้า หมายถึง สง่าราศี ความภาคภูมิใจ
             - พื้นหลังธรรมจักร สีเหลือง หมายถึง ตั้งมั่นในคุณธรรม จริยธรรม
             - ปีกพื้นตัวหนังสือ สีขาว หมายถึง การเสียสละอย่างบริสุทธิ์
             รวม หมายถึง “ได้ปฏิบัติงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อย่างต่อเนื่อง ด้วยความวิริยะอุตสาหะ เสียสละอุทิศตน เพื่อส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ของประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี”
             ออกแบบโดย นางเสาวณี รักคง ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก ( วิทยาลัยในวัง )

         2. วันอาทิตย์ที่ 9 ก.ย.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ปีนี้จะมีหนังสือย้ายพนักงานราชการ ข้ามจังหวัดไหม

             ผมตอบว่า   คงไม่มี.. เพราะตามข้อ 4.1 ใน “แนวปฏิบัติของระบบพนักงานราชการ สังกัดสำนักงาน กศน.” ( ส่งตามหนังสือสำนักงาน กศน.ที่ ศธ 0210.118/6651 ลงวันที่ 12 ธ.ค.60 เรื่องซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติของระบบพนักงานราชการสังกัดสำนักงาน กศน.)  กำหนดว่า
             พนักงานราชการที่จะขอไปปฏิบัติงานราชการนอกพื้นที่ฯ จากจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่ง ให้ดำเนินการระหว่าง “การต่อสัญญาจ้าง + ตามข้อสั่งการของสำนักงาน กศน.เท่านั้น”
             คือ เมื่อถึงเวลาต่อสัญญจ้างพร้อมกันของพนักงานราชการ กศน.ทั่วประเทศ สำนักงาน กศน.จะมีหนังสือสั่งการมาให้ขอข้ามจังหวัดได้ จึงจะขอข้ามจังหวัดได้
             ซึ่งโดยปกติ จะต่อสัญญาจ้างพนักงานราชการ กศน.พร้อมกันทั่วประเทศ 4 ปีครั้ง ครั้งต่อไปคือ 1 ต.ค.63 ( ครั้งที่ผ่านมาต่อสัญญา 3 ปีนั้น ผิดปกติ )
             ในส่วนของผู้ที่บรรจุใหม่ครั้งแรกจะทำสัญญาไม่เกิน 1 ปีก่อน และไม่ข้ามวงรอบ หลังจากนั้นจะเข้าระบบเหมือนคนอื่นทั่วประเทศ คือครั้งต่อไปจะทำสัญญาตามวงรอบ โดยไม่ข้ามวงรอบของการจ้างพนักงานราชการ กศน.
             ( รอบละ 4 ปี คือ 1 ต.ค.2555-30 ก.ย.2559, 1 ต.ค.2559-30 ก.ย.2563, 1 ต.ค.2563-30 ก.ย.2567  ดูในข้อ 2 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2015/09/9.html )
             โดยการต่อสัญญาจ้างในช่วงก่อนเริ่มวงรอบของเพียงบางคนนี้ จะขอข้ามจังหวัดไม่ได้

             หลังจากที่ผมตอบไปแล้ว ผมได้เรียนถามท่าน ผอ.กจ.เพื่อความมั่นใจ ท่านบอกว่า ปกติจะมีหนังสือแจ้งให้ขอข้ามจังหวัดในช่วงปลายปีงบประมาณ 2563 ช่วงนี้ไม่มีหนังสือแจ้ง แต่ ถ้าใครมีกรณีความจำเป็นจริง ๆ ก็เสนอไปให้พิจารณาเฉพาะรายได้

         3. เช้าวันที่ 11 ก.ย.61 มีผู้ถามในกลุ่มไลน์ “แชร์เข้มกศน.” ว่า  ข้อสอบวิชาเลือกเสรี ต้องให้นักศึกษาสอบเขียนด้วยลายมือตัวเองมีท่านใดเหมือนกับจังหวัดนางไหม

             ผมร่วมตอบว่า  เป็นไปตาม “นโยบายที่ดี” ( เป็นนโยบายจากส่วนกลางแต่ก็ไม่ถึงกับบังคับ ) เพื่อฝึกการเขียน แก้ปัญหาที่คนยุคนี้มีปัญหาการคิดการเขียน
             ( การสอบแบบเลือกตอบ ยากที่จะวัดการคิดวิเคราะห์ได้จริง )
             เพียงแต่ การสอบแบบอัตนัยไม่เหมาะจะใช้กับการสอบปลายภาคที่มีผู้เข้าสอบจำนวนมาก เพราะจะตรวจไม่ทัน
             นโยบายนี้แนะนำว่า
             - การประเมินระหว่างภาค ถ้าสอบด้วยแบบทดสอบ ควรสอบแบบอัตนัย และ
             - วิชาเลือกเสรีตามโปรแกรมการเรียนรู้ อาจจัดสอนแบบโครงงานและประเมินโดยข้อสอบอัตนัยข้อเดียว
             ( แม้ว่า การเรียนการสอน กับ การวัดผล จะเป็นคนละส่วนกัน แต่ในความเป็นจริง เราไม่ค่อยมีเวลาพัฒนาระหว่างการเรียนการสอน และเมื่อการวัดผลเน้นที่การเลือกตอบเข้าไปอีก จึงเกิดเป็นปัญหาการคิดการเขียนของคนยุคนี้  แนวคิด “สอบเพื่อสอน” จึงมีขึ้นมา เช่น ข้อสอบให้ความรู้ด้วย ให้เจตคติที่ดีด้วย ตัวเลือกถูกจะต้องไม่ขัดแย้งกับคุณธรรม เป็นต้น การสอบที่เสริมการสอนไปด้วยจึงมีประโยชน์มากขึ้นถ้าทำได้ และอีกประการหนึ่งข้อสอบอัตนัยจะวัดการวิเคราะห์-สังเคราะห์-ประเมินค่า ได้ถูกต้องกว่า
                แต่การสอบโดยให้ฝึกเขียนนี้ ถ้าผู้สอบเขียนคำผิด แต่อ่านเข้าใจได้ว่าตอบถูก ก็จะหักคะแนนที่เขียนคำผิดไม่ได้ เพราะไม่ได้สอบวิชาการเขียนภาษาไทย )

         4. ตามที่ผมโพสต์ภาพเด่นในเฟซบุ๊กของผมปี 61 ไป ด้วยมีเรื่อง "ใครเป็นคนเหนื่อย.. การทำ MOU กับหน่วยงานอื่นจนมากเกินไป ครู กศน.สับสนว่าจุดยืนที่แท้จริงของ กศน.คืออะไร"
ปรากฏว่าเช้าวันที่ 12 ก.ย.61 มีผู้แสดงความคิดเห็นถึงผมในกลุ่มไลน์ “ภาคีเครือข่ายคนดี” ว่า

             “...เฉพาะการเตรียมการเรียนการสอนที่ดีมีคุณภาพ การประสานจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น หลักสูตรอาชีพ จัดหาวิทยากร วัสดุประกอบการจัดในแต่ละกิจกรรมการเรียนรู้แต่ละพันธกิจงาน ก็แทบจะไม่มีเวลากระดิกตัวไปไหนกัน แล้วยังต้องรับหน้าที่งานเพิ่มที่หน่วยงานต้นสังกัดไปทำบันทึกข้อตกลงทำงานร่วมกับอีกหลายหน่วยงานเครือข่าย ครู กศน.จึงทำงานจับฉ่ายแบบหัวไม่ได้วางหางไม่ได้เว้น บ่นกันระงมกับการทำงานไม่ทัน ทำเรื่องเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า(ระเบียบงานการเงินและพัสดุก็แสนจะยุ่งยากวุ่นวาย) รายงานผลกิจกรรมล่าช้า เกิดความสับสนบทบาทหน้าที่และตั้งคำถาม
             แต่ต้นสังกัดซึ่งเป็นต้นเหตุไปหาภารกิจรองมาทับซ้อนภารกิจหลักมากมายจน แยกแยะแทบไม่ออกว่าอะไรสำคัญกว่ากัน ก็มองบุคลากรตัวเองทำงานเจียนตายตาปริบ ๆ ไม่แก้ไขอะไรให้เขา
             ฉันเองก็อยากถามว่า ถ้าท่านให้ความสำคัญกับครู กศน.ในพื้นที่ว่าเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนงาน เป็นรูปธรรมความสำเร็จของงาน และเรียกร้องงานเชิงคุณภาพ ก็ควรรับฟังปัญหาข้อเรียกร้องและให้การดูแลแก้ไข ..ทบทวนหรือยกเลิกบันทึกข้อตกลงการทำงานกับเครือข่ายลงไปบ้างไม่ได้หรือ ?”

             ผมตอบว่า
             1)  บางเรื่องก็เข้าใจผู้บริหารระดับสูงของเรา เพราะเป็นนโยบายมาจากระดับรัฐบาล/กระทรวง ยากที่ผู้บริหารระดับสูงของเราจะกล้าปฏิเสธ ( บอกว่า ทุกเรื่องในประเทศไทย เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ กศน.เราทั้งนั้นแหละ )

             2)  เห็นใจครับ  ผมเคยทำงานระดับอำเภอจนเกษียณแล้ว ใกล้ชิดครู กศน. ย่อมเข้าใจมากกว่าผู้ที่ทำงานระดับจังหวัดและส่วนกลาง
                  งานของเราเองก็มีหลายเรื่อง แต่ละกอง/กลุ่มงานในส่วนกลางที่ดูแลแต่ละเรื่องก็ให้ความสำคัญกับงานที่ตนดูแล ติดตามทวงถามทุกเรื่อง คิดว่าครู กศน.ทำเรื่องที่เขาดูแลเป็นหลัก
                  การสั่งการและติดตามทวงถาม ง่ายกว่าการทำ
             ( ไม่แน่ใจว่า คนส่วนกลางคิดจริงว่า ครู กศน.ในพื้นที่เป็นหัวใจในการขับเคลื่อนงาน หรือคิดว่าตนเป็นนาย มีบทบาทในการสั่งการและติดตามทวงถาม )

         5. คืนวันที่ 13 ก.ย.61 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า
             “เรื่องตารางสอบปลายภาค สามารถปรับตาราง(เวลา)สอบให้เหมาะสมกับกับสนามสอบได้ไหม จังหวัดฉันให้กศน.ตำบลจัดสนามสอบเอง แต่ทางอำเภอไม่ให้ปรับตารางสอบ ให้ยึดตามตารางสอบอย่างเคร่งครัด(ว่าตารางสอบเหมือนกันทั้งประทศ) กศน.ตำบลไม่มีอำนาจปรับเปลี่ยนตารางสอบเอง ถือว่ามีความผิด
             ทำให้เกิดเวลาว่างนักศึกษารอสอบ คนคุมสอบก็ว่าง รอสอบตามตาราง เกิดเสียงบ่นอื้ออึง เรารับส่งข้อสอบเป็นรายวันต่อวัน และมีพนักงานราชการจากจังหวัดมาตรวจสนามสอบ(มาแบบไม้บรรทัด) บางครั้งมาถึงในช่วงว่างสอบก็ไม่รู้จะดูอะไร ขอคำชี้แนะด้วย ปัญหานี้เป็นทุกเทอม”

             ผมตอบว่า   ที่ กศน.อำเภอ บอกนั้น ถูกต้องแล้ว เรื่องนี้ผมเคยอธิบายเหตุผล แต่คน กศน.ก็ยังเห็นต่าง
             ข้อสอบที่เหมือนกัน ให้สอบพร้อมกัน เพื่อป้องกันข้อสอบรั่ว ยิ่งสมัยนี้การสื่อสารทางโทรศัพท์มือถือ ทางอินเทอร์เน็ต ทางไลน์ ฯลฯ สามารถกระจายไปทั่วประเทศได้ใน 1 นาที  ผู้เข้าสอบอาจมีญาติหรือเพื่อนที่ติดต่อสื่อสารกันและเรียน กศน.ด้วยกัน ถ้ารู้ล่วงหน้าว่าสอบวิชาเดียวกันแต่สอบไม่พร้อมกัน ก็จะเตรียมการบอกข้อสอบกัน
             ครู กศน.ก็บอกว่าผม เว่อร์ ไม่มีจริงหรอก
             ผมบอกว่า แต่โอกาสมันเป็นไปได้ แม้ทั้งอำเภอจะมีกรณีอย่างนี้เพียง 1-2 ราย ก็ปล่อยให้เกิดขึ้นไม่ได้ ข้อสอบรั่วเป็นเรื่องใหญ่ ยิ่งถ้าเป็นการสอบบรรจุเข้าทำงาน เรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่โตมาก ถ้ารู้ว่าที่ไหนสอบไม่ตรงตาราง แม้ยังไม่รู้ว่าข้อสอบรั่วหรือไม่ ที่นั่นก็ต้องถูกลงโทษออกจากราชการแน่นอน
             ครู กศน.ก็บอกว่า ก็นี่ไม่ใช่สอบบรรจุ คนคุมสอบ กศน.ก็บอกคำตอบในห้องสอบกันบ้าง ไม่งั้นก็ตกกันหมด ข้อสอบหลายข้อครูเองยังทำไม่ได้
             อธิบายอย่างไร ความเห็นก็ยังต่างเหมือนเดิม
             ( การกระจายสนามสอบเป็นสนามย่อย ๆ ต้องระมัดระวัง
                ช่วงเวลาที่ว่าง สามารถใช้สอบวิชาเลือกเสรีได้
                ถ้าผู้นิเทศมาถึงในช่วงว่าง ก็สามารรถดูสภาพทั่วไปทั้งบริเวณภายนอกภายในห้องสอบ ป้ายนิเทศต่าง ๆ การจัดโต๊ะสอบ สภาพซองข้อสอบก่อนและหลังสอบ หรือสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง ฯลฯ )  ถ้าผู้นิเทศมาถึงตามตาราง แต่เรารวบสอบเสร็จกลับบ้านกันไปก่อนแล้วผู้นิเทศจะดูอะไร
             ถ้าจะสอบวิชาบังคับไม่ตรงตาราง ต้องขอความเห็นชอบส่วนกลาง เช่น กรณีหน่วยทหารที่ต้องออกพื้นที่ในช่วงเวลาสอบ ส่วนกลางจะจัดข้อสอบสำรองให้  หรือมีปีหนึ่งน้ำท่วมใหญ่ส่วนกลางก็ให้บางจังหวัดเลื่อนสอบ โดยเลื่อนไปสอบสัปดาห์ถัดไปพร้อมกันทั้งจังหวัด


         6. วันที่ 13 ก.ย.61 มี ผอ.กศน.อำเภอ ถามผมทางไลน์ ว่า  ระเบียบการวัดผลและประเมินผลการเรียนที่ออกโดยสำนักงาน กศน.ที่จะต้องใช้อ้างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบปลายภาคคืออันไหน

             ผมตอบว่า   ให้อ้างระเบียบการวัดและประเมินผลการเรียนของสถานศึกษา  ซึ่งตามคู่มือการดำเนินงานฯ ปกสีเลือดหมู หน้า 36 ข้อ 1 ( 1.1 ) ระบุใหเสถานศึกษาออกระเบียบนี้ไว้
             ถ้าไม่ได้ออกไว้ ก็อาจจะอ้างว่า "อาศัยอำนาจการบริหารการวัดและประเมินผล ข้อ 1.3 ตามประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการเรื่องคู่มือการดำเนินงานหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551"
             ( ข้อ 1.3 ก็อยู่ในหน้า 36 เช่นกัน )  หรือจะไม่อ้างเลยก็ได้ การออกคำสั่งที่เป็นบทบาทหน้าที่โดยตรงของ ผอ. ไม่ไช่อำนาจของตนสังกัด ไม่จำเป็นต้องอ้างอะไร
             ( ประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงนี้ อยู่ในหน้าแรกของคู่มือการดำเนินงานฯ โดยถือว่าคู่มือการดำเนินงานทั้งเล่ม เป็นส่วนหนึ่งของประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงนี้ ใช้อ้างอิงได้ทั้งเล่ม )
             สมัยก่อน ตอนยังไม่มี กศน.อำเภอ โดยจังหวัดจัดสอบปลายภาคเอง กรณีตั้งบุคลากรต่างสังกัดเป็นกรรมการ เคยมีหนังสือแจ้งให้ ผวจ.เป็นผู้แต่งตั้ง แต่หนังสือฉบับนั้นยกเลิกไปแล้ว
             ท่าน ผอ.กจ.กศน.ท่านปัจจุบัน เคยบอกผมตั้งแต่ท่านยังเป็นหัวหน้านิติกร ว่า การแต่งตั้งกรรมการสอบปลายภาค เป็นบทบาทหน้าที่โดยตรงของผู้บริหารสถานศึกษา ไม่ใช่อำนาจของต้นสังกัด

         7. เห็นข้อความของคน กศน.พิบูลย์มังสาหาร แล้ว สนใจ ใคร่รู้

             เช้าวันที่ 17 ก.ย.61 ผมเห็นข้อความที่คน กศน.อ.พิบูลย์มังสาหาร อุบลฯ 2 ท่าน โพสต์ในเฟซบุ๊ก คือ
             - Chakhrit Phongarm โพสต์ว่า  “ความสำเร็จของการศึกษา คือ การมีคุณธรรม และความรับผิดชอบของนักศึกษา”
             - เฉลิมพล อ่อนละออ (Chalermpol Onlaor) โพสต์ว่า
                “คุณธรรมที่คาดหวังคือให้น้องนักศึกษามีวินัยต่อตนเอง วินัยต่อสถานศึกษา ซึ่งเป็นคุณธรรมพื้นฐานในการดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข การเข้าสอบวัดผลสัมฤทธิ์ปลายภาคเป็นอีกหน้าที่ที่น้องนักศึกษาต้องมีความรับผิดชอบ ทุกคนได้แสดงให้เห็นภาคเรียนแล้วภาคเรียนเล่า ปีแล้วปีเล่า ว่า นักศึกษา กศน.พิบูลมังสาหาร มีวินัยต่อตนเอง โดย เข้าสอบสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของจังหวัดอุบลราชธานีติดต่อกันมานาน”

             ผมสนใจที่..  เราบอกว่า นศ.กศน. ย่อม “เก่ง” วิชาการ สู้นักเรียนในระบบไม่ได้.. แล้วเรื่อง คุณธรรม วินัย ความรับผิดชอบ ล่ะ
             ถ้า นศ.กศน.มี คุณธรรม วินัย ความรับผิด ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว มีพื้นฐานในการดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขแล้ว ภาคภูมิใจกันได้แล้ว

             ส่วนประเด็นที่ผมอยากรู้คือ มีวิธการอย่างไรที่ทำให้ นักศึกษา กศน.พิบูลมังสาหาร มีวินัยต่อตนเอง โดย เข้าสอบสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของจังหวัดอุบลราชธานี ภาคเรียนแล้วภาคเรียนเล่า ปีแล้วปีเล่า
             ( ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา อำเภอที่ นศ.เข้าสอบสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของจังหวัด ติดต่อกันมานาน คือ กศน.อ.ลาดบัวหลวง )
             ผมไม่ค่อยอยากให้ความสำคัญกับร้อยละของผู้เข้าสอบนี้ เพราะ คำนวณร้อยละจากจำนวนผู้มีสิทธิสอบ ไม่ได้คำนวณร้อยละจากจำนวนผู้ลงทะเบียนเรียนซึ่งได้รับเงินอุดหนุนรายหัวทั้งหมด บางแห่งจึงมีวิธีการที่ไม่ถูกต้อง การเผยแพร่เรื่องนี้อาจทำให้รู้และใช้วิธีการที่ไม่ดีกันมากขึ้น
             ผมอยากรู้วิธีการ ที่ดี ที่ทำให้ร้อยละของ นศ.เข้าสอบสูงสุดของจังหวัดติดต่อกันมานาน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย